เมื่อวันที่ 8 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ถึงเรื่องราวการแชร์ชวนเชื่อในโลกออนไลน์ ถึงแก้ว 4 ชนิดที่ทำเสี่ยงถึงตายได้!

โดย อ.เจษฎ์ ระบุผ่านแฟนเพจ @อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ระบุว่า “เรื่อง “แก้ว 4 ชนิดที่ห้ามใช้ เสี่ยงตาย” เป็นเรื่องพูดเกินจริง ที่ไม่ควรแชร์ต่อครับ” เรื่องที่ว่านี้ ก็เก่ามากแล้ว นาน 7-8 ปีแล้วครับ แต่ก็วนเวียนกลับมาแชร์กันใหม่ โดยมีการอ้างว่า “แก้วน้ำ 4 แบบที่นิยมใช้กันอยู่ทุกวัน คือ แก้วสีสัน แก้วกระดาษ แก้วพลาสติก และแก้วโลหะนั้น อันตราย ใช้ง่ายแต่เสี่ยงตาย .. แก้วที่ปลอดภัยที่สุด คือ แก้วที่ทำมาจากแก้วและเซรามิก”!?

ซึ่งไม่จำเป็นเลยนะครับ ความปลอดภัยขึ้นกับคุณภาพของวัตถุดิบและการผลิตแก้วชนิดต่างๆ ว่าได้ตามมาตรฐานหรือเปล่า ไม่ใช่ว่าตีขลุมไปเลยว่าชนิดนี้อันตราย ชนิดนี้ปลอดภัย … ถึงเป็นแก้วแก้วหรือแก้วเซรามิก ก็อันตรายได้ ถ้าผลิตไม่ได้มาตรฐาน

1.รูปที่แชร์กันดังกล่าวนั้น อ้างถึงอันตรายของแก้วแต่ละประเภท ไว้ว่า
-แก้วกระดาษ : แก้วกระดาษที่มีคุณภาพต่ำ จะมีสารเพิ่มความขาวของกระดาษ สารก่อมะเร็ง ซ่อนอยู่ วิธีสังเกตง่ายๆ คือเวลาแก้วเปียกน้ำใช้นิ้วลูบเบาๆ จะพบว่ามีขุยกระดาษหลุดออกมา
-แก้วพลาสติก : เวลาใส่น้ำร้อนหรือน้ำเปล่า สารเคมีในแก้วจะหลุดออกมาได้โดยง่าย ทำให้สารพิษเข้าสู่ร่างกายเราได้
-แก้วพลาสติกที่มีสีสันฉูดฉาด : เวลาใส่น้ำที่มีฤทธิ์เป็นกรด เช่น น้ำมะนาว น้ำส้ม หรือแม้กระทั่งน้ำเปล่า จะมีสารปนเปื้อนที่เป็นโลหะหนัก ละลายออกมาจากสารเคลือบแก้ว และเมื่อดื่มน้ำเข้าไปสารพิษก็จะเข้าสู่ร่างกาย
-แก้วโลหะหรือแก้วสเตนเลส : เมื่อเรานำไปใส่น้ำที่มีฤทธิ์เป็นกรด จะทำให้มีโลหะหลุดออกมาจากแก้ว และเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย
-ส่วนแก้วที่ปลอดภัย คือ แก้วที่ทำมาจากแก้ว แต่จะไม่สามารถใส่น้ำร้อนได้เพราะจะทำให้แก้วแตก และแก้วเซรามิก เพราะทำจากวัสดุที่ปลอดภัย สามารถทนทานต่อความร้อนได้ดี

2.แต่ๆๆ ทางรายการชัวร์ก่อนแชร์ ของสำนักข่าวไทย ได้เคยทำรายการตอน “แก้ว 4 ชนิด ห้ามใช้ นำไปสู่มะเร็ง จริงหรือ ?” มาแล้ว (ดูคลิปที่ https://youtu.be/_KM2zViryhA) โดยได้ไปสัมภาษณ์ ศ.ดร.ประณัฐ โพธิยะราช ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวัศดุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งอธิบายไว้ว่า
-มันขึ้นกับหลายปัจจัย ทั้งคุณภาพของวัตถุดิบ และพฤติกรรมของผู้ใช้ ว่าเสี่ยงการปนเปื้อนของสารพิษหรือไม่ ดังนี้

“แก้วกระดาษ”
-ในกรณีที่ต้องการความสะอาด แบบใช้แล้วทิ้ง แก้วกระดาษก็ยังเป็นตัวเลือกที่ดีอยู่ แม้ว่าในกระบวนการผลิตกระดาษจะใช้สารเคมีค่อนข้างมาก บางทีก็มีการเคลือบเพื่อให้แข็งแรงหรือทนเปียกได้ดีขึ้น
-ถ้าเป็นแก้วกระดาษที่มีคุณภาพต่ำ สารเคมีพวกนี้ ก็จะไม่ใช่สารที่ได้รับการรับรองว่าปลอดภัยต่อการบริโภค
-แก้วกระดาษไม่ควรจะมีผง (ขุย) ติดมา แต่ดูจากผงอย่างเดียว คงรับประกันอะไรไม่ได้ ถึงเป็นแก้วที่คุณภาพไม่ดี ก็อาจจะไม่เจอผงได้เหมือนกัน

“แก้วพลาสติก”
-มีพลาสติกหลายประเภทที่ทำแก้วน้ำได้ ผู้ผลิตจะต้องเลือกใช้วัตถุดิบที่เป็นพลาสติกเกรดสำหรับบริโภค

“แก้วพลาสติกที่มีสีสันฉูดฉาด”
-ดูที่สีไม่ได้ เพราะว่าสีที่ไม่เป็นอันตรายก็มี ถ้าคุณภาพของวัตถุดิบดีพอ ก็ไม่เป็นอันตรายต่อการใช้งาน

“แก้วโลหะหรือแก้วสเตนเลส”
-ธรรมชาติของโลหะจะไม่ทนกรดแก่ หรือกรดที่เข้มข้นสูง แต่ถ้าเป็นน้ำส้มที่ใช้รับประทานทั่วไป ความเป็นกรดมันน้อยมาก ในระดับที่ไม่สามารถจะทำให้เหล็กสเตนเลสเสีย หลุด หรือเกิดปฏิกิริยาใดๆ ได้

“แก้วที่ทำมาจากแก้ว”
-แก้วค่อนข้างจะทนต่อการที่เป็นรอยขีดขูด โอกาสที่จะมีสิ่งเจือปนเข้าไปตกค้าง ก็จะน้อยกว่าวัสดุประเภทอื่น
-แต่ถ้าคุณภาพของแก้วไม่ดี บางมากเกินไป ใส่น้ำร้อน ก็มีโอกาสจะทำให้แก้วนั้นแตกได้
-แก้วต้องระวังเรื่อง อุณหภูมิที่แตกต่างอย่างฉับพลัน ถ้าแก้วเปลี่ยนอุณหภูมิจากร้อนจัดไปเย็นจัด แก้วก็จะมีการหดตัวไม่ทัน (หรือจากเย็นจัดไปร้อนจัด ก็จะขยายตัวไม่ทัน) อาจจะทำให้แก้วแตกได้

“แก้วเซรามิก”
-เครื่องปั้นดินเผา หรือเซรามิก จะเก็บอุณหภูมิได้ดี และถ้าเป็นแก้วเซรามิกที่มีคุณภาพดีแล้ว การเคลือบสีหรือการมีลวดลายใดๆ ก็จะต้องเป็นการเคลือบที่ได้รับการรับรองว่าเป็นเกรดที่ใช้กับอาหารได้
-ถ้าเคลือบ มีคุณภาพต่ำ มันอาจหลุดปนเปื้อนเข้ามาในอาหารได้

“สรุปคือ การเลือกใช้แก้วชนิดต่างๆ ควรเลือกใช้ให้เหมาะกับงาน ว่าจะใช้ดื่มอะไร บรรจุอะไร เลือกที่ทำจากวัสดุที่มีคุณภาพดี เหมาะกับการบรรจุอาหาร” ถ้าจะใส่น้ำร้อน ก็เลือกแก้วที่ทนความร้อนได้ดี เช่น ทำจากแก้วหรือเซรามิก ถ้าไม่ต้องการนำมาล้างใช้ใหม่ ก็เลือกใช้แก้วกระดาษหรือแก้วพลาสติก ส่วนคำเตือนที่แชร์กันนั้น ยังไม่ถูกต้องทางวิชาการเพียงพอ ไม่ควรแชร์ต่อ..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์