เมื่อวันที่ 10 ม.ค. มีแถลงข่าวผ่านออนไลน์ นวนิยายชนะเลิศรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2564 โดยคณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือกหนังสือนวนิยายที่ส่งประกวด 60 เรื่อง มีมติให้นวนิยายเรื่อง เดฟั่น ของ ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ ชนะเลิศการประกวด

นายพิบูลศักดิ์ ละครพล คณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2564 กล่าวว่า นวนิยายเรื่อง เดฟั่น ของ ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ เป็นงานที่คล้ายงานศิลปะอิมเพรสชั่น ที่ทำให้งานโดดเด่นทางภาษาสวยงามกระชับ ลำดับเรื่องรวดเร็ว สามารถอ่านได้รวดเดียวจบ เกิดการจูงใจผู้อ่าน มีการใช้ข้อมูลในการเล่าเรื่องที่ดี โดยจะไม่สามารถแยกตอนใดออกจากกันได้ ที่เด่นมากคือ บรรยากาศของเรื่อง รวมถึงกลวิธีการเขียนคล้ายละคร มีการตัดไปมา สะท้อนความหม่นมัวของประวัติศาสตร์ที่เล่าความจริงไม่ได้ ขณะเดียวกันตัวละครหลักก็ใช้การเล่าเรื่องให้มีความหลงลืมทางความคิด สะท้อนถึงประวัติศาสตร์ความจริงที่ต้องเล่าด้วยความจริงลวง จึงถือว่าเหมาะสมอย่างมากที่จะได้รางวัลในครั้งนี้

น.ส.เสาวณิต จุลวงศ์ ประธานคณะกรรมการรอบคัดเลือก กล่าวว่า นวนิยายเรื่องนี้ มีความลงตัวในการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ สะท้อนความเป็นจริง ที่คนในสังคมแทบจะจำไม่ได้ โดยอาศัยเรื่องราวสังคมและวัฒนธรรมของชาติ เรื่องนี้ทำให้เห็นว่า อำนาจความไม่เป็นธรรมแผ่ไปทุกพื้นที่ในท้องถิ่น แต่ถูกกลบฝังตามกาลเวลา แต่เราต่างอยู่ในประวัติศาสตร์นั้นร่วมกัน

นายธเนศ เวศร์ภาดา คณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2564 เล่าว่า กลวิธีการเขียนใช้ตำนานท้องถิ่นทางภาคใต้ให้สอดคล้องกับประเพณีทางสังคม ซึ่งจากวีรบุรุษกลายเป็นผู้แพ้ จากยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ยังเล่าเรื่องอย่างมีชั้นเชิงลีลากึ่งจริงกึ่งฝัน ตัวละครเอกยังสูญเสียความทรงจำ ด้วยถูกกระทำจากภาครัฐ และเดินเรื่องอย่างฉับไว เป็นเสมือนห้วงคำนึงของตัวละคร ที่ผู้อ่านสามารถต่อเติมจินตนาการได้

นายสกุล บุณยทัต นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2564 กล่าวว่า นวนิยายเรื่องนี้งดงามด้วยภาษาสำนึก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นถูกกลืนอยู่ตลอดเวลา แต่เรื่องนี้ได้นำมาเสนอให้เห็นถึงหัวใจของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของภาคใต้นี่จึงเป็นนวนิยายที่ดีที่สุด และสะท้อนให้คนในสังคมได้พินิจพิจารณาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอีกครั้ง