จากกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือกองคดีฮั้วประมูล ดำเนินการสืบสวนสอบสวน 2 บริษัทของนายประวีณ จันทร์คล้าย หรือ “กำนันนก” ในฐานะกรรมการบริษัท ได้แก่ บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด และบริษัท ป.รวีกนก ก่อสร้าง จำกัด ซึ่งทั้งสองแห่งรับโครงการจากหน่วยงานภาครัฐ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ถึงปัจจุบัน รวม 20 โครงการ โดยเป็นโครงการที่มีมูลค่าวงเงินสัญญาตั้งแต่ 30 ล้านบาทขึ้นไป กระทั่งอธิบดีดีเอสไอได้ตรวจสอบพยานเอกสารและหลักฐานก่อนพิจารณาอนุมัติรับเป็นคดีพิเศษที่ 82/2566 จำนวน 19 โครงการ จากทั้งหมด 20 โครงการ เพื่อดำเนินการทางคดี และคณะพนักงานสอบสวนได้มีการเปิดปฏิบัติการลงพื้นที่ตรวจสอบจุดต่างๆ ที่คาดว่าเป็นจุดที่มีความเกี่ยวข้องกับบุคคลที่จัดให้มีการฮั้วประมูลเกิดขึ้น ตามที่ได้นำเสนอข่าวมาอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

2เดือนชัด! อธิบดี DSI แจงคดีฮั้วประมูล ‘กำนันนก’ คาดมีเจ้าหน้าที่รัฐเอี่ยว

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 18 ต.ค. ที่ ศูนย์ราชการฯ อาคารเอ ชั้น 2 ห้องรับรองกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มอบหมายให้นายธีรนิติ จันทร์ประวิตร ผู้ช่วยโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือกองคดีฮั้วประมูลฯ ร่วมกันแถลงความคืบหน้า กรณีปฏิบัติการตรวจค้นหาพยานหลักฐานคดีฮั้วประมูล เครือข่ายกำนันนก 5 แห่ง

​นายธีรนิติ จันทร์ประวิตร ผู้ช่วยโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือกองคดีฮั้วประมูลฯ มีเหตุอันควรสงสัยว่า บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด รวมทั้งบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องได้ใช้สถานที่ดังกล่าวข้างต้นทั้ง 5 แห่ง ในการกระทำความผิดดังกล่าว และน่าเชื่อว่ามีทรัพย์สิน เอกสาร สิ่งของหรือข้อมูลในโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือในระบบคอมพิวเตอร์หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ซึ่งมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้ใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาจากการกระทำความผิด หรือซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ ได้เก็บอยู่ที่บ้านพักอาศัยและสถานประกอบการ จึงได้ขออนุมัติหมายค้นต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ทำการตรวจค้นเป้าหมาย จำนวน 5 แห่ง

​นายธีรนิติ กล่าวอีกว่า โดยเมื่อวันที่ 17 ต.ค. ที่ผ่านมา ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.ต.สุทศธวรรศ อารีย์รัตนะนคร ผอ.กองปฏิบัติการพิเศษ ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติการร่วมกับเจ้าหน้าที่ศูนย์สืบสวนและสะกดรอย เจ้าหน้าที่ส่วนปฏิบัติการพิเศษ เจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่

ปรากฏผลการตรวจค้น ดังนี้ 1.บ้านของนางพร (นามสมมุติ) อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม ตรวจยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ 8 เครื่อง และเอกสารการเคลื่อนไหวทางบัญชี สมุดบันทึก 2.ร้านของนายอ้วน (นามสมมุติ) อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม ตรวจยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ จำนวน 3 เครื่อง และสมุดบันทึกซึ่งปรากฏหมายเลขบัญชีธนาคารและชื่อบัญชี 3.บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม ตรวจยึดเอกสารสัญญาจ้างที่มีมูลค่างานตั้งแต่ 30 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ จำนวน 20 แฟ้ม ​​4.บริษัท เวฬา จำกัด อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม ตรวจยึดเอกสาร 5 รายการ และ 5.บ้านของภรรยานายหน่อง (มือปืนยิงสารวัตรแบงค์) อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ตรวจยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง

