สถานการณ์เงินบาทในช่วงนี้ค่อนข้างผันผวนตามปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซียที่อาจก่อเกิดสงครามครั้งใหม่

“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ได้รายงานเงินบาทสัปดาห์ที่ผ่านมา แตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 สัปดาห์ที่ 32.88 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงสวนทางเงินดอลลาร์ ที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งในฐานะสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางสัญญาณตึงเครียดของสถานการณ์ยูเครน หลังรัสเซียเริ่มปฏิบัติการทางการทหารกับยูเครน ขณะที่ชาติตะวันตกทยอยประกาศมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ต่อรัสเซีย

นอกจากนี้ เงินบาทยังมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดี เงินบาทลดช่วงอ่อนค่าได้บางส่วนช่วงท้ายสัปดาห์ตามสัญญาณการฟื้นตัวขึ้นของสินทรัพย์เสี่ยงและภาพรวมของสกุลเงินในเอเชีย ทั้งนี้ ในวันศุกร์ (25 ก.พ.) เงินบาทปิดตลาดที่ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับ 32.17 บาทต่อดอลลาร์ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (18 ก.พ.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (28 ก.พ.-4 มี.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.20-32.90 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์ระหว่างยูเครน-รัสเซีย, รายงานเศรษฐกิจการเงินเดือน ม.ค. ของ ธปท., ตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ก.พ. ของไทย, ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และสถานการณ์โควิด-19

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูล PMI และ ISM ภาคการผลิตและภาคบริการ, ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร, อัตราการว่างงาน, ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP เดือน ก.พ., ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน ม.ค., จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ (Beige Book) ของเฟด นอกจากนี้ ตลาดยังรอติดตามข้อมูล PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือน ก.พ. ของจีน อังกฤษ และยุโรปด้วยเช่นกัน