เมื่อวันที่ 27 มี.ค. ที่จุดสกัดเขาสูงเขาแผงม้า เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า บ้านคลองทราย อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา นายอรรณพ บัวนวล หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาแผงม้า ร่วมกับ คณะอาจารย์ นักวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ดร.พิเชฐ นุ่นโต ผู้เชี่ยวชาญช้างป่าเอเชีย ผศ.พีรชัย กุลชัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ ผศ.ดร.รัชนี โพธิแท่น คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอำเภอวังน้ำเขียว นำคณะจิตอาสา เหล่านักศึกษา และคนในชุมชน ร่วมกิจกรรมอนุรักษ์เทศกาลนับกระทิง ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก พร้อมจัดเสวนา การท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างยั่งยืนของชาววังน้ำเขียว

โดย กลุ่มวิสาหกิจอนุรักษ์สัตว์ป่าบ้านคลองทราย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบจากสัตว์ป่าเข้ามากินพืชไร่ ภายหลังได้เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส ทำท่องเที่ยวชุมชน โดยการดูสัตว์ป่า สร้างรายได้เสริม โดยได้ไปดูงานโมเดลจากกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ จึงนำกุยบุรีโมเดลดังกล่าวมาพัฒนาเพื่ออยู่ร่วมกับสัตว์ป่าอย่างยั่งยืน

ขณะที่ นักวิจัย เปิดเผยว่า สถานที่ดังกล่าวเป็นภูเขาโลนทุ่งหญ้า จึงได้ทำการเรียนรู้ใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน การใช้ที่ดินผ่านไป 20 ปี มีต้นไม้มากขึ้น มีมนุษย์เข้ามาอยู่มากขึ้น ต้องหาทางออกจากการทำลายทรัพย์สินจากสัตว์ป่า การบริหารจัดการ แผนคู่มือการใช้ท่องเที่ยว แบ่งปันช่วยเหลือชาวบ้านเดือดร้อน หน่วยงานกับชุมชนไปด้วยกัน ซึ่งวิธีดังกล่าวจะสามารถส่งเสริมการอนุรักษ์ได้อย่างเห็นผล

ด้าน ดร.พิเชฐ นุ่นโต ผู้เชี่ยวชาญช้างป่าเอเชีย IUCN SSC เปิดเผยว่า ปัจจุบันการท่องเที่ยวชุมชนเชิงนิเวศ สร้างรายได้พลิกวิกฤติเป็นโอกาสให้ชุมชนอยู่ร่วมกับสัตว์ป่า มีมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงนิเวศดูสัตว์ป่า การดูในระยะ 100-200 เมตร ช่วยไม่ให้สัตว์ป่าเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไป อีกทั้งเป็นการกำหนดทิศทางชุมชน คู่มือให้ชาวบ้านอยู่ด้วยกัน พูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ช่วยอนุรักษ์สัตว์ป่าอย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้บทสรุปในวงเสวนา อยากให้ทุกภาคส่วน มาบริหารจัดการให้ร่วมกันชุมชนในเชิงนิเวศ ทำเป็นศูนย์เรียนรู้เชิงนิเวศให้มากขึ้น สร้างรายได้ส่งเสริมท้องถิ่น เกิดรายได้หมุนเวียน มีกิจกรรมให้ทำมากขึ้นในเชิงนิเวศ โดยให้ไกด์ท้องถิ่นนำพาไปด้วย อย่างไรก็ตามการจัดกิจกรรมครั้งนี้ถือเป็นการร่วมกิจกรรมอนุรักษ์เทศกาลนับกระทิงเป็นครั้งแรก เพื่อการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน ซึ่งเหล่าจิตอาสา คณะนักศึกษา และคนชุมชน ที่ร่วมนับกระทิง สามารถนับกระทิงได้กว่า 300 ตัว สร้างความตื่นตาและตื่นใจแก่ผู้มีโอกาสพบเห็นสัตว์ป่าเป็นอย่างมาก.