เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีทัวร์ศูนย์เหรียญ หมายเลขดำ ฟย.46/2559 หมายเลขแดง ฟย.25/2560 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 3 เป็นโจทก์ฟ้องนายสมเกียรติ คงเจริญ อายุ 63 ปี กก.ผจก.บริษัท ซินหยวน ทราเวล จำกัด , นางธวัล แจ่มโชคชัย อายุ 65 ปี กก.ผจก.บจก.ฝูอัน ทราเวล, บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด, นายวสุรัตน์ โรจน์รุ่งรังสี อายุ 32 ปี กก.ผจก บจก.โอเอฯ, บริษัท รอยัลเจมส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัท ไทยเฮิร์บ จำกัด, บริษัท บางกอก แฮนดิคราฟท์ เซ็นเตอร์ จำกัด, บริษัท รอยัลพาราไดซ์ จำกัด, นางนิสา โรจน์รุ่งรังสี อายุ 67 ปี กรรมการผู้จัดการทั้งสี่บริษัท ซึ่งเป็นมารดาของนายวสุรัตน์, นายธงชัย โรจน์รุ่งรังสี อายุ 66 ปี สามีนางนิสา, บริษัท บ้านขนมทองทิพย์ จำกัด, น.ส.สายทิพย์ โรจน์รุ่งรังสี อายุ 41 ปี กรรมการผู้มีอำนาจ บจก.บ้านขนมทองทิพย์ซึ่งเป็นบุตรของนายธงชัย และนายวินิจ จันทรมณี อายุ 75 ปี กก.ผจก.บริษัทซินหยวน ทราเวล จำกัด เเละ บริษัทฝูอันฯ เป็นจำเลยที่ 1-13 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 วรรคแรก, พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 และร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542

กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 24 มี.ค -31 ส.ค. 2559 ต่อเนื่องกัน บริษัท ฝูอัน ทราเวล จำกัด นำนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาเที่ยวโดยไม่เสียค่าบริการ หรือที่เรียกว่า “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” จากนั้นบริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด จำเลยให้ใช้รถบัสจำนวน 2,500 คัน รับนักท่องเที่ยวฟรี โดยเป็นผู้กำหนดแผนการเดินทางให้มัคคุเทศก์และผู้ขับขี่นำรถไปจอดให้นักท่องเที่ยวแวะซื้อสินค้าจากร้านในเครือเดียวกับบริษัท โอเอฯ ซึ่งสินค้ามีราคาแพงกว่าท้องตลาดหลายเท่า แสดงฉลากไม่ถูกต้อง เป็นการขูดรีดนักท่องเที่ยว ไม่เป็นการแข่งขันเสรีทางการค้า อำพรางแบ่งปันผลประโยชน์ โดยบริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด แบ่งปันผลประโยชน์ให้บริษัททัวร์ 30-40% ให้มัคคุเทศก์ 3-5% มีพฤติกรรมลักษณะเป็นขบวนการ แบ่งหน้าที่กันทำ ปกปิดวิธีการอันมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินของนักท่องเที่ยวศูนย์เหรียญชาวจีน จนเกิดความ เสียหายมูลค่า 98 ล้านบาทเศษ ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและภาพลักษณ์ของประเทศเสียหาย คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมด

ต่อมาศาลอุทธรณ์ พิพากษาแก้ให้ลงโทษปรับเฉพาะ จำเลยที่ 1, 2 เเละ 13 รายละ 5 แสนบาท ตาม พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวเเละมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 มาตรา 24,82 ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 นอกจากที่เเก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ และ จำเลยที่ 1,2 และ 13 ยื่นฎีกา

วันนี้จำเลยส่วนใหญ่เดินทางมาศาล ยกเว้นจำเลยที่ 1 ไม่ได้เดินทางมาศาล โดยศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือเเล้วเห็นว่าส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การกระทำร่วมกันของจำเลยทั้งสิบสาม จึงเป็นการร่วมกันปกปิดวิธีดำเนินการแก่นักท่องเที่ยว เป็นการกำหนดเส้นทางและสถานที่ ที่จะนำนักท่องเที่ยวไปเที่ยวและให้ไปซื้อสินค้าในร้านของจำเลยที่ 3, 5-8 และที่ 11 เท่านั้น บังคับนักท่องเที่ยวด้วยวิธีการต่าง ๆ จึงเป็นการดำเนินธุรกิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยังเป็นการ ผูกขาดระบบเศรษฐกิจและระบบอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ร้านค้ารายย่อยไม่มีโอกาสขายสินค้า ชนิดเดียวกันกับร้านค้าของจำเลยที่ 5-8 และที่ 11 ให้แก่นักท่องเที่ยว ผู้ประกอบการรายอื่นที่มีเงินทุนน้อยกว่าไม่สามารถแข่งขันได้ ต้องเลิกกิจการ ทำให้ระบบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเสียหาย นักท่องเที่ยวต้องซื้อสินค้าในราคาที่สูงกว่าความเป็นจริงหลายเท่าและด้อยคุณภาพ นักท่องเที่ยวจะรู้สึกไม่พอใจกับการท่องเที่ยวในประเทศไทยสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรแหล่งท่องเที่ยว อันเป็นการกระทำให้เกิดความเสียหายแก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว หรือ นักท่องเที่ยวนั้น

