‘Met Gala’ หรืองานเลี้ยงประจำปีเพื่อหารายได้ให้สถาบันเครื่องแต่งกายในเครือพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแตนของนิวยอร์ก ถือเป็นงานโชว์ตัวของบรรดาคนดังในวงการบันเทิงอย่างเต็มรูปแบบ ในแต่ละปีจะมีการกำหนดธีมการแต่งกาย และผู้ชมต่างก็เฝ้ารอว่า คนดังหรือคนโปรดคนไหนจะแต่งชุดเลิศหรูโดนใจ และได้คอนเซปต์ตามโจทย์หรือไม่

ในงาน Met Gala ปีล่าสุดที่เพิ่งผ่านพ้นไป ไม่ได้มีแต่ความฮือฮาเกี่ยวกับชุดอลังการงานสร้างของคนดังแต่ละราย แต่ยังมีข่าวคราวเกี่ยวกับเครื่องประดับชิ้นสำคัญที่ ‘เน็ตไอดอล’ รายหนึ่งสวมไปในงาน ซึ่งต่อมากลายเป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเครื่องประดับชิ้นนั้น ผู้ครอบครองได้มาอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

เอ็มมา แชมเบอร์เลน ยูทูบเบอร์คนดังคือผู้ที่สวมสร้อยคอเพชรสุดหรูของคาร์เทียร์ ซึ่งต่อมาชาวเน็ตตั้งข้อสังเกตว่า ช่างมีความคล้ายคลึงกับสร้อยเพชรในครอบครองของมหาราชาภูพินเดอร์ สิงห์ แห่งปาเทียลา อดีตผู้ปกครองดินแดนส่วนหนึ่งของแคว้นปัญจาบแห่งอินเดีย ซึ่งได้ชื่อว่า เป็นชายที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ในช่วงที่เขาครองบัลลังก์ระหว่างปี 2443-2481 

มหาราชาภูพิเดอร์ สิงห์ เจ้าผู้ครองแคว้นปาเทียลา เจ้าของสร้อยตัวจริง

ประวัติเดิมของสร้อยเส้นนี้ เริ่มจากที่มหาราชาผู้เป็นเจ้าของดั้งเดิม ต้องการให้ทางคาร์เทียร์ นำเพชรเดอเบียร์สเม็ดงามไปแปลงเป็นเครื่องประดับเพื่อสวมใส่ในงานพิธี สร้อยดังกล่าวถูกจัดทำเสร็จในปี 2471 และกลายเป็นที่รู้จักกันดีในนามของ ‘สร้อยคอแห่งปาเทียลา’ มูลค่าทั้งหมดของสร้อย หากเทียบกับค่าเงินในยุคนี้ อยู่ประมาณ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,033 ล้านบาท

สร้อยดังกล่าวมีลักษณะเป็นสร้อยติดคอหรือ ‘โชเกอร์’ ตรงกลางเป็นเพชรสีเหลืองของเดอเบียร์ 23.6 กะรัต ขนาดประมาณลูกกอล์ฟ ซึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นเพชรเม็ดใหญ่อันดับ 7 ของโลก สร้อยคอส่วนที่เหลือประดับด้วยเพชรเม็ดเล็กอีก 2.930 เม็ด น้ำหนักกะรัตโดยรวมของสร้อยทั้งหมดนั้นมากกว่า 1,000 กะรัต

ปัญหาก็คือ สร้อยเส้นที่เป็นของมหาราชานั้น หายไปจากคลังสมบัติหลวงแห่งปาเทียลา ในปี 2491 หลังจากนั้นก็ปรากฏในงานประมูลของสถาบันโซธบีในปี 2525 โดยอยู่ในลักษณะที่แกะเอาเฉพาะเพชรออกมาประมูลขาย และตามธรรมเนียมการประมูลของสถาบันเหล่านี้ก็มักจะไม่เปิดเผยชื่อของผู้ที่ประมูลได้ไป

ในปี 2541 คาร์เทียร์ไปพบชิ้นส่วนตัวเรือนของสร้อยในร้านค้าเพชรแห่งหนึ่งในลอนดอน และซื้อกลับมา พร้อมทั้งบูรณะสร้อยทั้งเส้นขึ้นมาใหม่โดยใช้ ‘เพชรรัสเซีย’ หรือ ‘เพชรสวิส’ ซึ่งเป็นเพชรสังเคราะห์ที่นิยมนำมาใช้แทนเพชรแท้ในปัจจุบัน มาประดับแทนส่วนที่เป็นเพชรแท้ในอดีต

เมื่อชาวเน็ตจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีเชื้อสายอินเดีย ได้เห็นสร้อยคอดังกล่าวบนคอของ แชมเบอร์เลน ในวันงาน Met Gala ซึ่งจัดขึ้นเมื่อ 2 พ.ค. ที่ผ่านมา ยูทูบเบอร์สาววัย 20 ปี ผู้มีสมาชิกติดตามช่องของเธอมากกว่า 11.4 ล้านบัญชี โดนวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบอย่างหนัก รวมถึงแบรนด์คาร์เทียร์ ซึ่งเป็นเจ้าของสร้อยด้วย 

แม้จะมีชาวเน็ตส่วนหนึ่งแย้งว่า ไม่ใช่ความผิดของ แชมเบอร์เลน ซึ่งเป็นเพียงผู้สวมสร้อย และไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะจัดการส่งคืนสร้อยเส้นดังกล่าวไปยังคลังสมบัติเดิมของมหาราชาที่อินเดียได้

เอส. วิเจย์ คูมาร์ ผู้ก่อตั้งโครงการ ‘อินเดียไพรด์’ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเอกชนที่มีเป้าหมายในการตามหาสมบัติที่สูญหายของอินเดีย กล่าวว่า การพิสูจน์ความเป็นเจ้าของเดิมของสมบัติที่ถูกขโมยไปเหล่านี้เป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก ทางการอินเดียก็ไม่สู้จะสนใจในการอ้างสิทธิเหนือสมบัติ หรือพยายามหยุดยั้งการประมูลของมีค่าของชาติที่โดนขโมยไป

นอกจากนี้ ปัญหาด้านกฎหมายระห่างประเทศที่ไม่มีความชัดเจน ยิ่งทำให้แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะติดตามสมบัติของชาติที่โดนขโมยไปเหล่านี้กลับคืนมา รวมถึงการขาดหลักฐานที่เป็นบันทึกรายการสินทรัพย์เหล่านี้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ยิ่งทำให้ยากจะตามหาร่องรอยต้นกำเนิดหรือเจ้าของดั้งเดิมของสิ่งมีค่าเหล่านี้.

แหล่งข้อมูล : nextshark.com, fox5ny.com

เครดิตภาพ : Getty Images