เมื่อวันที่ 21 มี.ค. นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. รัฐสภา ยอมรับรู้สึกกังวลการทำงานของ กมธ. เนื่องจากพรรคการเมืองใหญ่ไม่ฟังเสียงข้างน้อย ก่อนหน้านี้ตนเสนอที่ประชุมตั้งที่ปรึกษา กมธ. โดยเสนอชื่อนายปรีดา บุญเพลิง ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคครูไทยเพื่อประชาชน และ นายมนูญ สิวาภิรมย์รัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ แต่ กมธ. ไม่เห็นด้วย พร้อมให้เหตุผลว่า กมธ.ทั้ง 49 คน มีจำนวนเยอะ และแต่ละคนเป็นเซียนทางกฎหมายอยู่แล้ว

“เหตุผลที่ผมเสนอเพื่อให้มีตัวแทน ส.ส.พรรคเล็ก ร่วมสู้ใน กมธ. ด้วย เพราะพรรคเล็กมีผมเพียงคนเดียว และได้สิทธิพูดแค่หนึ่งครั้ง ต่างจากพรรคใหญ่ และหากลงมติผมก็เป็นฝ่ายแพ้ แต่ผมเข้าใจว่าระบบประชาธิปไตยเป็นแบบนี้ ดังนั้นหากแพ้ในชั้นกรรมาธิการ ยังมีชั้นของวาระสองในรัฐสภาไว้สู้ แต่หากชั้นรัฐสภาสู้ไม่ได้ จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญในท้ายที่สุด ทั้งนี้ผมขอย้ำว่า การสู้ครั้งนี้ไม่ใช่สู้เพื่อตัวเองหรือพรรคเล็ก แต่คือการสู้กับวงจรอุบาทว์ทางการเมือง ระบบเผด็จการรัฐสภา” นพ.ระวี กล่าวพร้อมยืนยันพรรคเล็กเสนอสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้นำคะแนนเลือกตั้งรวมหารด้วยจำนวน ส.ส.ทั้งหมด คือ 500 คน เพื่อให้ได้ ส.ส.พึงมี โดยจะได้คะแนน 1.5 แสนคะแนนต่อ ส.ส. 1 คน

นายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะแกนนำกลุ่ม 16 ชี้แจง ส.ส.ในกลุ่ม 16 ปัจจุบันมีสมาชิก 18 คน มาจากพรรคการเมืองขนาดเล็ก ไม่ใช่กลุ่มที่รวมตัวเพื่อโค่นล้มรัฐบาล แต่คือการรวมตัวเพื่อหาทางออก และร่วมมือช่วยเหลือเพื่อให้ ส.ส.พรรคเล็กสามารถกลับมาเป็น ส.ส. ได้ในสมัยเลือกตั้งครั้งหน้า

ส่วนประเด็นการแก้ไขร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. นายพิเชษฐ กล่าวว่า พรรคเล็กพร้อมผลักดันสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อให้ใช้ตัวหารเป็นจำนวน ส.ส. 500 คน ไม่ใช่ 100 คน สำหรับทางหนีทีไล่ของ ส.ส.กลุ่มพรรคเล็ก ที่หารือเบื้องต้นมี 2 แนวทาง คือ การควบรวมพรรค และ ย้ายไปสังกัดพรรคใหญ่ ทั้งนี้ ในแนวทางการควบรวมพรรค หารือว่ากรณีของ ส.ส.ที่เป็นหัวหน้าพรรค เลือกตั้งครั้งหน้าต้องลงเลือกตั้ง ส.ส.แบบเขต เพราะมีโอกาสได้กลับเข้าสภา เนื่องจากหัวหน้าพรรคนั้นมีฐานคะแนนนิยม หากได้คะแนน 4.5 หมื่นคะแนน สามารถชนะเลือกตั้งในเขตนั้น ๆ แต่หากลงเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องใช้คะแนน 3.5-4 แสนคะแนน ส่วน ส.ส.ที่ไม่ใช่หัวหน้าพรรค ขณะนี้ยังไม่มีแนวทาง เพราะต้องรอความชัดเจนของกติกาเลือกตั้ง.