หลังจากทีมข่าว “Special Report” นำเสนอเรื่องราวราคา “ทองคำ” พุ่งสูงกว่าบาทละ 31,000 บาท ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจัยสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน รวมทั้งปัญหาเงินเฟ้อ แต่ราคาเริ่มกลับมานิ่ง เคลื่อนไหวน้อยในสัปดาห์นี้

นอกจาก “ทองคำ” แล้ว! คงต้องพูดถึงเรื่อง “น้ำมัน” เพราะสัปดาห์ที่แล้วได้ปรับตัวขึ้นสูงเป็นรายวันเช่นกัน วันนี้ทีมข่าว “Special Report” จึงคุยกับ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต​ รมว.พลังงาน สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เกี่ยวกับทิศทางของราคาน้ำมัน และข้อเสนอแนะต่างๆ

ราคาน้ำมันดิบลดลง-ไทยต้องนำเข้า​ 90%

นายพิชัย​ กล่าวว่ารอบนี้ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นไปแตะ 130 ดอลลาร์/บาร์เรล (6-7​ มี.ค.65) หลังจากมีข่าวสหรัฐ-ยุโรป​ จะแบนการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย แต่ปัจจุบัน (15​ มี.ค.65) สถานการณ์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน​ มีการเจรจาไปในทางที่ดี ขณะที่ประเทศจีนซึ่งมีการบริโภคน้ำมันมากที่สุดในโลก เพราะมีประชากรมากที่สุด แต่ตอนนี้จีนกำลังล็อกดาวน์เพราะโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนกำลังระบาดหนัก เขาต้องการเซตซีโร่โดยเร็ว ดังนั้นการใช้น้ำมันในจีนจึงลดลง

จาก 2 ปัจจัยสำคัญคือปัญหารัสเซีย-ยูเครน และจีนล็อกดาวน์ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงมาต่ำกว่า 100 ดอลลาร์/บาร์เรล ป้วนเปี้ยนอยู่แถวๆ 96-97 ดอลลาร์/บาร์เรล โดยส่วนตัวเชื่อว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ 100 ดอลลาร์ต้นๆ/บาร์เรล เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกยังมีสูงอยู่ เพราะสัญญาณทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว หลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 กันมา 2 ปี และถ้าจีนกลับมาเปิดประเทศเต็มรูปแบบเมื่อไหร่ ความต้องการใช้น้ำมันจะมีมากขึ้น เพราะอย่าลืมว่าปี 63 “จีดีพี” จีนโต 2.3% ปี 64 จีดีพียังโตถึง 8.1% นี่ขนาดจีนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เหมือนกับประเทศอื่นๆ​ ทั่วโลก

สำหรับประเทศไทย มีความต้องการใช้น้ำมันดิบวันละประมาณ 1 ล้านบาร์เรล ตัวเลขความต้องการอยู่ระดับนี้มาหลายปีแล้ว เพราะประชากรไทยไม่ได้เพิ่มขึ้น สมัยตนเป็น​ รมว.พลังงาน การนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 85% อีก 15% เป็นน้ำมันดิบที่ผลิตได้ภายในประเทศ จากแหล่งน้ำมันดิบที่อยู่บนบก และในทะเล

แต่ปัจจุบันเนื่องจากเรามีแหล่งน้ำมันดิบน้อย และปริมาณการผลิตลดลง สัดส่วนการนำเข้าจึงขึ้นมาอยู่ที่ 90% ส่วนใหญ่มาจากตะวันออกกลางและรัสเซีย อีก 10% เป็นน้ำมันดิบที่ผลิตได้ในประเทศ

สงสัย? ราคาหน้าโรงกลั่นฯ-ค่าการตลาด

“ผมตั้งคำถามไปยังรัฐบาลและกระทรวงพลังงานมาโดยตลอด ว่าทำไมราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นฯ​ บ้านเราที่ขายในประเทศ จึงแพงกว่าน้ำมันสำเร็จรูปที่ส่งออกไปขายให้ประเทศเพื่อนบ้าน คุณขยายกำลังการผลิตของโรงกลั่นฯ เพื่อการส่งออกน้ำมันไปประเทศเพื่อนบ้านในราคาที่ถูกกว่าขายให้คนไทยใช้หรือเปล่า หรือว่ายังต้องบวกค่าขนส่ง ค่าประกัน ค่าระเหย ตามสูตรที่เคยนำเข้าน้ำมันจากสิงคโปร์”

นายพิชัย​ กล่าวต่อไปว่า​ ประการต่อมาตนมีความสงสัยในเรื่อง “ค่าการตลาด” จากข้อมูลปี 63 ค่าการตลาดการขายน้ำมันอยู่ที่ลิตรละ 2.30 บาท ปี 64 ลิตรละ 2.14 บาท ต่อมาปี 65 เดือน​ ม.ค.ค่าการตลาดอยู่ที่ลิตรละ 1.31 บาท เดือน​ ก.พ. ลิตรละ 1.71 บาท และเดือน​ มี.ค.นี้ ลิตรละ 0.77 บาท นั่นแสดงว่าไม่ว่าจะได้ค่าการตลาด (กำไร) ลิตรละเท่าไหร่ ปั๊มน้ำมันยังอยู่ได้สบาย แต่ประชาชนเดือดร้อน!

นอกจากนี้ต้องพูดกันตามตรงว่ารัฐบาล​ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โชคดีมาตลอด 7 ปี เพราะเข้ามาบริหารประเทศช่วงที่ราคาน้ำมันถูก ช่วยประหยัดเงินในการนำเข้าน้ำมันดิบปีละ 5-6 แสนล้านบาท เงินก้อนนี้น่าจะช่วยดันจีดีพีให้ดีขึ้น แต่เปล่าเลย! รัฐบาล​ พล.อ.ประยุทธ์​ เพิ่งมาเจอปัญหาน้ำมันแพงช่วงไม่กี่เดือนนี้ หากเป็นประเทศที่ฉลาดๆ ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี เขาต้องลดภาษีด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มเงินในกระเป๋าให้ประชาชน

รัฐต้องปรับตัวรับสภาพถ้าไม่มีภาษีน้ำมัน

สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์​ เคยลดการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลเหลือลิตรละ 0.005 บาท คือเก็บก็เหมือนไม่เก็บ รัฐบาลยอมสูญเสียรายได้ก้อนนี้ไปปีละกว่า 1 แสนล้านบาท แต่เงินดังกล่าวไปอยู่ในกระเป๋าประชาชนระดับกลาง-ล่าง ที่ใช้น้ำมันดีเซล

แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปมาก ดังนั้นรัฐบาลอย่ามัวคิดแต่จะเก็บภาษีน้ำมันได้ปีละกว่า 2 แสนล้านบาท ถ้าขาดเงินก้อนนี้แล้วรัฐเดือดร้อนแน่ๆ เนื่องจากไม่มีเงินไปซ่อมแซมถนน ตนคิดว่าเป็นตรรกะที่ผิด เพราะวันนี้ต้องคิดว่าถ้าไม่มีเงินจากภาษีน้ำมันรัฐก็อยู่ได้ จากเหตุผลอีก 1-2 ปีข้างหน้า คนจะหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น จะใช้พลังงานทดแทนจากแสงแดดและลมมากขึ้น ถ้าน้ำมันยังแพงอยู่ลิตรละ 37-40 บาท (กลุ่มเบนซิน)

ตอนนี้คนขับรถยนต์แพงๆ ต้องจ่ายค่าน้ำมัน 4-5 บาท/กิโลเมตร หรือถ้าเป็นรถยนต์ดีเซลอาจจะ 3-4 บาท/กิโลเมตร ก็เปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าซึ่งมีค่าใช้จ่ายแค่ 0.40 บาท/กิโลเมตร ค่าใช้จ่ายแตกต่างกันแบบนี้ ผู้คนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้รถยนต์กันเกือบหมด

ฝาก​ 9​ ข้อไปยังรัฐบาล​ “ประยุทธ์”

อย่างไรก็ตามตนมีเรื่องนำเสนอ 9 ข้อ ฝากไปยังรัฐบาล​ พล.อ.ประยุทธ์ คือ 1.การเร่งเปลี่ยนให้เอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มของประเทศ เพื่อให้ประชาชนสามารถติดต่อราชการประหยัดเวลาในการเดินทาง อีกทั้งพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีต่อเนื่องได้มากขึ้น 2.เร่งพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่ใช้พลังงานไฟฟ้าให้มากขึ้น และในราคาที่ถูกลง รวมถึงเร่งส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้มากขึ้น รวมถึงพาหนะในรูปแบบอื่นที่ใช้พลังงานไฟฟ้า

3.เร่งพัฒนาการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานหมุนเวียนที่เป็นอนาคตของโลก เพื่อแทนที่การใช้พลังงานจากฟอสซิลให้เร็วที่สุด​ 4.เร่งเจรจาหาแหล่งพลังงานที่สามารถนำขึ้นมาใช้ได้ เพื่อลดราคาพลังงานที่ต้องนำเข้า 5.ปรับเปลี่ยนเมืองใหญ่ให้เป็นเมืองอัจฉริยะที่เป็นอัจฉริยะจริงๆ ที่ต้องประหยัดพลังงาน และ ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม 6. ลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นของรัฐบาล ค่าใช้จ่ายใดยังไม่จำเป็นต้องตัดออกทันที หรือเลื่อนไปก่อนเช่น ยกเลิกการซื้อเครื่องบินรบ F-35 ค่าใช้จ่ายการดูงานต่างประเทศ ตัดเงินเดือน​ ส.ว. และผู้ติดตามลงครึ่งหนึ่ง ขอเงินคืนค่าเรือดำน้ำที่ยังไม่มีเครื่องยนต์ เป็นต้น เพื่อนำมาใช้ช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนก่อน

7.นำเงินกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจำนวน 20,087.42 ล้านบาท ที่​ พล.อ.ประยุทธ์​ โอนไปเป็นรายได้รัฐกลับคืนมา เพื่อไม่ให้กองทุนน้ำมันต้องกู้มากเกินไป 8.ลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงเหลือลิตรละ 0.005 บาท เพื่อคงราคาดีเซลให้ต่ำกว่าลิตรละ 30 บาท และภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซินยังมีอยู่อีกลิตรละ 2.99 บาท ที่ยังจะลดได้ และ 9.ควรบริการรถเมล์ฟรี รถไฟฟรีในช่วงนี้ เพื่อแบ่งเบาภาระของประชาชน.