หลังจากเลื่อนแล้วเลื่อนอีก ในที่สุดที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 1 ก.พ.65 ที่ผ่านมา ก็เห็นชอบเกณฑ์เปิดลงทะเบียนโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ อภิมหาโปรเจคท์แห่งการแจกของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปเรียบร้อย โดยรอบนี้ตั้งเป้าหมายมีคนลงทะเบียนเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคน ใช้งบประมาณแจกไม่ต่ำกว่าอีก 60,000 ล้านบาท   
บัตรคนจนยิ่งทำยิ่งจน

แม้กำหนดเวลายังไม่แน่ชัดว่าจะเปิดลงทะเบียน และเริ่มใช้จ่ายได้วันไหนกันแน่ แต่เชื่อว่าเป็นโครงการแห่งความหวัง ที่คนไทยหลายล้านคนตั้งตารอ ซึ่งจะมีทั้งคนจนจริงและจนไม่จริง แห่ลงทะเบียนสมัครเข้าร่วมแบบถล่มทลายแน่นอน เพราะตลอด 5 ปีที่ผ่านมา การันตีชัดเจนแล้วว่า โครงการบัตรคนจน แจกจริง แจกหนัก ใช้เงินไปแล้วเป็นจำนวนกว่า 2-3 แสนล้านบาท จึงทำให้ใคร ๆ ก็อยากเข้าร่วมโครงการนี้ด้วยกันทั้งนั้น 

ลำพังในการปรับปรุงหลักเกณฑ์คัดกรองผู้มีสิทธิลงทะเบียนให้รัดกุม เช่น  การเพิ่มรายได้ครัวเรือน  การพิจารณาประวัติการเป็นหนี้  เพื่อสกัดรอยรั่วไหล ไม่ให้คนจนตัวปลอมเข้ามาลงทะเบียน หรือการปรับปรุงสวัสดิการต่าง ๆ ให้เหมาะสม ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็น่าจะเป็นแค่น้ำจิ้มเท่านั้น ไม่ใช่อาหารจานหลัก เพราะสาระที่แท้จริงอยู่ที่ว่า ในโครงการบัตรคนจนรอบใหม่นี้ จะมีวิธีการอะไร? ที่ทำออกมาแล้วช่วยให้คนไทยพ้นความยากจนไปมากกว่า เพียงแค่การแจกเงิน การให้เงินเพียงอย่างเดียว  

แต่ที่อดสงสัยไม่ได้ว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา งบประมาณที่ถูกหว่านออกไป 2-3 แสนล้านบาท ได้สร้างความคุ้มค่ามากน้อยแค่ไหน ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรบ้าง และช่วยให้คนจนพ้นจนได้กี่คน เป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบได้เลย มิหนำซ้ำ ที่กระทรวงการคลังตั้งเป้าหมายจะมีคนลงทะเบียนรอบใหม่ถึง 20 ล้านคน ก็ช่างค้านกับความรู้สึกเหลือเกินว่า มีอย่างที่ไหนทำโครงการแก้จนมาแล้ว 5 ปี แทนที่คนจนจะลดลง แต่กลับมีคนจนเพิ่มขึ้นจาก 13.45 ล้านคน เป็น 20 ล้านคน

ใช้เงินเก่งขาดประสิทธิภาพ

เรื่องนี้…สะท้อนให้เห็นว่า โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ  กำลังขาดประสิทธิภาพหรือไม่? โดยเฉพาะเรื่องหลักการแก่นแท้ของโครงการ เพราะหากย้อนไปช่วงริเริ่มทำบัตรคนจน สมัย“อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” นั่งเป็น รมว.คลัง ตั้งเป้าหมายผลักดันให้โครงการบัตรคนจน เป็นเรือธงใหญ่ในการแก้ปัญหาความยากจนของประเทศ เพราะนอกจากรัฐบาลได้แจกเงินให้ใช้แล้ว ต้องมีการจูงใจให้คนออกมาหางานทำ หรือออกมาฝึกฝนอาชีพเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนด้วย ไม่ใช่นอนรอรับเงินฟรี ๆ  
ทำให้ช่วงปี 61 กระทรวงการคลัง จึงร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กรมบัญชีกลาง ผลักดันมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐขึ้นมา เพื่อเปิดให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการเข้ามาอบรมสร้างอาชีพ ให้มีงานมีรายได้หลุดพ้นจากความยากจน โดยขณะนั้นมีผู้แจ้งความประสงค์เข้าโครงการฝึกอาชีพกว่า 4 ล้านคน ในจำนวนนี้ฝึกอาชีพสำเร็จ 1.7-1.8 ล้านคน และทำให้ผู้เข้าฝึกอบรม มีรายได้เฉลี่ยพ้นเส้นความยากจน 30,000 บาท ถึง 50% และอีก 3% ที่มีรายได้เฉลี่ยเกิน 1 แสนบาท  

