นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าภาพรวมการเปิดบริการรถไฟฟ้า ว่า หลังจากได้มีการเปิดให้บริการเพิ่มเติมอีก 2 สาย ได้แก่ รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม (บางซื่อ-รังสิต) และสายสีแดงอ่อน (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) ซึ่งเปิดอย่างเป็นทางการไปเมื่อปลายเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา ณ ตอนนี้ มีรถไฟฟ้าที่เปิดบริการแล้วทั้งหมด 11 สาย รวมระยะทาง 211.94  กิโลเมตร จำนวน 137 สถานี นอกจากนี้ ยังมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.50 กม. วงเงินลงทุน 50,970.63 ล้านบาท ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง โดยภาพรวมก่อสร้างไปแล้ว 81.94% คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2565

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี ได้ผลักดันให้การลงทุนและการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบรางของประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยมีโครงการด้านการโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 14 สายทาง ระยะทาง 547.65 กม. อยู่ระหว่างก่อสร้าง 5 โครงการ (112.20 กม.) อยู่ระหว่างประกวดราคา 2 โครงการ (37 กม.) อยู่ระหว่างดำเนินการ PPP อีก 6 โครงการ (93.59 กม.) และอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมโครงการ 10 โครงการ (98.68 กม.)

นายธนกร กล่าวว่า นอกจากนี้ รัฐบาลยังเดินหน้าพัฒนาระบบรางในภูมิภาครวม 6 จังหวัด (81.55 กม.) อาทิ โครงการระบบขนส่งสาธารณะ จ .เชียงใหม่ สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี, โครงการระบบขนส่งสาธารณะ จ.ภูเก็ต ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง, โครงการระบบขนส่งสาธารณะ จ.นครราชสีมา สายสีเขียว ช่วงตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์, โครงการระบบขนส่งสาธารณะ จ.พิษณุโลก สายสีแดง ช่วงมหาวิทยาลัยพิษณุโลก-ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพิษณุโลก, โครงการระบบขนส่งสาธารณะ หาดใหญ่ จ.สงขลา (Monorail) ช่วงคลองหวะ-สถานีรถตู้, โครงการระบบขนส่งสาธารณะ จ.ขอนแก่น (Light Rail Transit : LRT)  สายสีแดง ช่วงสำราญ-ท่าพระ โดยส่วนใหญ่อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมและออกแบบการก่อสร้าง

ส่วนของโครงการรถไฟความเร็วสูง อยู่ระหว่างก่อสร้าง จำนวน 2 โครงการ 473 กม. วงเงินลงทุนรวม 403,957.36 ล้านบาท ได้แก่ กรุงเทพฯ -นครราชสีมา (253 กม.) และรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (220 กม.) อยู่ระหว่างเตรียมขออนุมัติโครงการ (2565) จำนวน 1 โครงการ คือ นครราชสีมา-หนองคาย 355 กม. วงเงินลงทุน 252,347.59 ล้านบาท

“การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบคมนาคมขนส่งของไทย 7 ปีที่ผ่านมา คือปี 2557- 2563 รัฐบาลได้มีการลงทุนในระบบรางรวม 1,508,648 ล้านบาท โดยนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้เร่งรัดให้ดำเนินการตามแผนงาน ขณะเดียวกันให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายโครงการใหม่ ๆ เพิ่มเติมให้เกิดการเชื่อมต่อทางคมนาคมขนส่งที่ไร้รอยต่อ เพื่อยกระดับให้ไทยเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อคมนาคมขนส่งทั้งในประเทศและในภูมิภาค ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”