นโยบายการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงและฝังไมโครชิพ เคยดำเนินการตั้งแต่ช่วงปี 50 ภายหลังการออกข้อบัญญัติเรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข ซึ่งผลปรากฏว่าระยะเวลาผ่านมากว่า 15 ปี กทม.ดำเนินการฝังชิพได้จำนวนน้อยมาก เนื่องจากไม่มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและบังคับให้ปฏิบัติกันอย่างจริงจัง

ขณะเดียวกัน กทม.มีศูนย์บริการที่เป็นคลินิกสัตวแพทย์จำนวนจำกัด สามารถให้บริการได้ไม่เพียงพอ การฝังชิพสัตว์เลี้ยงเกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนทั้งผู้ประกอบการ เจ้าของ และสังคมส่วนรวม ตัวอย่างเช่น ป้องกันสัตว์เลี้ยงสูญหาย ป้องกันการปล่อยปละละเลยให้เป็นสุนัขและแมวจรส่งผลกระทบต่อคนอื่น และสามารถช่วยในการยืนยันตัวตน ส่งผลต่อการพัฒนาสายพันธุ์ ป้องกันการซื้อ-ขายผิดตัว และการประกวดในกลุ่มคนรักสัตว์เลี้ยง

ดังนั้น กทม.จะดำเนินการ 3 ส่วน ประกอบด้วย 1. ออกตรวจตรา ขึ้นทะเบียน ดูแลกำกับกิจการที่เกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ (ฟาร์มเลี้ยง) และร้านค้าจำหน่ายสัตว์เลี้ยง ที่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลขึ้นทะเบียนของ กทม. ผ่านการดูแลกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

2. ร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการฟาร์มและร้านจำหน่าย คลินิกสัตวแพทย์เอกชน โรงพยาบาลสัตว์ ในการผลักดันการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงตั้งแต่ต้นทาง เพื่อลดความเสี่ยงที่เจ้าของซื้อไปแล้วอาจปล่อยปละสัตว์เลี้ยงให้เป็นสัตว์จร ซึ่งเป็นการกระทำผิดที่สามารถดำเนินการตามกฎหมาย

3. สัตว์เลี้ยงทั้งสุนัขและแมวที่มีเจ้าของดูแลในปัจจุบัน กทม.จะดำเนินการทยอยเปิดขึ้นทะเบียน โดยเริ่มจากการเปิดรอบแสดงความจำนงและขึ้นทะเบียนฝังชิพ โดยการขึ้นทะเบียน กทม.จะช่วยสนับสนุนและร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในการช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน เพื่อเป็นแรงจูงใจในการเข้าร่วมโครงการ และดำเนินตามนโยบาย รวมถึงการยื่นเรื่องขึ้นทะเบียนสำหรับสัตว์เลี้ยงเกิดใหม่ในอนาคต

ส่วนเรื่องพิจารณาให้นำสัตว์เลี้ยงไปออกกำลังกายในสวน กทม.ได้ เห็นว่าสวนสาธารณะในกรุงเทพฯ นั้นนอกจากการออกแบบสภาพแวดล้อมและการจัดการที่จำเป็นต้องออกแบบและจัดการให้สามารถตอบสนองผู้ใช้งานมากขึ้นแล้ว ยังต้องคำนึงถึงเพื่อน ๆ ของประชาชนกรุงเทพฯ อย่างสัตว์เลี้ยงจำพวกสุนัขหรือแมว แต่ที่ผ่านมาสวนสาธารณะบางแห่งที่อยู่ภายใต้การดูแลของ กทม.และอนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงเข้าสวนฯ ได้ กลับเกิดข้อพิพาทอยู่เป็นระยะ ๆ ระหว่างเจ้าหน้าที่สวนฯ ที่ได้จัดทำแผ่นป้ายมาแปะประกาศห้ามนำสัตว์เลี้ยงเข้า โดยไม่สามารถอธิบายถึงสาเหตุการห้ามชั่วคราวนี้แก่ประชาชนได้

ดังนั้น กทม.จะพิจารณาเรื่องการอนุญาตให้นำสัตว์เลี้ยงเข้าภายในสวนฯ ได้ โดยเน้นการกระจายตัวของพื้นที่ที่อนุญาต และต้องมีมาตรการในการรักษาความสะอาด และความปลอดภัยต่อผู้อื่นในพื้นที่ที่ชัดเจน เช่น กฎการเก็บและทำความสะอาดมูลสัตว์ ถังขยะแยกเฉพาะสำหรับการทิ้งมูลสัตว์ รวมถึงการประกาศให้ชัดเจนถึงแนวทางอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงเพื่อให้ทราบโดยทั่วกัน

หากนโยบายเหล่านี้ กลายเป็นรูปเป็นร่างชัดเจน คงจะดีต่อใจกลุ่มคนรักสัตว์เลี้ยงใน กทม.ไม่น้อย หากเป็นไปได้ด้วยดีอาจจะกระจายเป็นแนวทางปฏิบัติทั่วประเทศก็เป็นได้ แต่! อย่าลืมทำตามกฎกติกาที่ระบุไว้ด้วยเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของคนและสัตว์ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมของพวกเราทุกคน.