เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) หรือ ศูนย์ PCT พร้อมด้วย พล.ต.ท.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ผู้ช่วย ผบ.ตร./รอง ผอ.ฯ เปิดแถลงผลการขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีของ ตร. ในห้วงปี 2564-ปัจจุบัน

โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่สร้างความเสียหายให้กับพี่น้องประชาชน สั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนและครบวงจร ตลอดจนสร้างการรับรู้ไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ซึ่ง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้สั่งการในเรื่องนี้ตั้งแต่มารับตำแหน่ง และได้เน้นย้ำว่า การสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน หรือ Cyber Vaccine ต้องทันต่อรูปแบบของอาชญากรรมที่เปลี่ยนไปด้วย โดยที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง ดังต่อไปนี้

1.มาตรการด้านการปราบปราบ มีการระดมกวาดล้างจับกุมอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจับกุมคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2564 จนถึงปัจจุบัน 10,818 คดี ผู้ต้องหา 10,584 คน รวมมูลค่าความเสียหายหลายพันล้านบาท 2.มาตรการเชิงรุกในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม

2.1 จัดทำโครงการระบบการรับแจ้งความออนไลน์คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ผ่าน www.thaipoliceonline.com ซึ่งเป็นระบบที่เปิดให้ประชาชนกรอกข้อมูลลงในระบบการรับแจ้งความ แล้วจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดต่อกลับไปเพื่อสอบถามสถานีตำรวจที่จะไปแจ้งความและยืนยันการนัดหมายก่อนที่จะเดินทางไปแจ้งความร้องทุกข์ยังสถานีตำรวจที่ประชาชนเลือกหรือที่มีอำนาจการสอบสวน ในขณะเดียวกันจะมีขั้นตอนการอายัดบัญชีคนร้ายในทันที อีกทั้งระบบรองรับให้ประชาชนติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดีผ่านระบบออนไลน์ และรองรับการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสืบสวนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยประมวลผลความเชื่อมโยง แยกกลุ่มผู้กระทำผิด เครือข่าย และกลุ่มผู้เสียหาย ซึ่ง ตร.จะมีการแถลงเปิดตัวโครงการอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 ก.พ. 65 และให้ประชาชนใช้ระบบได้ในวันที่ 1 มี.ค. 65

2.2 การประสานความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาอย่างครบทั้งวงจร
(1) ประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ อาชญากรรมทางเทคโนโลยี อย่างเช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์มักใช้พื้นที่ในประเทศเพื่อนบ้านเป็นฐานปฏิบัติการ เพื่อให้ยากต่อการติดตามจับกุม โดยเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2565 ผบ.ตร. ได้มอบหมายให้ตนและนายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล เลขานุการ รมว.ดีอีเอส พร้อมคณะ ได้เดินทางไปยังกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เพื่อพบและหารือกับผู้แทนฝ่ายรัฐบาลกัมพูชา ในการประสานความร่วมมือจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ฝังตัวอยู่ในประเทศกัมพูชา โดยได้นำกำลังเข้าตรวจค้นเป้าหมายในกรุงพนมเปญ และเมืองพระสีหนุ รวม 3 จุดหลัก ๆ จับกุมผู้ต้องหาจำนวน 23 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท โดยทางฝ่ายกัมพูชาจะส่งผู้ต้องหาทั้งหมดมาดำเนินคดีในประเทศไทยต่อไป และจะมีการประสานความร่วมมือกับประเทศกัมพูชาและประเทศเพื่อนบ้านในการกวาดล้างอย่างต่อเนื่องต่อไป พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าว

(2) ประสานความร่วมมือกับสมาคมธนาคารไทย เกี่ยวกับความร่วมมือในการดำเนินคดีและประสานข้อมูลเพื่ออายัดบัญชี ชั่วคราวทันที หลังจากนั้นจะมีการแจ้งอายัดบัญชีจากพนักงานสอบสวนต่อไป โดยมีผู้ประสานงาน (Contact person) ระหว่างสมาคมธนาคาร และ ตร. อย่างใกล้ชิด ตลอดถึงการขอข้อมูลบัญชีธนาคารในการสืบสวนสอบสวนคดีอาญา

