เพิ่งเข้ามาทำงานที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อวันที่ 20 เม.ย.65 แต่ “5 กสทช.” ชุดนี้จากทั้งหมด 7 คน (อีก 2 คนยังอยู่ในขั้นตอนของวุฒิสภา) ต้องเข้ามารับช่วงต่อกรณี “เผือกร้อน” เกี่ยวกับการควบรวมกิจการระหว่าง 2 ค่ายโทรศัพท์มือถือ “ทรู-ดีแทค” จะได้ข้อสรุปอย่างไร

ทีมข่าว Special Report มีโอกาสสนทนากับ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. เกี่ยวกับเรื่องราวที่หลายภาคส่วนกำลังรอบทสรุปการควบรวมกิจการทรู-ดีแทค จะออกมาในรูปแบบใด และเมื่อไหร่?

กรอบการทำงาน 60 วัน-ยังไม่มีสัญญาณใดๆ

ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ กล่าวว่ากรณีดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องใหม่ของ กสทช.ทั้ง 5 คน คือใหม่หมดทั้งสถานที่ทำงาน เพื่อนร่วมงาน และของร้อนที่ทุกคนจับจ้องอยู่คือกรณีทรู-ดีแทค ซึ่ง 5 กสทช. เข้ามารับตำแหน่งในช่วงรอยต่อ ถ้าไม่ได้เข้ามานั่งทำงานตรงนี้ จะไม่รู้ว่ามีรายละเอียดข้อมูลข่าวสารอะไรบ้าง ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ดังนั้นเมื่อเข้ามารับไม้ต่อจึงต้องทำอะไรให้รอบคอบที่สุด

ที่สำคัญคือยังมากันไม่ครบ 7 คน อีก 2 คนที่ยังไม่มาคือกสทช.ทางด้านกฎหมาย และ กสทช.ทางด้านโทรคมนาคม ดังนั้นการทำงานตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งจึงต้องตั้งอนุกรรมกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณา 2 ประเด็นอย่างรอบคอบ คือ 1.กฎหมายเกี่ยวกับการควบรวม 2.เศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับการควบรวม มีผลกระทบต่อตลาด ผลกระทบต่อผู้บริโภค และโอปเรเตอร์รายใหม่อย่างไรบ้าง

กสทช.ทั้ง 5 คน ต้องเรียนรู้ว่า กสทช.ชุดที่แล้วทำอะไรไว้ถึงไหน กฎหมายว่าอย่างไร และเราจะมีแนวทางเดินต่ออย่างไร นี่คือที่มาของการตั้งอนุกรรมการทางด้านต่างๆ ขึ้นมาช่วยพิจารณา ซึ่งตอนนี้เริ่มมีไอเดีย เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้ว และกรณีการควบรวมทรู-ดีแทค ก็เป็นเผือกร้อนจริงๆ เพราะหลายภาคส่วนอยากให้ กสทช.ชัดเจน และอยากให้จบ!

ทั้งนี้หลังจากเข้ามาทำงานกันเดือนกว่าๆ ได้มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด (Focus Group) ไปแล้ว 2 ครั้ง จากทั้งหมด 3 ครั้ง เพื่อรับฟังความเห็น ฟังข้อมูลจากหลายภาคส่วน ทั้งนักวิชาการ ผู้บริโภค โอปเรเตอร์ และผู้มีส่วนได้เสียในกิจการโทรคมนาคม ถือว่าตอนนี้ 5 กสทช. ได้รับข้อมูลมากขึ้นอย่างหลากหลาย ซึ่งตรงนี้เรากำหนดกรอบเวลาไว้ 60 วัน เริ่มตั้งแต่กลางเดือน พ.ค.-กลางเดือน ก.ค.65 เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจให้ชัดเจน เพราะการจะยื้อต่อไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร

“เราต้องทำเรื่องนี้อย่างละเอียดรอบคอบที่สุด ไม่รวดเร็วจนเกินไป แต่ก็ไม่ล่าช้า เพราะการล่าช้า แสดงถึงความไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานของกสทช. วันนี้ยืนยันยังไม่มีใครมาคุยอะไรกับผม ยังไม่มีสัญญาณอะไรทั้งสิ้น มีแต่ทรูส่งหนังสือมาที่สำนักงานกสทช.เพื่อให้เร่งรัดกระบวนการเรื่องนี้ ผมเชื่อว่าดีแทคก็ต้องส่งหนังสือมาในแนวนี้เช่นกัน ถือเป็นเรื่องธรรมดา เขาต้องการควบรวมกัน ก็ต้องเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”

รอดูทิศทางจาก “ศาลปกครอง” ด้วย!

