นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า ตามที่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้ ส.ป.ก. ร่วมกับกรมปศุสัตว์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมชลประทาน และจังหวัดสระแก้ว จัดทำโครงการ “โคบาลบูรพา” เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูเกษตรกรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง โดยปรับเปลี่ยนการปลูกพืชในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมไปเลี้ยงปศุสัตว์ โดยส่งเสริมอาชีพปศุสัตว์ให้เกษตรกรในพื้นที่ ส.ป.ก. ที่ยึดคืนตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 36/2559 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2559

ซึ่งในการดำเนินโครงการดังกล่าว มีระยะเวลา 6 ปี (พ.ศ.2560 – 2565) ประกอบด้วย 4 กิจกรรมหลัก คือ 1.ส่งเสริมการเลี้ยงแม่โคเนื้อผลิตลูก โดยอุดหนุนแม่โคเนื้อให้เกษตรกร 6,000 ราย รายละ 5 ตัว รวมแม่โคเนื้อ 30,000 ตัว 2.ส่งเสริมอาชีพเลี้ยงแพะ เพื่อส่งเสริมอาชีพทางเลือกให้เกษตรกรในพื้นที่แล้ง 3.ส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์ สำหรับเกษตรกรผู้ได้รับการส่งเสริมให้เลี้ยงโคเนื้อและแพะ 4. ส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่/จัดตั้งสหกรณ์ “โคบาลบูรพา” เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่

สำหรับพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดสระแก้ว ที่ ส.ป.ก.ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงแม่โคเนื้อผลิตลูกตามนโยบายของกระทรวงฯ ได้แก่ สหกรณ์ปฏิรูปที่ดินอำเภอโคกสูง (คทช.) จำกัด มีจำนวนสมาชิก 115 ราย สหกรณ์ปฏิรูปที่ดินอำเภออรัญประเทศ (คทช.) จำกัด มีจำนวนสมาชิก 60 ราย และสหกรณ์ปฏิรูปที่ดินอำเภอวัฒนานคร (คทช.) จำกัด มีจำนวนสมาชิก 90 ราย โดยสมาชิกทั้ง 3 สหกรณ์ ส่วนใหญ่จะเลี้ยงโคเนื้อ รายละ 5 ตัว ตามโครงการโคบาลบูรพาเป็นหลัก และทำการเกษตรแบบผสมผสานควบคู่ไปด้วย แล้วแต่สภาพพื้นที่ของแต่ละสหกรณ์

สหกรณ์ปฏิรูปที่ดินอำเภอโคกสูง (คทช.) จำกัด ซึ่งมีสมาชิก 115 ราย  3 ชุมชน 5 แปลง เนื้อที่ 3,018 ไร่ แบ่งพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินออกเป็น แปลงเกษตรกรรม 582.92 ไร่ แปลงที่อยู่อาศัย 118.92 ไร่ พื้นที่แปลงรวม 203.71 ไร่ พื้นที่ส่วนกลาง 39.87 ไร่ และพื้นที่สาธารณูปโภค 479.39 ไร่ โดยในแต่ละแปลงนอกจากเลี้ยงโคเนื้อรายละ 5 ตัว ยังมีการเลี้ยงแพะ เลี้ยงจิ้งหรีด เลี้ยงไก่ไข่ ไก่พื้นบ้าน เป็ดเทศ เลี้ยงปลาดุก ปลานิล ปลาตะเพียน ปลาทับทิมในกระชัง ปลูกหญ้าเนเปียร์ เพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ ปลูกมันสำปะหลัง ปลูกข้าวโพด และยังใช้พื้นที่ในแปลงที่อยู่อาศัย ปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง เมื่อเหลือก็นำไปจำหน่ายทำให้มีเงินหมุนเวียนรายวัน เช่น พริก มะเขือ ตะไคร้ แตงกวา ถั่วฝักยาว ชะอม มะเขือเทศ  เพาะเห็ดฟางและเห็ดนางฟ้า เป็นต้น

น.ส.อมร ศรีวิจารณ์ ประธานสหกรณ์ปฏิรูปที่ดินอำเภอโคกสูง (คทช.) จำกัด กล่าวว่า  ตั้งแต่เข้าร่วมโครงการโคบาลบูรพา ขายโคไปแล้วประมาณ 8 รอบ ส่วนใหญ่จะขายโคตัวผู้ แต่ละรอบก็จะเลี้ยงโคให้ได้น้ำหนักอยู่ที่ 80-100 กก./ตัว ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด งวดแรกที่ขายโคได้ราคาตัวละ 25,000 บาท ตอนนั้นดีใจมาก ถือเป็นเงินงวดแรกที่ได้เป็นก้อน ซึ่งก่อนขายก็จะมีเจ้าหน้าที่มาตรวจโรค ตรวจความสมบูรณ์ของโคก่อน เราก็เลี้ยงและดูแลโคเป็นอย่างดี ให้กินหญ้าเนเปียร์บ้าง ข้าวโพดบ้าง อาหารสัตว์บ้าง หรือหญ้าจากธรรมชาติบ้าง สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนไป และในแปลงนอกจากเลี้ยงโคเนื้อเป็นหลักแล้ว ช่วงรอเวลาขายโค ก็ปลูกผักระยะสั้น เพื่อจะได้มีรายได้หมุนเวียน ทำตามคำแนะนำของ ส.ป.ก. ที่เข้ามาส่งเสริมและสนับสนุนทุกอย่าง ส่งเสริมความรู้ ทั้งการแปรรูปสินค้า แปรรูปผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ตอนนี้ก็กำลังเพาะเห็ดฟาง และแปรรูปทำปลาแดดเดียว จะได้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เริ่มต้นรายได้รวม ๆ ตอนนี้ก็ประมาณ 100,000 บาทต่อปี