เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ในรายการโหนกระแส ดำเนินรายการโดย หนุ่ม-กรรชัย กำเนิดพลอย ยังเกาะติดเหตุการณ์การผ่าชันสูตรศพ “แตงโม-นิดา พัชรวีระพงษ์” รอบ 2 โดยสัมภาษณ์ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา และ อดีต ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งร่วมสังเกตการณ์การผ่าชันสูตรศพครั้งที่ 2 ของแตงโม

ทั้งนี้บางช่วงบางตอนของการออกรายการ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ ให้ข้อสังเกตสำคัญทางคดี ภายใต้คำถามของ หนุ่ม กรรชัย ได้เป็นอย่างดี โดย พญ.คุณหญิงพรทิพย์ ระบุ ประเด็นแตงโมไปฉี่ท้ายเรือแล้วตกลงมา นั้น ไม่ได้ตอบแบบหมอนิติเวชนะ แต่ตอบแบบผู้หญิงทั้งหลาย ไม่เชื่อ ผู้หญิงอ่ะ แล้วไม่ได้ห่างฝั่งมากมาย เรื่องฉี่ถ้าเป็นหมอ หมอก็จะบอก เหมือนเราปวดห้องน้ำ เราก็จะบอกว่าขอเข้าหน่อยเหอะ การไปนั่งท้ายเรือมันยากมาก บอกเลยว่าไม่เชื่อ สองมาเจอหลักฐาน จะฉี่พร้อมเสื้อผ้าอย่างนั้นเลยเหรอ

ถ้าบอกว่าเป็นอุบัติเหตุหรือฆาตกรรม มีโอกาสเป็นไปได้ทั้งคู่มั้ย? เรื่องนี้ต้องใช้หลักฐานทุกส่วนมาประกอบกัน ตอนนี้ก็ยังไม่สรุปแต่ถ้าได้หลักฐานท่อนนี้ ท่อนของเรือกับ 5 คนมันก็จะช่วย แต่ถ้าเห็นศพเฉยๆ บอกไม่ได้ ว่าพฤติกรรมเป็นอะไร คือเราติดใจเรื่องเรืออยู่เยอะมาก เพราะไม่ได้ถูกเก็บวัตถุพยานตั้งแต่เริ่มต้น ถูกนำไปฝากไว้ในที่ที่ไม่ปลอดภัย แต่เจ้าหน้าที่อาจบอกว่าปลอดภัย แต่คำว่าไม่ปลอดภัยในทางนิติวิทยาศาสตร์คือ ไม่สามารถยืนยันในห่วงโซ่วัตถุพยาน คือกั้นไว้แค่นี้ แล้วกลางคืนใครเข้ามา แล้ววัตถุพยานเหล่านี้เก็บอะไรบ้าง สำคัญที่สุดคือ 5 คนที่ไม่ได้เก็บตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้ไม่วางใจ ว่าคุณแตงโมจะได้รับความเป็นธรรม

สำหรับเรื่องเส้นผมมนุษย์ตรวจอะไรได้บ้าง? การตรวจว่าเป็นของใคร จำเป็นต้องมีรากผม และไขปริศนามาได้เยอะแล้ว สองตรวจว่ามีสารเคมี สารเสพติดอะไรก็ได้ ปกติเราใช้ในการคุมประพฤตินักโทษหรือเยาวชน เพราะเส้นผมยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ต่อ 1 เดือน เราก็ดูว่าเคยเสพสารเสพติดมั้ยใน 1 เดือน เราก็ดูได้ เคยเสพนะ ไม่ใช่ ณ เวลาตาย บอกได้เลยว่า 1 เซนติเมตร ต่อ 1 เดือน เราเริ่มทำอันนี้ที่สถานพินิจ เด็กกลับไปเยี่ยมบ้าน และกลับมาเราเก็บเส้นผมมาตรวจ เราพบว่ามีสาร ยาเสพติดในช่วงนั้นที่เรายังไม่รู้จักตัวนี้สักเท่าไหร่ ปรากฏว่ามันบอกได้ว่ามันคือช่วงที่เขากลับบ้าน ต่อมานำมาวิเคราะห์ก็ทำให้รู้ว่าแนวโน้มสารเสพติดเปลี่ยน นี่คือการตรวจจากเส้นผมค่ะ มันบอกได้จริงๆ 1 เดือนโดยประมาณ 1 เซนติเมตร

ซึ่งถ้าคนโกนหัวจะตรวจได้หรือไม่ ตอบได้เลยว่าไม่ได้ โคนผมที่หล่นไปแล้วก็จะยากแล้ว เพราะไม่รู้อันไหนเป็นปลาย เป็นต้นตอ แต่ถ้าดูโครงสร้างอาจตรวจได้ แต่ไม่ง่าย เพราะตัดโคนกับตัดสองสามเซนฯ ออกมาเหมือนกัน เท่ากับเอาไปแปลผลไม่ได้แล้ว ถ้าขึ้นมาใหม่ก็เป็นของใหม่ ของเก่าไม่เหลือแล้ว

ส่วนถ้ามีคนโกนหัวเอาผมนั้นมาตรวจได้หรือไม่ ก็อย่างที่บอก มันจะมีความชัดเจนน้อยลง เนื่องจากเส้นผมตัวนั้นไม่สามารถบอกได้ ยกเว้นถ่ายรูปทุกขั้นตอนนะ แต่ถ้าหยิบจากกอง จะไม่รู้ว่าเป็นการตัดที่โคน หรือตัดที่ 1, 2 หรือ 3 เซนติเมตร ปกติหลักฐานแบบนี้ไม่ควรนำมาใช้ในคดีเพราะมันไม่รู้ที่มาว่าตัด ณ จุดไหน

