“การขึ้นเป็นประธานาธิบดีไม่ได้เป็นเพียงแค่ความสำเร็จของฉัน แต่เป็นของทุกคนในประเทศ ที่พวกเขาสามารถฝันที่จะมาอยู่ในระดับนี้ได้” นางเมอร์มู กล่าวหลังพิธีสาบานตน

แม้ตำแหน่งประธานาธิบดีในอินเดียคือผู้นำของประเทศ แต่อำนาจบริหารทั้งหมดอยู่กับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งคนปัจจุบัน คือ นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี และผู้ที่ดำรงตำแหน่งจะมาจากการเลือกของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภา รวมถึงดินแดนสหภาพที่ปกครองโดยรัฐบาลกลาง

นางเมอร์มู ได้รับเลือกให้เป็นผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ภายหลังการอภิปรายรายชื่อ 20 คน ที่พรรคภารติยะ ชนตะ (บีเจพี) และฝ่ายพันธมิตรพิจารณาก่อนหน้านี้ ซึ่งเธอกล่าวว่า เธอรู้เรื่องการเสนอชื่อจากทางโทรทัศน์ และข่าวดังกล่าวทำให้เธอรู้สึกทั้ง “ประหลาดใจ” และ “ดีใจ”

อนึ่ง นางเมอร์มูกลายเป็นจุดสนใจในปี 2560 เมื่อมีข่าวลือว่า พรรคบีเจพีกำลังพิจารณาชื่อของเธอสำหรับการเลือกประธานาธิบดีของปีนั้น ซึ่งเธอกำลังดำรงตำแหน่งมุขมนตรีรัฐฌาร์ขัณฑ์อยู่

เมอร์มู เกิดเมื่อปี 2501 ในหมู่บ้านไบดูโปสี ของเขตมยุรพาจน์ และเป็นสมาชิกของชุมชนชาวสันตาล หนึ่งในกลุ่มชนเผ่าขนาดใหญ่ที่สุดของอินเดีย อีกทั้งยังเป็นบุตรสาวของหัวหน้าสภาหมู่บ้าน และเข้าศึกษาที่วิทยาลัยสตรีรามาเทวี ในเมืองเอกภุพเนศวร

เส้นทางการเมืองของนางเมอร์มูเริ่มต้นในปี 2540 เมื่อเธอได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาจากการเลือกตั้งท้องถิ่นในเมืองไรรังปุระ ซึ่งผู้คนมักจะเห็นเธอกำกับดูแลงานสุขาภิบาลในเมือง โดยยืนกลางแดดขณะที่มีการทำความสะอาดท่อระบายน้ำและการเก็บขยะ

Hindustan Times

นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2549-2552 นางเมอร์มู เป็นประธานฝ่ายบริหารของพรรคพีเจบี ด้าน “ชนเผ่าที่กำหนดตามกฎหมาย” หรือกลุ่มชนเผ่าที่รัฐธรรมนูญอินเดีย ยอมรับว่ามีความเสียเปรียบทางสังคมและเศรษฐกิจ

แม้ชีวิตของเธอต้องเจอกับความโศกเศร้าในปี 2552 เมื่อเธอสูญเสียบุตรชายคนโตในเหตุการณ์ลึกลับ และสูญเสียบุตรชายคนที่สองและสามีในไม่กี่ปีหลังจากนั้น แต่เธอพยายามรวบรวมสติตัวเอง จนเมื่อปี 2558 เธอได้รับการแต่งตั้งเป็นมุขมนตรีหญิงคนแรกของรัฐฌาร์ขัณฑ์ และดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 6 ปี จนถึงเดือน ก.ค. 2564 รวมถึงได้รับการชื่นชมในการเปิดกว้างต่อผู้คนจากทุกสาขาอาชีพ

ด้าน นายราชกิชอร์ ดาส ที่ปรึกษาทางการเมืองของนางเมอร์มู กล่าวว่า มีหลายเหตุการณ์ที่เธอถูกมองว่าทำการละเมิดระเบียบการ แต่เธอก็ไม่ได้สนใจมากนัก นายดาส กล่าวเสริมว่า ส่วนที่โดดเด่นที่สุดในบุคลิกของนางเมอร์มูคือ “ความใจเย็นของเธอในยามสุขและยามทุกข์ และความสุขุมของเธอเมื่อเผชิญกับโศกนาฏกรรม”

“วิธีที่เธอตั้งสติและทำงานเพื่อประชาชนต่อไป แม้จะต้องเจอกับเรื่องเศร้าในครอบครัวหลายครั้งก็ตาม แสดงถึงความเข้มแข็งที่โดดเด่นของตัวบุคคล”.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES