ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) แถลงข่าวผลการศึกษาโครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์และแผนหลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (Strategic Environmental Assessment : SEA) พื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก ว่า สทนช. ได้ร่วมกับม.นเรศวรและกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ดำเนินการศึกษาโครงการฯ มาตั้งแต่กลางปี 63 และจะดำเนินการแล้วเสร็จปลายเดือนก.ค.64 นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการพัฒนาของลุ่มน้ำที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบหรือมีผลกระทบในระดับที่ยอมรับได้ และเป็นไปตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี พ.ศ.2561-2580 

โดยมีแนวทางการศึกษา ประกอบด้วย การจัดทำแผนหลักและแผนปฏิบัติการ ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ การจัดการน้ำอุปโภค-บริโภค การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต การจัดการน้ำท่วม และบรรเทาอุทกภัย การจัดการคุณภาพน้ำและอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน และการบริหารจัดการโดยมีผลการศึกษาในประเด็นสำคัญที่แล้วเสร็จ อาทิ แผนงาน/โครงการที่เสนอ ทั้งจากภาครัฐและภาคประชาชน รวม 2,894 โครงการ ทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อการจัดการน้ำอุปโภคบริโภคและเสริมสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิตในพื้นที่เพิ่มขึ้น 1,218.33 ลบ.ม. และสามารถลดพื้นที่อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันตกได้อีก 47,631 ไร่ ปัจจุบันพื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตกครอบคลุมพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ ระนอง จพังงา ภูเก็ต ตรัง สตูล และครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจ.กระบี่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และ สงขลา

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาในกระบวนการ SEA ซึ่งใช้เป็นกรอบในการขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area Based) สามารถสร้างความมั่นคงของทรัพยากรน้ำ เพื่อรองรับนโยบายด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่จ.ภูเก็ต ได้มีการจัดทำแผนงานเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง

เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า การศึกษาพื้นที่ต้นแบบด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับพื้นที่ที่เน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและภาคส่วนอื่นๆ ซึ่งมีต้นแบบความสำเร็จ คือ ที่จ.ตรัง และจ.กระบี่ โดยเฉพาะพื้นที่บ้านวังลำ ต.วังคีรี อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ถือเป็นแหล่งต้นน้ำและชุมชนต้นแบบที่มีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งจากในอดีตพื้นที่บ้านวังลำ มักประสบปัญหาน้ำมีไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและการเพาะปลูก ทำให้คนในชุมชน และภาครัฐได้หาแนวทางร่วมกันบริหารจัดการน้ำผ่านกลไกของการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีแหล่งน้ำที่สำคัญในพื้นที่คือ อ่างเก็บน้ำบ้านน้ำราบและโครงการอ่างเก็บน้ำสถานีบำรุงพันธุ์สัตว์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

การศึกษา SEA เป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการจัดทำแผนหลักด้านน้ำ ที่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ริเริ่มจัดทำเป็นมาตรฐานให้กับการพัฒนาด้านอื่น ๆ โดนการดำเนินการศึกษาของ สทนช. ได้เสริมการวิเคราะห์ความต้องการของพื้นที่ การจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อกำหนดเป้าหมาย วิธีการ ลำดับความสำคัญผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม ผลที่ได้รับคือ แผนหลักการบริหารลุ่มน้ำซึ่งจะต้องเสนอเข้าสู่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติเพื่อการปรับปรุงเป็นแผนแม่บทน้ำของประเทศในปี 2565 ต่อไป