นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ทบทวนกฎหมายโรงงาน ให้เพิ่มโทษจำคุกพวกลักลอบทิ้งกากของเสียและแอบลักลอบปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำลำคลองสาธารณะ เนื่องจากเดิมมีเพียงบทลงโทษปรับเท่านั้น ส่งผลให้ผู้กระทำความผิดกล้าที่จะเสี่ยงลักลอบ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก ทั้งต่อคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมทั่วบริเวณที่มีการลักลอบทิ้ง

นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรอ.ได้เร่งปรับปรุงกฎหมาย พระราชบัญญัติโรงงาน โดยเพิ่มโทษผู้กระทำความผิดการลักลอบทิ้งกากของเสียและการปล่อยน้ำเสียโดยไม่ผ่านการบำบัด จากเดิมมีบทลงโทษเฉพาะโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท จะเพิ่มโทษเป็นจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ คาดว่า มีผลบังคับใช้ปีหน้า หลังจากผ่านขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และขั้นตอนทางกฎหมาย  

“กฎหมายปัจจุบัน กำหนดโทษปรับสถานเดียวไม่เกิน 200,000 บาท ส่งผลให้ผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัวกฎหมาย ประกอบกับโทษปรับมีอายุความในการดำเนินคดีเพียง 1 ปี กว่าจะมีการพิสูจน์หรือหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษบางครั้งก็ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากขาดอายุความ แต่ต่อไปการเพิ่มโทษจำคุก จะทำให้อายุความในการดำเนินคดียาวนานถึง 5 ปี เพียงพอหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ อีกทั้งยังเป็นการป้องปราม ไม่ให้เกิดการกระทำดังกล่าวขึ้นอีก”

อย่างไรก็ตามระหว่างที่การแก้ไขกฎหมายบทลงโทษจำคุก ยังไม่มีผลบังคับใช้นั้น กรอ.จะลงโทษผู้กระทำผิด โดยการเปรียบเทียบปรับในอัตราสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด และจะหามาตรการมากำกับควบคุมการขนกากออกนอกโรงงานอย่างเข้มงวดมากขึ้น เช่น การบังคับให้รถขนกากต้องเชื่อมต่อระบบจีพีเอสของตัวรถเข้ากับระบบติดตามรถขนกากของเสียอุตสาหกรรมของกรมโรงงานอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ให้โรงงานที่ทำหน้าที่รับบำบัดและโรงงานที่ขนกากออกจำนวนมาก ๆ ต่อครั้งส่งรายการการขนออกและรับเข้าโดยละเอียดย้อนหลัง 1 ปี หากพบรายใดตัวเลขการขนออกและการรับเข้าไม่สัมพันธ์กัน จะให้รายงานชี้แจงภายใน 15 วัน ถ้าไม่สามารถชี้แจงได้จะถูกสั่งดำเนินคดี และจะถูกสั่งให้ปรับปรุงขบวนการขนกากออกและรับกากเข้าให้ถูกต้องเรียบร้อย หากไม่สามารถทำได้จะถูกสั่งให้หยุดและปิดระบบ เพื่อมิให้มีการขนกากออกและมิให้มีการรับไปบำบัดอีกต่อไป กรอ.ให้ความสำคัญในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องการลักลอบทิ้งกากของเสียและการปล่อยน้ำเสียโดยไม่ผ่านการบำบัดถือเป็นความผิดที่ร้ายแรง