ประธานกสทช. กล่าวต่อไปว่า วันนี้ยังไม่ขอตอบว่ากสทช.มีอำนาจตัดสินใจเรื่องการควบรวมหรือเปล่า เพราะทุกคนอ่านกฎหมายแล้วตีความ หรือแปลข้อกฎหมายไม่เหมือนกัน ต้องส่งไปให้ “กฤษฎีกา” ช่วยตีความข้อกฎหมายหรือเปล่า ณ เวลานี้คงยังไม่ถึงขั้นนั้น เพราะมีคนไปร้องศาลปกครองกลางไว้อยู่แล้ว เกี่ยวกับประกาศกสทช.ปี 2561 เพื่อให้ศาลมีคำสั่งระงับชั่วคราวการควบรวม จึงต้องรอศาลจะว่าอย่างไรใน 2 ประเด็น คือ

1.สั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับการควบรวม

2.ประกาศกสทช.ปี 2561 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ถ้าศาลไม่สั่งคุ้มครองชั่วคราวฯ กสทช.ก็เดินหน้าตามกระบวนการต่อไป ซึ่งขึ้นอยู่กับเรา แต่พยายามจะให้กระชับ ไม่ล่าช้าอีกแล้ว เพราะในกรอบเวลา 60 วัน เรามีข้อมูลมากพอ เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจได้แล้ว

สนใจ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์-เฮลท์แคร์”

เมื่อถามว่านอกจากกรณีการควบรวมทรู-ดีแทค ยังมีเรื่องอะไรที่กสทช.ต้องเร่งดำเนินการ? ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ กล่าวว่า ตอนแรกตนประสงค์เข้ามาช่วยทำงานเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เข้ามาดูการโฆษณาที่เกินความจริงในช่องทางต่างๆ ไม่คิดว่าจะได้เป็นประธาน กสทช. แต่เมื่อได้เป็นประธานแล้วต้องมองบทบาทหน้าที่ของ กสทช.ในภาพกว้างขึ้น

เช่น ปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ถือเป็นเรื่องน่าสนใจ ว่าเราจะมีมาตรการป้องปราม และมาตรการให้ความรู้กับประชาชนในด้านใดบ้าง จึงต้องมีการประชุมกับหลายๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องคุยกับโอปเรเตอร์ ต้องเซตอัพกันว่าทำธุรกิจอย่างไร จึงมีคนเอาเบอร์โทรศัพท์ของคนอื่นไปทำในทางเสียหาย น่าจะมีระบบอะไร หรือมี AI เข้ามาช่วยได้หรือไม่ เนื่องจากปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทาง กสทช.ได้รับความเสียหายด้วย

ดังนั้นจึงต้องมีมาตรการป้องปราม มีการให้ความรู้กับประชาชนควบคู่กันไป เบอร์ไหนใช้บ่อยๆ วันละเป็น 100 ครั้ง ใช้แบบผิดปกติ อันนี้น่าจะตรวจจับได้ หรือถ้ามีข้อมูลเบาะแสอาจจะต้องตัดวงจรไปก่อน แต่ถ้าไม่ใช่หรือติดต่อยืนยันตัวตนมาค่อยว่ากันอีกเรื่อง หรืออาจเตือนผู้สูงอายุถ้าจะโอนเงินต้องถามลูกหลานก่อน และเบอร์แปลกๆ ที่มีเครื่องหมายบวกๆ (++) โทรฯเข้ามา อย่าไปรับสาย

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของกฎหมายใหม่ คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (PDPA) เพิ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.65 กฎหมายตัวนี้น่าจะมีประโยชน์เกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมากขึ้น หน่วยงานต่างๆ อาจจะระมัดระวังเรื่องการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลมากขึ้น ต่อไปนี้เราอาจจะได้รับ “เอสเอ็มเอส” จากธนาคาร หรือจากโชว์รูมรถยนต์ที่เรานำรถเข้าไปซ่อมว่าจะเก็บรักษาข้อมูลของลูกค้าเป็นอย่างดี

การออกกฎหมายทุกฉบับมีเป้าประสงค์ที่ดี แต่ต้องดูเมื่อประกาศใช้กฎหมายไปแล้ว 1 ปี จะมีผลอะไรบ้าง มีผลดี-ผลเสียกับประชาชนมากน้อยแค่ไหน อย่างไร บังคับใช้กฎหมายตัวนี้แล้ว ทำให้มีปัญหาใหม่ๆเกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งต้องรอดูไปอีกระยะหนึ่ง

“ส่วนอีกเรื่องที่ตั้งใจไว้คืองานบริการพื้นฐานทางสังคม โดยมีกสทช.เป็นตัวเชื่อมให้เกิดการดูแลสุขภาพประชาชน เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล และลดภาระของผู้ป่วยในการเดินทางไปโรงพยาบาล ซึ่งเรื่องนี้ กสทช.ต้องหารือกับแพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข สำนักทะเบียนราษฎร์ และกระทรวงดีอีเอส เพื่อพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มขึ้นมา ต่อไปนี้เราทุกคนอาจจะต้องมีหมอปฐมภูมิ ทุกคนควรมีหมอประจำตัว แต่จะไม่รู้ว่าใครเป็นหมอประจำตัวเรา การสอบถามอาการป่วยต่างๆ และช่องทางการรักษา อาจปรึกษาหรือขอคำแนะนำผ่านแพลตฟอร์ม ผ่านไลน์ แล้วอาจจะมีหมอที่เชี่ยวชาญกว่าเข้ามาเห็นข้อมูล ช่วยให้คำแนะนำในการรักษาที่ดีกว่า นี่คือสิ่งที่ตั้งใจว่าอยากทำให้สำเร็จถ้าได้อยู่ครบวาระ โดยขณะนี้มีการประชุมกันไปบ้างแล้ว” ประธาน กสทช. กล่าว.