รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. ซึ่งมีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นประธาน มีมติเห็นชอบผลการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ โครงการจ้างพัฒนาระบบติดตามขบวนรถไฟและจัดการงานขนส่งสินค้า (Train Tracking and Freight Management System) ราคากลาง 949.9 ล้านบาท โดยผู้เสนอราคาต่ำสุดคือ กิจการร่วมค้าเอเอ ประกอบด้วย บริษัท แอ็ดวานซ์อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AIT และบริษัท แอพเวิร์คส์ จำกัด เสนอราคา 948 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง 1.9 ล้านบาท โดยที่ประชุมขอให้ รฟท.ไปเจรจาต่อรองราคากับกิจการร่วมค้าเอเออีกครั้ง และเสนอให้ที่ประชุมบอร์ด รฟท. รับทราบในการประชุมเดือน มี.ค.65 ต่อไป

รายงานข่าวแจ้งต่อว่า เบื้องต้นคาดว่า รฟท. จะสามารถลงนามในสัญญากับกิจการร่วมค้าเอเอ ในเดือน เม.ย.65 และเริ่มงานติดตั้งระบบในเดือน พ.ค.65 ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 18 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการได้ช่วงปลายปี 66 ทั้งนี้การติดตั้งระบบดังกล่าวจะติดตั้งที่ขบวนรถโดยสารทั้งหมดกว่า 200 ขบวน และขบวนรถสินค้ากว่า 100 ขบวน รวมทั้งติดตั้งที่สถานีขนาดใหญ่ประมาณ 200 แห่ง จากสถานีทั้งหมด 446 สถานีทั่วประเทศ เพื่อติดตามขบวนรถแบบเรียลไทม์ โดยผู้โดยสารสามารถดูผ่านแอพพลิเคชั่น และจะทราบได้ทันทีว่า ขบวนรถที่ตนเองต้องการเดินทางอยู่ที่ใด และอีกกี่นาทีจะเข้ามาถึงสถานี นอกจากนี้ที่สถานีขนาดใหญ่จะมีจอแจ้งเตือนเหมือนสถานีรถไฟฟ้า MRT ด้วย  

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ระบบนี้จะทำให้ติดตามตำแหน่งหัวรถจักร ขบวนโดยสาร และแคร่สินค้าได้แบบเรียลไทม์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพขนส่ง แก้ปัญหาความล่าช้า และยังอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเช็กเวลาเข้า และออกสถานีของขบวนรถได้ด้วย โดยจะมีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นมารองรับการใช้งานต่อไป อย่างไรก็ตามระบบดังกล่าวจะช่วยลดมูลค่าความเสียหายจากความล่าช้าของเที่ยววิ่งรถโดยสารได้ปีละ 311 ล้านบาท ลดมูลค่าความเสียหายเที่ยววิ่งสินค้าปีละ 97 ล้านบาท

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ขณะที่ผู้โดยสารจะพึงพอใจกับบริการมากขึ้น เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับการบริการ คาดว่าจะทำให้ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 5% หรือปีละ 1.75 ล้านคน จากยอดผู้โดยสารเฉลี่ยต่อปี 35.1 ล้านคน ส่งผลให้รายได้จากการโดยสารเพิ่มขึ้นปีละ 176 ล้านบาท จากรายได้ปกติปีละ 3,529 ล้านบาท ส่วนปริมาณขนส่ง คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2% จากปัจจุบันที่ขนส่งอยู่ที่ปีละ 11 ล้านตัน ส่งผลให้รายได้จากการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นปีละ 44 ล้านบาท รวมทั้งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องของน้ำมันเชื้อเพลิงได้ปีละ 10 ล้านบาท ถือเป็นอีกหนึ่งการพัฒนา ซึ่ง รฟท. ผลักดันเรื่องนี้มาเกือบ 10 ปี กว่าจะผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด รฟท.