เป็นที่ฮือฮาของสังคมไทยอีกรอบ!! โดยเฉพาะบรรดามนุษย์เงินเดือนที่อยู่ในระบบประกันตน ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์กรณี ชราภาพออกมาใช้ก่อนมีอายุ 55 ปี ได้

เป้าประสงค์สำคัญ ก็เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประกันตน ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยสามารถที่จะนำเงินออกมาเลือกใช้ใน 3 ลักษณะ ทั้งการขอเลือก การขอคืน และการขอกู้

แม้ว่าในวง ครม.เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 65 ที่ผ่านมา บรรดา ครม.หลายคน ต่างถกเถียง ต่างออกอาการเป็นห่วงถึงฐานะกองทุนประกันสังคมว่าจะเพียงพอรองรับเงื่อนไขนี้ไหวหรือไม่

แต่!! สุดท้ายแล้ว ในเมื่อเจ้ากระทรวงยืนยันหนักแน่น ด้วยสารพัดเหตุผลที่ต้องช่วยเหลือเจ้าของเงินที่สมทบส่งเข้ากองทุนประกันสังคม การแก้ไขกฎหมายประกันสังคม เพื่อปรับปรุงแก้ไขสิทธิประโยชน์ กรณีชราภาพ จึงผ่านความเห็นของ ครม.ไปได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมุมที่ว่าแม้กองทุนฯ มีความมั่นคงทางเสถียรภาพลดลง แต่จะช่วยให้กองทุนฯ มีค่าใช้จ่ายลดลงในระยะยาว เนื่องจากการจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าการจ่ายเงินบำนาญชราภาพ ที่ต้องจ่ายให้ตลอดชีวิต เพราะ!!! อย่าลืมว่า… เวลานี้ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบไปแล้ว

มีการประมาณการณ์กันว่า หากการแก้ไขกฎหมายสำเร็จลุล่วง จะมีผู้ประกันตนมาขอใช้สิทธิประมาณ 5 ล้านคน คนละ 30,000 บาท ก็เท่ากับว่าต้องมีเงินรองรับตรงนี้ไว้อย่างน้อย 1.5 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตามในมุมมองของฝ่ายวิชาการ อย่าง…สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ไม่เห็นด้วยเพราะมองว่า การนำเงินสะสมชราภาพมาใช้ก่อน ในระยะสั้นอาจมีประโยชน์ แต่มีความเสี่ยงที่ว่าท้ายที่สุดแล้วเงินออมตอนแก่ก็จะหายไป

เช่นเดียวกับ…อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นส่วนหนึ่งว่า…ในหลายประเทศ แม้มีปัญหาวิกติเศรษฐกิจแต่จะไม่ยอมให้จ่ายเป็นบำเหน็จ เพราะโดยหลักการของกองทุนประกันชราภาพแล้ว ต้องการให้เป็นหลักประกันรายได้ไปตลอดชีวิต

แม้…มีบางประเทศให้รับเป็นบำเหน็จได้ แต่ผู้ประกันตนก็มักใช้เงินหมดภายในเวลาไม่กี่ปี!! และไม่มีหลักประกันรายได้ หลังจากนั้น!! และต้องกลับมาเป็นภาระของสังคมและรัฐในที่สุด

ด้าน สภาพัฒน์!! เอง ก็เห็นว่า เงินกองทุนชราภาพถือเป็นเงินกองกลางที่สำนักงานประกันสังคม หรือ สปส.ต้องบริหารจัดการเพื่อทยอยจ่ายให้กับผู้ประกันตรเมื่อเกษียนอายุราชการเป็นรายเดือนจนกว่าจะเสียชีวิต

ขณะเดียวกัน…หลักการประกันสังคม มุ่งลดความเสี่ยงกรณีที่ผู้ประกันตนมีชีวิตยืนยาวกว่าเงินที่เก็บออมไว้ ซึ่งการดึงเงินออกมาใช้ก่อน นอกจากทำให้หลักประกันทางรายได้ยามชราภาพลดลงแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อเงินกองกลางและผู้ประกันตนรายอื่นในอนาคต อาจเร่งให้เงินกองทุนหมดเร็วขึ้น

หรือแม้แต่ สำนักงบประมาณ ที่ตั้งข้อสังเกตไว้น่าสนใจ โดยควรกำหนดให้เป็นเพียง “บทเฉพาะกาล” ให้ดำเนินการได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในช่วงวิกฤติ

ส่วน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มองว่า เรื่องนี้ทำให้ผู้ประกันตนมีหลักประกันรายได้เมื่อเกษียณลดลง ดังนั้น จำเป็นต้องมีแนวทางรัษาเสถียรภาพและความมั่นคงของระบบประกันสังคมที่ชัดเจน

อย่างไรก็ตามการแก้ไขสิทธิประโยชน์ใหม่ ฯ นี้ เรียกง่าย ๆ ว่า “สิทธิประโยชน์ชราภาพ 3 ขอ” ประกอบด้วย ขอเลือก… คือ ให้ผู้ประกันตนที่มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ สามารถเลือกรับ ‘บำเหน็จ’ (เงินตอบแทน ซึ่งจ่ายครั้งเดียว) หรือ ‘บำนาญ’ (เงินตอบแทน ซึ่งจ่ายเป็นรายเดือน) ได้

ขอคืน… ในกรณีเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ สาธารณภัย หรือเหตุการณ์อื่นใด อันส่งผลกระทบต่อผู้ประกันตน ก็สามารถนำเงินสะสมกรณีชราภาพบางส่วนออกมาใช้ก่อนครบกำหนดอายุ 55 ปีบริบูรณ์ได้

ขอกู้ให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินกรณีชราภาพบางส่วน เป็นหลักประกันกู้เงินกับสถาบันการเงินที่ทำความตกลงกับสำนักงานประกันสังคมได้

ทั้งนี้ทั้งนั้น!! ผู้ประกันตนจะนำเงินออกมาใช้ก่อนได้ไม่เกิน 30% ของเงินชราภาพที่ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับ หรือไม่เกิน 2 เท่าของค่าจ้างสูงสุดที่ใช้ในการคำนวณเงินสมทบ

ด้วยเรื่องนี้เป็นการแก้ไขกฎหมาย จึงใช่ว่าจะมีผลบังคับใช้ได้เลย ยังมีอีกหลายขั้นตอน อีกหลายกระบวนการ โดยเฉพาะกระบวนการเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา

ที่สำคัญ!! อาจเป็นอีกหนึ่งลูกระเบิด!! ที่จะถล่มเข้าใส่เก้าอี้ของรัฐบาล เก้าอี้ของผู้บริหารประเทศ อีกครั้ง!!

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”