หลักการจริงที่ถูกลืมไป 

อย่างไรก็ตาม หลังจากนายอภิศักดิ์ พ้นตำแหน่งไป แก่นของบัตรคนจนกลับเลือนหายไป เหลือเป็นแค่โครงการที่มีแต่การแจกเงินเพียงอย่างเดียว โดยเป็นการแจกแบบให้กินให้ใช้ไปฟรี ๆ ไม่มีการพัฒนาอาชีพ ไม่สอนให้คนไทยลืมตาอ้าปากได้เลย กลายร่างเป็นแค่โครงการประชานิยม หาเสียงของรัฐบาลอีกโครงการหนึ่งเท่านั้น   

แม้รัฐบาลอาจอ้างได้ว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด จึงทำให้มีคนจนเพิ่มมากขึ้น และไม่เอื้ออำนวยที่นำคนให้ออกมาฝึกฝนอาชีพได้ แต่ความจริงก็คือ โครงการฝึกฝนอาชีพทำได้แค่ปีเดียว และจบสิ้นไปตั้งนานแล้วก่อนที่โควิดระบาดด้วยซ้ำ ดังนั้น ในการเปิดลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ หากคิดให้ดี ถือเป็นโอกาสที่รัฐบาลได้คิดทบทวน รวมทั้งทำการไตร่ตรองให้ดี ว่าจะทำโครงการอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากกว่าที่ผ่านมา  

ภาระการคลังระยะยาว

ถ้าขืนแจกอย่างเดียวแบบเดิม รับรองว่าได้ตายกันหมด เพราะลำพังดูงบประมาณที่ใช้โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปัจจุบัน 13.45 ล้านคน รัฐบาลต้องใช้งบประมาณอุดหนุนปีละ 40,000-50,000 ล้านบาท ไม่นับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมตามวาระพิเศษอื่น ๆ และถ้าเปิดรอบใหม่มียอดคนจนเข้ามาเพิ่มเป็น 17 ล้านคน คลังก็ประเมินว่าอาจต้องมีภาระงบประมาณเพิ่มเป็นปีละ 60,000 ล้านบาท  

ความน่ากลัว!!! คือ…เงินก้อนนี้ได้กลายเป็นภาระงบประมาณ และภาระการคลังในระยะยาวทันที เพราะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นโครงการที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด หากคนรับไม่ตาย หรือไม่รวยขึ้น รัฐบาลก็มีหน้าที่หาเงินมาแจกต่อไปเรื่อย ๆ ปีละ 50,000-60,000 ล้านบาท และเชื่อว่าคงไม่มีรัฐบาลหน้าไหน กล้าหาญชาญชัย สั่งยกเลิกโครงการ หรือลดสวัสดิการ ทำสงครามกับคนถือบัตรกว่า 17 ล้านคนเป็นแน่  

จี้ขุนคลังยกเครื่องใหญ่

ที่น่าห่วงอีกเรื่อง ก็คือ ในภาวะที่สถานการณ์เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว แถมภาระการคลังของประเทศกำลังขาดวินัย มีหนี้สิน
ท่วมหัว ต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะ 60% เป็น 70% และขยายหนี้ตามมาตรา 28 จาก 30% เป็น 35% อีกทั้งการจัดเก็บรายได้ภาษีก็ยังไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย จนต้องจัดทำงบประมาณขาดดุลหลายแสนล้านบาท การเติมภาระรายจ่ายปีละ 50,000-60,000 ล้านบาท ยิ่งบั่นทอนให้ภาระทางการคลังมีความอ่อนแอลงไปอีก  

ดังนั้นระหว่างนี้ที่โครงการบัตรสวัสดิการฯ รอบใหม่ ยังไม่เริ่มเต็มตัว ก็อยากฝากความหวังถึงขุนคลัง อย่าง “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ที่เป็นคนสุขุม มีเหตุมีผล และไม่ได้เป็นนักการเมืองโดยสายเลือด ถือโอกาสเข้ามาเขย่า ปรับรูปแบบโครงการบัตรคนจนที่กำลังบิดเบี้ยว ให้กลับมาเข้ารูปเข้ารอยอีกครั้งได้หรือไม่ เพื่อไม่สร้างภาระทางการคลังในระยะยาว และยังนำกลับไปใช้เป็นเครื่องมือที่ถูกต้อง ในการแก้ปัญหาความยากจนให้กับประเทศอีกด้วย    

ทำคู่สร้างงานสร้างอาชีพ

โดยเฉพาะเงื่อนไขของการแจกสวัสดิการต่าง ๆ ต้องชัดเจน ควรมีการส่งเสริมให้คนที่เข้ามารับบัตรรอบใหม่ ต้องมีเงื่อนไขพัฒนาตัวเองให้หลุดพ้นความยากจน ยืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเองด้วย โดยมีการให้สวัสดิการเป็นส่วนประกอบ ในการสร้างแรงจูงใจ หรือเข้าช่วยดูแลคุณภาพชีวิตแบบชั่วคราว เช่น การผลักดันโครงการสร้างงาน สร้างอาชีพ ขึ้นมาทำคู่ขนานกับการแจกสวัสดิการแห่งรัฐควรทำหรือไม่ โดยไม่จำกัดแค่แบงก์รัฐเพียงอย่างเดียว แต่ควรขยายความร่วมมือไปกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้การแก้ปัญหาความยากจนเกิดขึ้นอย่างจริงจัง ตลอดจนควรมีการประเมินผลทุกปี ว่าทำไปแล้วคนหายจนไปเท่าไร ไม่ใช่ดูแค่สถิติตัวเลขจีดีพีชี้วัดเพียงอย่างเดียว  

หากรัฐบาลทำได้!! เชื่อว่า…คนจนที่เข้าร่วมโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ต่อจากนี้ไปจะลดลง และทำให้ภาระงบประมาณของรัฐบาลลดลงไปในตัวด้วย ที่สำคัญจะทำให้เกิดการใช้เงินได้อย่างคุ้มค่า และสามารถแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างแท้จริง!!.

ระยะสั้นยังแก้ไม่ตรงจุด

เกียรติอนันต์ ล้วนแก้วอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหา วิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า จำนวนผู้ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน ที่เพิ่มเป็น 20 ล้านคน มองได้ 2 ทาง คือ ทางแรก ช่วง 1-2 ปีนี้เศรษฐกิจไม่ค่อยดี คนจนจึงเพิ่มขึ้น ส่วนอีกทางคือ ในอดีตไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูลจึงไม่ได้แสดงตัว แต่เมื่อเห็นสวัสดิการที่ได้รับจึงพร้อมแสดงตัวมากขึ้น  ถ้าถามว่า การให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นการส่งเสริมให้ผู้มีรายได้น้อยเสพติด รอการช่วยเหลือจากรัฐหรือไม่ ประเด็นนี้ ถ้าให้เพื่อรองรับเสริมกับ
รายได้ขั้นต่ำที่ควรมี ก็ยอมรับได้ แต่ต้องศึกษาให้ชัดว่าให้ไปแล้ว คุ้มครองคุณภาพชีวิตขั้นต่ำให้ดีขึ้นหรือไม่ หรือให้ไปแล้วขี้เกียจทำงาน