(3) ประสานความร่วมมือกับ ปปง. เพื่อความรวดเร็วผ่านสายด่วน 1710 ในการยับยั้งการทำธุรกรรมไว้ชั่วคราว แล้วพนักงานสอบสวนจะทำหนังสืออายัดบัญชีไปยังธนาคารนั้นโดยเร็ว และรายงาน ปปง. ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการประสานงานในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ เพื่ออายัดทรัพย์ของผู้กระทำความผิด

(4) ประสานความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน กสทช. และผู้ให้บริการโทรศัพท์ขณะนี้ก็เป็นข่าวดีอยู่ระหว่างการหาแนวทางในการปิดกั้นการโทรมาจากต่างประเทศ ซึ่งอาจเป็นกลุ่มแก๊งมิจฉาชีพที่ไปใช้ฐานปฏิบัติการอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อโทรมาจากต่างประเทศ ขอให้มีสัญลักษณ์ที่ทำให้รู้ว่าเป็นเบอร์ที่โทรฯ มาจากต่างประเทศอาจจะเป็น 555 หรือ 999 ระบบผู้ให้บริการก็จะปิดกั้นหรือตัดสายทิ้ง ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จเร็ว ๆ นี้ ตรงนี้จะทำให้มิจฉาชีพเข้าถึงประชาชนหรือเหยื่อยากขึ้น

2.3 การประชาสัมพันธ์เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนได้รับรู้ถึงพฤติกรรมของคนร้าย นับตั้งแต่ปี 2564 ตร. มีการจัดทำคลิปวิดีโอเตือนภัยตามรูปแบบของอาชญากรรม จำนวน 57 คลิป ภาพอินโฟกราฟฟิก 214 ภาพ เนื้อหาประชาสัมพันธ์จำนวน 274 เนื้อหา ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น YouTube, Facebook ขณะนี้มียอดชมกว่า 20 ล้านครั้ง และจะเพิ่มการประชาสัมพันธ์ ทางข้อความ SMS ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ให้ความรู้แก่ประชาชนใน 14 รูปแบบอาชญากรรมทางออนไลน์ ได้แก่ (1)หลอกขายของออนไลน์ (2)คอลเซ็นเตอร์ (Call Center) ข่มขู่ให้เกิดความกลัว (3)เงินกู้ออนไลน์ ดอกเบี้ยโหด (4)เงินกู้ออนไลน์ที่ไม่มีจริง (เงินกู้ทิพย์) (5)หลอกให้ลงทุนต่าง ๆ (6)หลอกให้เล่นพนันออนไลน์ (7)ใช้ภาพปลอมหลอกให้หลงรักแล้วโอนเงิน (Romance scam) หรือหลอกให้ลงทุน (Hybrid scam) (8)ส่งลิงก์ปลอมเพื่อหลอกแฮกเอาข้อมูลส่วนตัว (9)อ้างเป็นบุคคลอื่นเพื่อหลอกเอาข้อมูลส่วนตัว (10)ปลอม Line, Facebook หรือ Account หลอกยืมเงิน (11)ข่าวปลอม (Fake news) – ชัวร์ก่อนแชร์ (12)หลอกลวงเอาภาพโป๊เปลือยเพื่อใช้แบล็กเมล์ (13)โฆษณาชวนไปทำงานต่างประเทศแล้วบังคับให้ทำงานผิดกฎหมาย (14)ยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) ซึ่งเข้าข่ายเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน

รอง ผบ.ตร. กล่าวอีกว่า ผบ.ตร. ได้แต่งตั้งคณะทำงานเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยมี พล.ต.ท.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นหัวหน้าคณะ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน ตลอดจนสถาบันการศึกษา โดยคณะทำงานจะเข้าไปบรรยายให้ความรู้เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับนักเรียน นักศึกษา ที่เป็นเยาวชน เพื่อช่วยในการขับเคลื่อนการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโยลี

“….ขอฝากประชาชนอย่าไปหลงเชื่อใครง่าย ๆ เมื่อเงินยังอยู่กับเรา คิดก่อนโอน อย่าโอนไว อย่าโอนเงินให้กับคนที่ไม่รู้จัก อย่าเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลทางสื่อสังคมออนไลน์ ขอให้ตั้งสติ รวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุด นำข้อมูลมาปรึกษาเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่หรือแจ้งข้อมูลได้ที่ สายด่วนของ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ที่หมายเลข 1441 ตลอด 24 ชั่วโมง สายตรง 08-1866-3000 เวลาราชการ และเว็บไซต์ https://pct.police.go.th/….” พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าว