เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 31 มี.ค. นายขจิต ชัชวานิช ปลัด กทม. ในฐานะผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร แถลงภาพรวมการรับสมัครผู้ว่าฯ กทม.วันแรกว่า มีผู้เดินทางมาสมัครทั้งหมด 20 คน เป็นชาย 14 คน และหญิง 6 คน โดยผู้สมัครที่มีอายุมากสุดอายุ 72 ปี และผู้สมัครอายุน้อยที่สุด 43 ปี

สำหรับผู้สมัคร ส.ก.วันนี้ (31 มี.ค.) มีจำนวน 343 คน เขตที่สมัครมากที่สุดจำนวน 9 คน ได้แก่ ธนบุรี จอมทอง วังทองหลาง และเขตที่สมัครน้อยที่สุด 5 คนได้แก่ เขตดุสิต และป้อมปราบศัตรูพ่าย ทั้งนี้ หลังจากปิดรับผู้สมัคร จะมีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งว่า ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน จากนั้นประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ณ สถานที่เลือกตั้ง หรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง หรือสถานที่ที่เห็นสมควร

นายขจิต กล่าวอีกว่า ในการเลือกตั้ง แต่ละผู้สมัครต้องแจ้งข้อมูลช่องทางการหาเสียงต่างๆ รวมถึงจำนวนรถและจำนวนผู้ช่วยในการหาเสียงต่อ กกต. เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายการเลือกตั้ง รวมถึงให้จัดทำบัญชีค่าใช้จ่ายเกี่ยวการเลือกตั้ง ซึ่งต้องยื่นแสดงบัญชีค่าใข้จ่ายต่อ กกต.ภายใน 90 วัน นับจากวันเลือกตั้ง โดยผู้สมัครรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. กำหนดค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งต้องไม่เกิน 49 ล้านบาท ส่วน ส.ก. ไม่เกิน 8 แสน-1.2 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรแต่ละเขต ทั้งนี้ หากไม่ยื่นหรือยื่นแสดงบัญชีค่าใช้จ่ายเกินเวลาที่กำหนด อาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี และถ้าให้ข้อมูลเป็นเท็จ จะถูกเพิกถอดสิทธิในการเลือกตั้ง 10 ปี

สำหรับการติดป้ายหาเสียงและป้ายประกาศ ขอให้ผู้สมัครดำเนินการติดตั้งตามระเบียบและเงื่อนไข ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานครกำหนด โดยเฉพาะห้ามปิดประกาศบริเวณผิวการจราจร เกาะกลางถนน สะพานลอยเดินข้าม และสะพานลอยรถข้าม รวมทั้งส่วนประกอบของสะพาน รั้วและแผงเหล็กริมถนน ป้ายจราจรและสัญญาณไฟจราจร ป้ายประกาศของทางราชการ รั้วหรือกำแพงหรือผนังอาคารของทางราชการ ต้นไม้และเสาไฟฟ้าบริเวณเกาะกลางถนน เป็นต้น โดยขอให้ผู้สมัครศึกษารายละเอียด และปฏิบัติตามข้อกำหนดของประกาศอย่างเคร่งครัด.