นายธีรนิติ กล่าวว่า จากการเข้าตรวจค้นพื้นที่ทั้ง 5 จุด คณะพนักงานสอบสวนจะได้นำพยานหลักฐานที่ได้ไปทำการเชื่อมโยงกับพยานหลักฐานที่ได้จากการสืบสวนสอบสวน เพื่อขยายผลดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อไป หากพบว่ามีบุคคลหรือเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐใดเข้าไปเกี่ยวข้องก็จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอขอบคุณประชาชนและเครือข่ายภาคประชาชนที่ได้แจ้งเบาะแสการกระทำความผิดในคดีพิเศษด้วยดีเสมอมา เพื่อให้การดำเนินการปราบปรามผู้มีอิทธิพล ผู้กระทำความผิด รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษยินดีรับทราบข้อมูลการแจ้งเบาะแสและข้อร้องเรียนได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1202 (โทรฟรีทั่วประเทศ) หรือเว็บไซต์กรมสอบสวนคดีพิเศษ www.dsi.go.th

ด้าน ร.ต.อ.สุรวุฒิ ผอ.กองคดีฮั้วฯ กล่าวว่า สำหรับ 19 โครงการที่ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ ได้ผ่านการเห็นชอบจากพนักงานอัยการ เนื่องจากคดีดังกล่าว เป็นคดีพิเศษตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (ง) คดีความผิดทางอาญาที่มีผู้ทรงอิทธิพลที่สาคัญเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน และเพราะมีพฤติการณ์น่าสงสัยหลายประการ ทั้งจากประเด็นการเสนอราคา และการยื่นซื้อซองเสนอราคา รวมถึงการเข้าร่วมประมูลราคาวันเปิดซอง (e-bidding) ที่พอถึงวันประมูลราคาเหลือผู้ยื่นซื้อซองเพียงน้อยราย และยังมีการชนะราคากันด้วยจำนวนที่ไม่มาก และมีราคาที่เหมือนกันหลายโครงการ อีกทั้งจากการที่มีพนักงานอัยการเข้าร่วมประชุมหารือในการกำหนดทิศทางการทำคดี เห็นชอบให้มีการค้นเป้าหมาย ซึ่งเชื่อว่ามีการจัดให้ฮั้วประมูลทั้ง 5 จุด

โดยใน 4 จุดแรก เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เคยเข้าค้น เพราะตำรวจเคยเข้าค้นเพียงบ้านเลขที่ 30/1 (บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด หรือบ้านของผู้ใหญ่โยชน์) ซึ่งดีเอสไอเข้าไปค้นหาเอกสารอีกชุดหนึ่ง ไม่ซ้ำกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เคยได้มีการดำเนินการไปก่อนแล้ว แต่ก็ได้มีการประสานกันตลอด และการเข้าตรวจยึดเอกสารในครั้งนี้ของดีเอสไอ เพื่อค้นหาว่าใครเป็นผู้ดำเนินการให้ ใครเป็นคนไปยื่นราคา หรือกำหนดราคา ใครทำหน้าที่วิศวกรในการกำหนดราคาต่างๆ เป็นต้น ซึ่งทั้ง 4 จุดดังกล่าว ดีเอสไอเชื่อว่าเป็นกลุ่มที่จัดให้มีการฮั้วประมูลให้กับกำนันนกเป็นหลัก และดีเอสไอได้เอกสารสำคัญหลายรายการจากการเข้าค้น และอยู่ระหว่างรอผลการตรวจพิสูจน์จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เป็นความลับแล้วจัดทำรายงานเสนอมายังดีเอสไอ ซึ่งเป็นเอกสารที่อยู่ในกลุ่มของผู้จัดฮั้วประมูลเดิมที่ดีเอสไอมีฐานข้อมูลอยู่แล้ว และเอกสารก็เป็นตัวเดียวกันกับเบอร์โทรศัพท์ที่ดีเอสไอเจออีกด้วย ทั้งนี้ ยังไม่อยู่ในขั้นตอนที่สรุปได้ว่า กำนันนกมีส่วนในการฮั้วประมูล ขอเวลาในการรวบรวมพยานหลักฐาน

“ทั้ง 5 จุดที่ดีเอสไอเข้าค้น มีลักษณะ คือ 2 จุดรับหน้าที่เป็นผู้จัดฮั้วประมูล ส่วนอีก 1 จุด เป็นของภรรยามือปืน (นายธนัญชัย หมั่นมาก หรือ หน่อง ท่าผา) ส่วนอีก 1 จุด คือ บริษัท ป.พัฒนารุ่งโรจน์ก่อสร้าง จำกัด และอีก 1 จุด คือ บริษัทเวฬา จำกัด เป็นบริษัทของน้องชายกำนันนก” ผอ.กองคดีฮั้วประมูลฯ กล่าวเสริม

ร.ต.อ.สุรวุฒิ กล่าวอีกว่า กลุ่มต่างๆ ที่ดำเนินการจัดให้มีการฮั้วประมูลนี้ จะมีการใช้โทรศัพท์ในการสื่อสารกันและดีเอสไอมีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งที่พบตามเอกสารทั้ง 19 โครงการ จะเห็นตรงกันว่าในแต่ละโครงการจะมีคนเข้าซื้อซองเสนอราคาจำนวนเยอะ โดยเฉพาะโครงการสุดท้าย ปี 65 มีคนเข้ายื่นซื้อซองเสนอราคาถึง 52 ราย แต่เหลือเพียงหนึ่งรายที่เข้าเปิดซองก็คือบริษัทของกำนันนก จึงเป็นพฤติการณ์ที่เราจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าใครบ้างเป็นผู้ที่อยู่ในกระบวนการจัดฮั้วประมูล และผู้กระทำผิดในขั้นตอนต่างๆ มีใครบ้าง

ร.ต.อ.สุรวุฒิ กล่าวถึงระบบการฮั้วประมูลในประเทศไทยว่า ระบบการยื่นประมูลของประเทศไทย มี 3 เฟส ประกอบด้วย เฟสแรก เรียกว่าการยื่นซื้อซอง ซึ่งวันที่มาเสนอราคา จะต้องไปที่สถานที่เพื่อยื่นซองเสนอราคา ตอนหลังพบว่ามีกลุ่มชายไม่ทราบชื่อ แต่งตัวคล้ายทหารตำรวจไปดำเนินการกีดกัน อุ้มตัวไม่ให้เสนอราคา เพื่อกีดกันราคาเลยเกิดการฮั้ว จากนั้นปี 2548 มีการปรับระบบเป็นระบบ e-Auction เป็นการประกวดราคาโดยอิเล็กทรอนิกส์ แต่เป็นการยื่นซองเสนอราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ แต่วันเสนอราคายังเจอกันอยู่ โดยจะไปที่สถานที่แห่งหนึ่งที่ถูกรัฐกำหนดให้เป็นตลาดกลาง แต่ก็ยังพบปัญหา คือ จะมีกลุ่มคนที่ไปยืนรอ มีการตกลงกันในเรื่องราคา ท้ายสุดเกิดความไม่โปรงใสเหมือนเดิม จนปี 2559 เกิดระบบ e-bidding เข้าใจว่าทันสมัยและดีที่สุด

ร.ต.อ.สุรวุฒิ กล่าวอีกว่า แต่ระบบนี้มีข้อดี 2 อย่าง คือ ตอนยื่นเอกสารไม่เจอกัน และในวันเสนอราคาก็ไม่เจอกัน ยื่นผ่านระบบยูสเซอร์เนมและรหัสที่รัฐกำหนดให้ ไม่มีปัญหาในเรื่องกีดกันราคา แต่เกิดขึ้นมาด้วยกลุ่มหนึ่งที่เข้าถึงข้อมูลภาครัฐและนำข้อมูลต่างๆ ออกมา เพื่อให้รู้ว่าในจำนวนผู้ที่ยื่นซื้อซองประกวดราคามีใครบ้าง และจะมีกลุ่มที่ดำเนินการติดต่อไปยังเบอร์โทรศัพท์ของผู้ยื่นซื้อซองเพื่อกีดกันราคา หรือใช้วิธีการใดก็ตามเพื่อไม่ให้บุคคลเหล่านี้เข้าไปในวันเสนอราคา ท้ายสุดจึงเห็นว่าจะมีผู้เสนอราคาเปิดซองเหลือเพียงแค่ 3-4 รายเท่านั้น ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้กำหนดราคาได้ว่าใครจะยื่นเท่าไร ดังนั้น สิ่งที่เราไปค้นเพราะต้องการหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าคนที่เข้าถึงข้อมูลและดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ ดำเนินการผ่านโทรศัพท์เครื่องใด และกลุ่มที่เราเข้าไปค้นเป็นกลุ่มที่อยู่ในฐานการสืบสวนเดิมที่มีอยู่แล้ว เราจึงได้มีการขยายผลเพิ่มเติม

