ด้วยความ “วิตกกังวล” ว่า “โลมา” ฝูงสุดท้าย ในทะเลสาบสงขลาอาจจะต้อง “สูญพันธ์ุ” หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถที่จะปกป้องชีวิตของโลมาฝูงนี้ ให้พ้นจากความตายที่เกิดขึ้น

ในอดีตทะเลสาบสงขลาเป็นทะเลสาบ ที่ได้ขึ้นชื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์น้ำและพืชทะเลที่เป็นอาหารของผู้คน และสัตว์น้ำ โดยเฉพาะ โลมา ซึ่งอาศัยอยู่ใน ทะเลสาบตอนบน ตั้งแต่ ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา จนถึง “ทะเลน้อย” อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ซึ่งในอดีตในทะเลสาบแห่งนี้จะมี ฝูงโลมา นับร้อย ๆ ตัว หากิน ออกลูกออกหลาน แพร่พันธุ์อย่างอิสระเสรีเพราะไม่ถูกรบกวนจากผู้มีอาชีพทำการประมง และมีอาหารที่อุดมสมบูรณ์โดยไม่ต้องออกมา “หาอาหาร” นอกพื้นที่ของ “ทะเลสาบตอนใน”

แต่ ณ วันนี้ ฝูงโลมาที่เคยมีอยู่นับร้อยตัว เหลือรอดมีชีวิตอยู่ นับในเดือนพฤษภาคม 2565 เพียง 14 ตัว เมื่อข่าวนี้มีการเผยแพร่ออกไป ยิ่งทำให้มีเสียงถามจากภาคประชาสังคม นักอนุรักษ์ และประชาชน กลุ่มที่มีความ หวงแหนการอยู่รอดของโลมา ฝูงสุดท้าย ด้วยการตั้งคำถามถึงหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการพิทักษ์ฝูงโลมาฝูงสุดท้ายเพื่อไม่ให้ถึงกาลต้องสูญพันธุ์อย่างไรบ้าง นักวิชาการ บางคน ถึงกับตั้งคำถามต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า “จำเป็น” ที่จะต้องอพยพฝูงโลมาฝูงสุดท้ายไปอยู่ในที่ปลอดภัยได้หรือไม่

หน่วยงาน “ราชการ” ซึ่งมีหน้าที่ในการปกป้องและซ่อมสร้างให้เกิดความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ได้แก่ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง ซึ่ง ณ ขณะนี้มี นางสาวราตรี สุขสุวรรณ์ เป็นผู้อำนวยการ และมีที่ทำการอยู่ที่หมู่ 8 ต.พะวง อ.เมือง จ.สงขลาซึ่งศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง มีนักวิชาการที่ทำหน้าที่ในการติดตามตรวจสอบ วิจัยสิ่งมีชีวิตในชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง โดยเฉพาะกับเรื่องของ โลมา ฝูงสุดท้าย ที่เป็นประเด็นของความ “ห่วงใย” เพราะหวั่นว่าการที่ “โลมา” ฝูงสุดท้ายที่มีอยู่ต้องเสียชีวิตไปเรื่อย ๆ ปีละหลาย ๆ ตัว โอกาสที่คนรุ่นต่อไปของ จ.สงขลา จะได้เห็น โลมาเป็น ๆ ที่อวดโฉมอยู่ในทะเลสาบสงขลา อาจจะไม่มีอีกแล้ว

หนึ่งในนักวิชาการของศูนย์วิจัยแห่งนี้ ได้เปิดเผยถึงรายละเอียดของวิกฤติของโลมาฝูงสุดท้าย ในทะเลสาบสงขลาว่าขณะนี้มี “โลมา” เหลืออยู่ 14 ตัว โดยตัวที่ 15 เพิ่งจะเสียชีวิตจากการที่มี บาดแผล ของการเข้าไป ติดอวน ของชาวประมงที่ทำประมงในพื้นที่ ทะเลสาบตอนบนซึ่งเป็นที่อาศัยและหากินของปลาโลมาฝูงนี้

สาเหตุการเสียชีวิตของปลาโลมาในทะเลสาบสงขลา มาจากการป่วยไข้และการบาดเจ็บจากการออกหากิน และเข้าไปติดเครื่องมือการทำประมงของชาวประมงทำให้เกิดบาดแผลและบาดเจ็บจนเสียชีวิตในที่สุด รวมทั้งการ “เจ็บป่วย” จาก
สาเหตุอื่น ๆ ที่อาจจะมาจากเรื่องของสิ่งแวดล้อมทางทะเลที่เปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ

นอกจากการเฝ้าติดตามเพื่อดูแลความเป็นอยู่ของโลมาฝูงนี้เพื่อให้ความปลอดภัยแล้ว สิ่งหนึ่งที่เราทำอย่างเข้มข้นคือการขอความร่วมมือจากชาวประมงที่ ทำการประมงในพื้นที่ของทะเลสาบสงขลา ทั้งตอนบน และตอนล่าง ที่ “โลมา” อาจจะเข้ามาหากิน เพื่อให้ช่วยกันระวัดระวัง อย่าให้โลมาเข้ามาติดเครื่องมือประมง และหากมี “โลมา” ติดเครื่องมือประมง ต้องให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เพื่อเป็นการช่วยชีวิตของโลมา ที่เข้ามาติดอวนหรือเครื่องมือประมงอื่น ๆ

ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ประกอบอาชีพประมงในทะเลสาบสงขลา ได้ให้ความร่วมมือในการดูแลและอนุรักษ์ฝูงปลาโลมาฝูงนี้เป็นอย่างใด แต่ด้วยที่เขามีอาชีพในการทำประมงซึ่งเป็นวิถีชีวิตของเขา ที่เราไม่สามารถขีดเส้น หรือบริเวณในการทำประมง และ ขณะเดียวกัน “โลมา” ก็ออกหากิน ในพื้นที่ของ “ทะเลสาบ” ที่เราไม่สามารถกำหนดพื้นที่ของการหากินได้เช่นกัน การที่จะบอกว่าต้องทำให้ปลาโลมาฝูงนี้ปลอดภัย 100% จากเครื่องมือการทำประมง จึงเป็นไปไม่ได้ สำคัญที่สุดคือการขอความร่วมมือจาก “ชาวประมง” เท่านั้น

และพบกัน “โลมา” ฝูงสุดท้ายใน “ทะเลสาบสงขลา” ตอนที่ 2 ซึ่งจะพูดถึงการเสนอให้มีการอพยพปลาโลมาฝูงสุดท้ายในทะเลสาบสงขลา ไปอาศัยยังท้องทะเลที่อื่น ๆ ว่าเป็นไปได้มากน้อยขนาดไหน พบกันวันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน 2565.