“คนที่สนับสนุน ก็ต้องบอกให้ช่วย แต่ถ้าเป็นคนที่กังวล งบประมาณก็บานปลายไม่หยุด ก็มองว่าเป็นการให้เขาเสพติดหรือเปล่า มองได้ทั้ง 2 ทาง บริบทประเทศไทยตอนนี้ ยังฟันธงไม่ได้ แต่มองว่าสถานการณ์ปัจจุบันยังจำเป็นแก้ปัญหาในระยะสั้น โดยระยะยาว สิ่งดีที่สุด ต้องให้คนลืมตาอ้าปาก ยืนด้วยลำแข้งตัวเองให้ได้ การช่วยเหลือระยะสั้น ต้องผูกไปกับการช่วยระยะยาว”

สำหรับแนวทางที่ทำให้ยืนบนลำแข้งได้ด้วยตัวเอง เช่น หากได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อาจมีเงินช่วยเหลือขั้นพื้นฐาน แต่จะเพิ่มเงินช่วยเหลือเพิ่มขึ้น ต้องมาฝึกอาชีพด้วย  บทบาทรัฐต้องหาคนกลุ่มนี้ให้เจอ พัฒนาทุนมนุษย์ให้ถูกจุด ต้องสร้างโอกาสให้มีงานทำที่ถนัด ตอนนี้เห็นแต่บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ยังไม่เห็นการส่งต่อใด ๆ

แก้ให้ถูกก่อนคนจนล้น

“เกรียงไกร เธียรนุกุล” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ไทย (ส.อ.ท.)  มองว่า เริ่มมีการตั้งคำถาม ทำไมประเทศไทย ยิ่งอยู่ยิ่งมีการออกบัตรคนจนมากขึ้น อาจเป็นไปได้ว่า ในช่วง 1-2 ปีนี้ มีประชาชนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นจำนวนมาก เลยทำให้มีปัญหาความเดือดร้อนมากขึ้น ล่าสุดมีจำนวนคนได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐประมาณ 20 กว่าล้านคน คิดเป็น 1 ใน 3 ของประชาชนประเทศ ถือว่ามีจำนวนเยอะมาก ปัจจุบันนี้เข้าใจได้ว่าการออกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นการบรรเทาผลกระทบระยะสั้น ช่วยลดค่าครองชีพ แต่สิ่งที่อยากให้ภาครัฐทำเป็นคู่ขนาน อยากให้ทำแบบจีนที่ช่วยคนให้หายจนได้กว่า 100 ล้านคน

สำหรับวิธีการของประเทศจีน จะส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ ตามหมู่บ้าน ชุมชน เข้าไปเจาะปัญหาแบบเจาะลึกว่า แต่ละพื้นที่มีปัญหาอะไรแล้วต้องช่วยแต่ละชุมชนอย่างไร เพื่อให้ออกแบบแก้ปัญหาให้ตรงจุด เข้าไปเสริมทางด้านอาชีพ สร้างรายได้ให้เกิดความยั่งยืน ไม่ใช่ใช้เงินหว่านลงไปเพียงอย่างเดียว ขณะเดียวกันก็ต้องทำให้เศรษฐกิจประเทศให้ดีขึ้น เพื่อให้คนมีรายได้ มีอาชีพ ถ้าไม่เร่งแก้ปัญหาปีหน้าอาจมีคนรับบัตรฯเพิ่มเป็น 23-25 ล้านคนก็ได้

“เชื่อว่าคนไทยจะจนขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าภาครัฐไม่เร่งแก้ปัญหาแบบคู่ขนาน เพราะการให้เงินถือว่าเป็นเพียงการช่วยเหลือระยะสั้น ๆ แค่บรรเทา แต่ไม่ได้แก้ปัญหาได้ตรงจุด แล้วปัญหาความเหลื่อมล้ำในไทยก็ยิ่งสูงขึ้น”

จุนเจือค่าใช้จ่ายครอบครัว

“สุรเชษฐ์ ไชยเรืองศิริกุล” พ่อค้าย่านลำสาลี บอกว่า การคัดกรองคุณสมบัติผู้รับสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่ดีเพื่อช่วยคัดสรรคนที่มีปัญหาด้านการเงินจริง ๆ มากยิ่งขึ้นหลังจากที่ได้รับสิทธิพิเศษต่อเนื่องมานาน เพราะที่ผ่านมาพบว่าผู้ที่ได้สิทธิบางคนไม่ได้มีปัญหาด้านการเงินจริง ๆ มีทั้งรถ มีทั้งบ้าน และบางคนสอบเข้าทำงานราชการได้ก็ยังไม่ถูกตัดสิทธิ สามารถใช้เงินในบัตรได้ทุกเดือน

สำหรับการให้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับประชาชนในช่วงที่ผ่านมานั้น แม้จะไม่ช่วยให้คนไทยหลุดพ้นจากความจน แต่โดยส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ดีมากเพราะเงินในบัตรที่ได้รับเดือนละ 200-300 บาท หรือบางเดือนได้ 500 บาทนั้น ยังสามารถช่วยจุนเจือค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนของครอบครัวได้ โดยเฉพาะการซื้อสินค้าของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ผงซักฟอก สบู่ ยาสีฟัน ข้าวสาร เครื่องปรุงรสต่าง ๆ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ราคาสินค้าปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังใช้เป็นส่วนลดด้านค่าเดินทาง ซึ่งอย่างน้อย ๆ ผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็สามารถนำเงินในบัตรไปซื้อและเดือดร้อนเพียงเล็กน้อย หากเทียบกับประชาชนทั่ว ๆ ไป อย่างไรก็ตาม หากมีการให้เงินผ่านบัตรดังกล่าวต่อเนื่องนั้นถือเป็นเรื่องที่ดีและหากเป็นไปได้ก็อยากให้มีการเพิ่มวงเงินมากขึ้นอีก โดยเฉเพาะช่วงนี้ที่ราคาสินค้าปรับขึ้นทำให้ซื้อสินค้าจำนวนชิ้นได้น้อยลง

ช่วยได้มากช่วงของแพง

“บุษกร เขียดนุ้ย” ลูกจ้างทั่วไป เล่าว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพให้กับผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้น สามารถช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนได้อย่างมาก แม้โดยส่วนตัวจะได้รับวงเงินในบัตรเดือนละ 300 บาท และสามีได้รับวงเงินเดือนละ 300 บาท สองคนรวมกันเป็น 600 บาท ซึ่งทุกต้นเดือนจะนำไปใช้สำหรับซื้อของใช้ในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงซื้อนม ซื้อผ้าอ้อมเด็กให้ลูก โดยวงเงินดังกล่าวนี้แม้จะไม่เพียงพอสำหรับสินค้าที่ซื้อเป็นประจำทุกเดือน แต่ก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายไปได้บ้าง โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงที่ราคาเนื้อหมูแพงทำให้สินค้าต่าง ๆ ปรับขึ้นราคาตาม

อย่างไรก็ตาม ในการให้ผู้ที่ได้รับสิทธิเดิมและรายใหม่เข้าไปกรอกรายละเอียดใหม่ พร้อมกับมีกฎเกณฑ์ และคัดกรองผู้ขอรับสิทธิใหม่ทั้งหมดนั้น มองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะช่วยคัดกรองคนที่ลำบากจริง ๆ ได้มากขึ้น โดยเฉพาะการกำหนดให้ผู้ใหญ่บ้านเซ็นรับรองสถานะของบุคคลนั้น จากในรอบก่อนหน้านี้เพียงแค่ไปกรอกรายละเอียดเองในที่ว่าการอำเภอแล้วจากนั้นทางระบบจะทำการ
คัดกรองเองนั้น มองว่าไม่แม่นยำทั้งหมดและเกิดการโกงขึ้นได้ ซึ่งเห็นได้จากผู้ใช้สิทธิปัจจุบันบางคนไม่ได้มีปัญหาด้านการเงิน และยังมีกินมีใช้ แต่ใช้ชื่อบุตรหลานในการสมัคร หรือบางคนใช้ชื่อตนเองในการสมัครแต่มีบุตรหลานส่งเงินค่าเลี้ยงดูให้ใช้ไม่เคยขาดมือ