ร.ต.อ.สุรวุฒิ กล่าวว่า 4 กลุ่มที่ดีเอสไอเข้าค้น ไม่อยู่ในการให้ปากคำของพยานทั้ง 58 ราย แต่เป็นกลุ่มดำเนินการ เป็นผู้จัดการเรียกว่า “ผู้จัดฮั้ว” คอยทำหน้าที่เป็นผู้หาข้อมูลเรื่องของกลุ่มคนที่เสนอราคาซื้อซอง และทำหน้าที่กีดกันไม่ให้มีการเข้าร่วมการเสนอราคา และมีการตกลงราคาในเรื่องของการให้ผลประโยชน์ตอบแทน เพื่อไม่ให้คนที่ซื้อซองนั้น เข้าร่วมเปิดซองเสนอราคาในวันประมูลโครงการ จึงทำให้ได้มาซึ่งผู้ชนะการประมูลเพียงเจ้าเดียว ก็คือ 19 โครงการ ที่กำนันนกชนะนั่นเอง อีกทั้ง 4 กลุ่มดังกล่าว ก็เป็นเอกชน รู้จักกับกำนันนก นอกจากนี้ ดีเอสไอยังมีพยานหลายส่วนทั้งส่วนที่ยืนยันกับส่วนที่ยืนยันทางอ้อม ส่วนที่ยืนยันจริง เราก็ให้เข้าสู่โครงการคุ้มครองพยาน

ร.ต.อ.สุรวุฒิ กล่าวต่อว่า ดีเอสไอดำเนินการรวบรวมพยานหลายส่วนไม่ใช่แค่เพียงเรื่องโทรศัพท์มือถือแต่ยังรวมถึงการตรวจสอบเส้นทางการเงินด้วย และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ยังดำเนินการไม่ถึงขั้นตอนที่เห็นได้ว่าเส้นทางการเงินมีการทำธุรกรรมกับกำนันนก นอกจากนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนรวบรวม ยังไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหากับบุคคลใด

เมื่อถามว่าที่ผ่านมามีพยานเข้าให้ปากคำกี่บริษัท (จากหมายเรียก 58 บริษัท) ร.ต.อ.สุรวุฒิ กล่าวว่า เข้าให้ปากคำ 54 บริษัท ส่วนอีก 4 บริษัทขอเลื่อน และบางส่วนใช้วิธียื่นเอกสารแทน แต่จะมีการออกหมายเรียกพยานอีกครั้ง เพราะในหลายๆ โครงการมีการยื่นเสนอราคาซ้ำจริง และจะเรียกให้เข้ามารับทราบข้อมูลว่าในวันที่มีการยื่นซื้อซอง ได้มีการถูกกีดกันหรือไม่ มีโทรศัพท์เข้ามาอย่างไร และสุดท้ายดีเอสไอจะตรวจเส้นทางทางการเงินว่ามีความเกี่ยวข้องในส่วนใดบ้างหรือไม่ ทั้งนี้ มีพยานบางรายจากทั้ง 58 บริษัท ได้ให้การยอมรับว่าถูกข่มขู่จริง ถูกกีดกันไม่ให้เข้าร่วมในวันประมูลโครงการ (e-bidding) และดีเอสไอได้คุ้มครองพยานเรียบร้อยแล้ว 1 ราย

ร.ต.อ.สุรวุฒิ ยืนยันว่า ปัจจุบันจากการสอบปากคำพยานบริษัทบางส่วน ดีเอสไอยังไม่ได้มีการออกหมายเรียกผู้ต้องหาแก่พยานรายใด จากนี้จะเร่งดำเนินการสืบสวนสอบสวนและจะแจ้งความคืบหน้าให้สาธารณะได้รับทราบอีกครั้ง และสิ่งที่ดีเอสไอกำลังอยู่ระหว่างพิสูจน์ทราบ คือ ข้อมูลของผู้ซื้อซองเสนอราคาหลุดออกไปให้กับกลุ่มผู้จัดฮั้วได้อย่างไร และอยากทราบถึงความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ อีกทั้งขณะนี้มีข้อมูลบางส่วน ข้อมูลการสืบสวนที่พบความเชื่อมโยงว่าอาจมีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐใดมีส่วนในการดึงนำข้อมูลออกมา แต่เรายังไม่ได้มีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐใด

ร.ต.อ.สุรวุฒิ ปิดท้ายว่า ที่ผ่านมาดีเอสไอได้มีการออกหมายเรียกพยานหลายกลุ่ม ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มที่เป็นเจ้าของโครงการ ไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หรือ กรมทางหลวง เป็นต้น ซึ่งหลายหน่วยงานดังกล่าวก็ได้มีการส่งเอกสารมาให้พนักงานสอบสวน หลังจากนี้ก็จะมีการเรียกกลุ่มผู้ที่เคยยื่นซื้อซองเสนอราคา ซึ่งจะมีอีกจำนวนมาก ก็จะทยอยดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง ยืนยันว่า ณ จนถึงตอนนี้ ดีเอสไอยังไม่ได้เข้าไปสอบปากคำกำนันนกภายในเรือนจำฯ.