เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผอ.สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจ เรื่อง “หนี้นอกระบบ” มุมมองและเสียงสะท้อนจากประชาชน กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,156 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 10-12 ก.พ.ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือ ร้อยละ 77.9 ระบุหนี้นอกระบบ เป็นปัญหารากเหง้าความยากจนและเหลื่อมล้ำ ในขณะที่ร้อยละ 22.1 ระบุปัญหาอื่นๆ เช่น การศึกษา อาชีพ รูปแบบการใช้ชีวิต และธุรกิจ เป็นต้น

เมื่อถามถึง สภาพปัญหาเหลื่อมล้ำของหนี้นอกระบบ พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 95.9 ด้านคุณภาพชีวิต ถูกข่มขู่ คุกคามใช้ความรุนแรง และทำให้อับอาย  รองลงมาคือ ร้อยละ 94.8 ด้านรายได้ ถูกเก็บดอกเบี้ยสูงรายวัน ส่งผลต้นทุนทำกินสูงจนไม่เหลือเก็บ ร้อยละ 94.6 ด้านกฎหมายและเสรีภาพ ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายทุน ไม่มีที่พึ่งไกล่เกลี่ยช่วยเหลือตามกฎหมาย ร้อยละ 94.3 ด้านการเข้าถึงแหล่งทุน ขาดโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนตามกฎหมาย และร้อยละ 90.6 เจอความไม่เป็นธรรม เหลื่อมล้ำเป็นปัญหาความยากจนซ้ำซาก

ทั้งนี้ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.5 พอใจต่อรัฐบาลปัจจุบัน ที่ให้ความสำคัญลงแก้หนี้นอกระบบต่อเนื่องที่ผ่านมา ช่วยไกล่เกลี่ย หยุดการข่มขู่คุกคาม ช่วยจัดหาแหล่งทุน และได้รับมอบคืนที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ในขณะที่ ร้อยละ 30.5 ไม่พอใจ เพราะไม่ต่อเนื่องครอบคลุมทั่วถึง และยังพบการฉวยโอกาสที่เป็นปัญหาเรื้อรังเกี่ยวข้องหลายฝ่าย

เมื่อถามถึงความคาดหวัง ความต้องการต่อแนวทางแก้หนี้นอกระบบ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.5 อยากให้มีเเหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำในระบบ ที่เข้าถึงได้ง่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 95.3 อยากให้รัฐบาล โดยหน่วยงานภาครัฐ ลงพื้นที่ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย จัดการนายทุนผู้มีอิทธิพลหนี้นอกระบบและขบวนการขูดรีดที่ยังมีอยู่ ร้อยละ 94.6 อยากให้หน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วน เข้ามาช่วยเหลือประคับประคองผู้มีรายได้น้อยจากหนี้นอกระบบ ให้เดินต่อไปได้อย่างแท้จริง ร้อยละ 92.7 อยากให้รัฐบาลช่วย สร้างความเสมอภาคเท่าเทียม และเป็นที่พึ่งทางกฎหมาย และร้อยละ 88.4 ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง มีเหตุผล และภูมิคุ้มกัน ด้วยรอบรู้ อดทน ขยันหมั่นเพียร เป็นต้น

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลโพลนี้ชี้ให้เห็นปัญหาของประชาชนผู้ที่มีรายได้น้อยจากหนี้นอกระบบสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ชัดเจนในหลายมิติ ทั้งด้านสิทธิเสรีภาพ ด้านกฎหมาย ด้านรายได้ ด้านคุณภาพชีวิต รวมถึงการเข้าถึงแหล่งทุน การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ถูกมองผ่านจากหลายรัฐบาลที่ผ่านมา และมาให้ความจริงจังในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เนายกรัฐมนตรี โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวแรงขับเคลื่อน

ส่งผลให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยจำนวนมากพอใจและหลุดจากหนี้นอกระบบ แต่บางส่วนยังขาดการประคองจากหน่วยงานรัฐให้สามารถยืนและเดินต่อด้วยตัวเอง บางส่วนยังติดกับดักหนี้ และยังมีอีกจำนวนมากที่ต้องการให้รัฐบาลลงไปช่วยเหลืออย่างจริงจัง ต่อเนื่องและทั่วถึง โดยเฉพาะการรับแจ้งและให้การช่วยเหลือ การให้โอกาสเข้าถึงแหล่งทุน การเสริมความเข้มแข็งทางวิชาชีพเมื่อได้รับทุนแล้ว รวมทั้งการช่วยเหลือติดตามสนับสนุน.