เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. น.ส.ศศิภาตา ผาตีบ ผู้สำรวจและนักวิจัย สมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการสุ่มสำรวจฉลากโภชนาการในกลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูปและเครื่องปรุงรส ปี 2564 ระหว่างเดือน พ.ค. – พ.ย.2564 โดยสุ่มตัวอย่างอาหารกึ่งสำเร็จรูป 300 ตัวอย่าง เครื่องปรุงรส 100 ตัวอย่าง ผลพบว่ากลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูปประเภท ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ บะหมี่ เส้นหมี่ และวุ้นเส้น มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 220 – 7,200 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ส่วนประเภท โจ๊ก ข้าวต้ม มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 0 – 1,420 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค และประเภทซุป มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 170 – 810 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค

ส่วนปริมาณโซเดียมในฉลากโภชนาการกลุ่มเครื่องปรุงรส 100 ตัวอย่าง พบว่าประเภท ซอส ซีอิ้ว น้ำมันหอย น้ำปลา มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 130-2,560 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค (ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ) ประเภทน้ำปรุงรส พริกแกง กะปิ  มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 210-1,490 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค (ประมาณ 2 ช้อนชา) ประเภทผงปรุงรส มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 430-1,910 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค (ประมาณ 1 ช้อนชา) และประเภทเนย ชีส  มีปริมาณโซเดียมตั้งแต่ 45-280 มิลลิกรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค (ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ)

ด้าน รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า ปัจจุบันสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก คือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เกิดจากพฤติกรรมการกินอาหาร และการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่การเจริญเติบโตไม่เต็มที่ มีขนาดอวัยวะที่เล็กกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะไตและหัวใจที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงหากเด็กได้รับโซเดียมเกินความต้องการติดต่อกันเป็นเวลานาน เสี่ยงติดรสเค็มไปจนโต ซึ่งพบว่าเด็กกินโซเดียมเฉลี่ยอยู่ที่ 3,194 มิลลิกรัม (มก.) /วัน ผู้ใหญ่ เฉลี่ยที่ 3,636 มก./วัน แต่ในขณะปริมาณที่ควรกินในเด็กอายุ 6-15 ปี ไม่เกิน 1,500 มก./วัน ผู้ใหญ่ไม่เกินและ 2,000 มก./วัน

“หากมีการผลักดันการเก็บภาษีโซเดียมได้สำเร็จทางผู้ผลิตสามารถปรับสูตรลดเกลือโซเดียม และเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางเลือกโซเดียมต่ำออกสู่ตลาดมากขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์ทั้งทางผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งในบางประเทศ เช่น ฮังการี อาหารที่มีเกลือโซเดียมไม่เกินเพดานที่กำหนด จะได้รับการยกเว้นเสียภาษี ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ร่วมกัน ผู้บริโภคก็ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรค NCDs ซึ่งเมื่อลดการเจ็บป่วยได้ ประเทศก็สามารถช่วยชาติประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาได้อีกด้วย” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว

นายธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ การการะบาดของโรคโควิด-19 ทำให้อาการกึ่งสำเร็จรูปได้รับความนิยม แต่ต้องระวังเพราะมีโซเดียมสูง ซึ่งจากผลสำรวจดังกล่าวทำให้เห็นข้อมูลและนำมาสู่ข้อเสนอคือ ผู้บริโภคต้องอ่านฉลากโภชนาการก่อนซื้อ และขอให้ผู้ประกอบการลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร จัดทำฉลากโภชนาการให้ชัดเจน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรแก้กฎหมายหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร สนับสนุนให้เกิดมาตรการของรัฐเกี่ยวกับการเก็บภาษีโซเดียม เน้นสร้างแรงจูงใจในการปรับสูตรอาหาร ขอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาผลักดันฉลากสีสัญญาณไฟจราจร และให้กระทรวงศึกษาธิการบรรจุหลักสูตรการอ่านฉลากให้กับเด็กตั้งแต่ระดับปฐมศึกษา.