ระหว่างนั้น หนุ่ม กรรชัย ถามว่า ถ้าคนต้องการปกปิดเรื่องการตรวจเส้นผมว่ามีสารเสพติดก็ไปโกนหัวทิ้งก็ได้? ซึ่ง พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวว่า ถูกต้อง เราก็ห่วงตรงนั้น แต่ปกติก็ตรวจได้นะ เพราะไปเยี่ยมบ้านเขาก็ไม่ถึงกับโกน ตรงนี้เป็นการมอนิเตอร์แล้วเจอว่าระหว่างคุมประพฤติคุณเสพยา เมืองนอกก็ใช้ แล้วกระทรวงยุติธรรม สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ก็มาเริ่มจากสถานพินิจ ต่อมาก็เริ่มใช้กับคุมประพฤติ

มีประเด็นนึงที่หลายคนสงสัย เมื่อเช้าคุณหญิงโพสต์ว่าไม่ได้เกลียดตำรวจ หลายคนมองว่าคุณหญิงสวนตำรวจตลอดเกิดอะไรขึ้น?
จริงๆ เชื่อว่ามีคนแบบนี้อยู่เยอะ เพราะคุณพ่อสอนให้เป็นคนเชื่อมั่นในตัวเอง ในมุมที่ว่าถ้าเป็นสิ่งที่ถูกต้องก็ต้องทำ ตั้งแต่เด็ก พ่อบอกแก้วแตกเจอเมื่อไหร่ก็ต้องเก็บ อายเขาจะตาย เจอเมื่อไหร่ก็เก็บมาห่อ ตรงนี้ทำให้ไม่สามารถเดินผ่านมันได้ ฉะนั้นการทำให้มีอะไรเกิดความไม่ยุติธรรมเราเดินผ่านไม่ได้ แต่ไม่ใช่เพราะเกลียดนะ เพียงแต่เรามีหน้าที่ ถ้าเราทำงานด้านนี้เราก็ช่วยเท่านั้นเองค่ะ ไม่ได้เกลียดตำรวจ เพียงแต่ว่าถ้ามันดูไม่ถูกต้อง อย่างเคสนี้มันดูแปลกๆ ตั้งแต่เริ่มต้นสองสามอย่าง ห้าคนไม่ถูกเก็บ เรือก็ไม่ถูกเก็บ เรือเอาไปไว้บ้านเจ้าของ แล้วมีการสั่งย้ายศพไปไว้อีกที่ เป็นใครก็รู้สึกได้ว่ามีอะไรบางอย่างเข้ามาแทรกแซง เหมือนแก้วแตก ปล่อยผ่านไม่ได้ค่ะ ต้องเก็บ เพราะเดี๋ยวคุณแตงโมก็ไม่ได้รับความจริง

สำหรับที่อยากแนะนำ ถ้ามีเคสแบบนี้อีก ก็คือพยานหลักฐานทุกชนิด ถ้าตรวจช้าเกินไป จะไม่สามารถพิสูจน์ความจริงได้ สองการตรวจหลักฐานทั้งหลาย ต้องรักษาห่วงโซ่วัตถุพยาน ฝากไว้แค่นี้ ตั้งแต่อยู่ในที่เกิดเหตุ ไปถึงห้องปฏิบัติการ จนผลออกมา ต้องไม่ให้มีใครมาแทรกได้เลย ไม่ใช่เอาออกไปทางโน้น มีคนมาจับ สิ่งนี้มันหายไปตั้งแต่วันแรก จากนี้ต้องปฏิรูประบบสืบสวนสอบสวน อันนี้มีกฎหมายแต่แท้งไป สองปฏิรูประบบนิติวิทยาศาสตร์ สามสิทธิที่จะรับรู้ของเหยื่อ เหยื่อมีสิทธิรับรู้ เหมือนที่คุณแม่เขาต้องการจะรู้ ต้องเข้าถึง ไม่ใช่เป็นความลับคดี เป็นแผนปฏิรูปซึ่ง สว. ต้องผลักดันให้สำเร็จ

คดีนี้แม่เข้าไม่ถึงตั้งแต่แรก เป็นวัฒนธรรม และมีการออกระเบียบในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่มันขัดหลักสากล หลักสากลของสิทธิมนุษยชน คือต้องเข้าถึงข้อมูล สมมุติคุณหนุ่มถูกทำร้าย คุณหนุ่มต้องสามารถรู้ได้ว่าตำรวจทำถึงไหนแล้ว จับใครมา เอาหลักฐานเราไปใช้หรือเปล่า ทำไมไม่เอาหลักฐานนี้ฟ้อง นี่คือสิทธิสากล ขณะเดียวกันคู่ความก็เหมือนกันมีการไปจับอีกคนมา เขาก็มีสิทธิรู้ว่าเอาอะไรมาฟ้องฉัน แต่ส่วนใหญ่พวกนี้ต้องเอาไปสู้กันในศาล มันเลยมีแพะเยอะไปหมดเพราะบางทีมันก็มีความคลาดเคลื่อน


“อยากบอกว่าอย่าเฝ้าดูคดีแบบละคร แต่ให้เฝ้าดูว่านี่คือภูเขาน้ำแข็ง ที่ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ เพื่อให้เราเข้าถึงคดีได้ง่ายในทุกๆ คดี” พญ.คุณหญิงพรทิพย์ ระบุ