เห็นว่าที่โจทก์ฎีกาดังกล่าวล้วนเป็นการคาดคะเนเอาเองของโจทก์โดยใช้เพียงข้อมูลที่เกิดจากการรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่ได้มาของเจ้าพนักงานตำรวจและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินซึ่งไม่ใช่พยานโดยตรง โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่มีเหตุผลสนับสนุน ตรงกันข้ามทางพิจารณา กลับได้ความว่าจำเลยที่ 1, 3 เเละที่ 13 ต่างประกอบธุรกิจนำเที่ยว ส่วนจำเลยที่ 3-12 ประกอบกิจการการขนส่งคนโดยสารเพื่อให้เช่ารถโดยสาร จำหน่ายสินค้าต่าง ๆ และของที่ระลึก รวมทั้งธุรกิจร้านอาหาร จำเลยที่1, 3 และที่ 13 เคยเช่ารถโดยสารจากผู้ประกอบกิจการการขนส่งรายอื่นด้วย แม้ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นเช่ารถโดยสารจากจำเลยที่ 3 แล้วพานักท่องเที่ยวไปที่ร้านค้าในเครือของจําเลยที่ 3 นอกจากเป็นไปตามโปรแกรมที่กำหนดแล้วยังเป็นการประกอบธุรกิจในลักษณะ เป็นพันธมิตรและเป็นธุรกิจต่างตอบแทนกันดังเช่น ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวรายอื่นที่ทำในลักษณะเดียวกัน ก็จะกำหนดโปรแกรมที่ต้องพา นักท่องเที่ยวไปร้านค้าในเครือของผู้ประกอบกิจการขนส่งรายนั้น ส่วนโปรแกรมที่นักท่องเที่ยว จากสาธารณรัฐประชาชนจีนต้องไป คือ ร้านจิวเวลรี่ ร้านกระเป๋าหนังจระเข้ ร้านรังนก และร้านยางู ก็เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีน ส่วนใหญ่นิยมซื้อ และทางพิจารณาก็ไม่ปรากฏว่าการเลือกและตัดสินใจซื้อสินค้าที่ร้านค้าในเครือของจำเลย มีการบังคับข่มขู่หรือชักจูงใจ ทั้งไม่ปรากฏว่าเป็นสินค้าไม่มีคุณภาพและราคาสูงกว่าปกติมากใน ลักษณะที่เอาเปรียบเกินควร สินค้าแต่ละประเภทมีป้ายติดแสดงราคาไว้ กับมีใบรับประกัน และสามารถนำมาคืนได้ในภายหลัง

สำหรับค่าน้ำหรือค่านำรถเข้าไปจอดหรือค่าคอมมิชชั่นของ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 13 หรือผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวในประเทศไทยรายอื่น กับค่าน้ำ หรือค่าคอมมิชชั่นของมัคคุเทศก์ ก็เป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาช้านาน และเป็นกลยุทธ์ทาง การตลาดที่ต้องการให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในร้านค้าจำนวนมาก นักท่องเที่ยวต่างก็มีความ พึงพอใจที่ได้เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยและซื้อสินค้าที่ร้านในเครือของจำเลยที่ 3 การกระทำ ของจำเลยที่ 1, 2 เเละ 13 จำเลยที่ 3-12 จึงไม่เข้าข่ายความผิดฐานอั้งยี่

สำหรับความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินนั้น โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสิบสามร่วมกันกระทำความผิด ฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่ซึ่งอ้างว่าเป็นความผิดมูลฐานเอง เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้ง 13 ร่วมกันกระทำความผิดฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่ กรณีนี้จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินด้วย

ที่โจทก์บรรยายฟ้อง พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบมาแตกต่างขัดแย้งกันในสาระสำคัญ จึงไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ไม่สามารถรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 3-12 กับพวกกระทำความผิด ฐานร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวกับการประกอบธุรกิจนำเที่ยวของจำเลยที่ 1, 2, 13 โดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยทั้ง 13 กับพวกร่วมกันกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ฐานร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวหาประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรมจากนักท่องเที่ยว ฐานร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวจัดบริการนำเที่ยวให้แก่นักท่องเที่ยวโดยไม่ได้รับค่าบริการหรือรับ ค่าบริการในอัตราที่เห็นได้ว่าไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย และฐานร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยว อันจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว หรือนักท่องเที่ยว และจำเลยที่ 1-12 กับพวกร่วมกันกระทำความผิดฐานฟอกเงิน

พยานหลักฐาน จำเลยทั้ง 13 และฎีกาของโจทก์ในรายละเอียดประการอื่นไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกายังไม่เห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1, 2 เเละ 13 ฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องจำเลยที่ 1, 2 เเละ 13 ในความผิด ตาม พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 มาตรา 24, 82 ประกอบ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์