วันพรุ่งนี้ 24 มิถุนายน 2565 ประวัติศาสตร์การเมืองไทยจะมีอายุครบรอบปีที่ 90 หรือ 9 ทศวรรษแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตย นับจากเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งคณะราษฎรประกอบด้วยพลเรือน ทหาร ตำรวจ โดยมีพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร เป็นผู้นำก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) เป็นการปกครองระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย (Constitutional Monarchy) หรือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

อะไรหรือ คือวงจรอุบาทว์ในห้วงเวลา 90 ปีที่ผ่านมา ผู้คนทั่วไปในสังคมมักเข้าใจคำว่า “วงจรอุบาทว์” ในนัยอย่างแคบซึ่งหมายถึง การยึดอำนาจรัฐอย่างฉับพลันด้วยการก่อรัฐประหารโดยผู้นำกองทัพ แต่แท้ที่จริงแล้ว ความหมายของคำว่า “วงจรอุบาทว์” มีในนัยอย่างกว้างซึ่งหมายถึง รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีเสียงข้างมาก (majority) ในสภาผู้แทนราษฎรเกินกึ่งหนึ่ง สามารถควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติได้อย่างสิ้นเชิง โดยไม่เคารพถึงเสียงข้างน้อย (minority) ในสภาผู้แทนราษฎรเลย เป็น “เผด็จการรัฐสภา” อีกทั้งคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร ปกครองประเทศใช้อำนาจตามอำเภอใจในลักษณะ “รัฐบาลเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้ง” ไม่คำนึงถึงความชอบธรรมที่ได้รับการมอบหมายจากประชาชนให้เข้ามาบริหารประเทศโดยรวม แบ่งแยกประชาชนเป็นฝักเป็นฝ่าย ประการสำคัญมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างมโหฬารโดยใช้วิธีการทุจริตเชิงนโยบาย (policy corruption) และการมีผลประโยชน์ทับซ้อน (conflict of  interest) กลไกการตรวจสอบและถ่วงดุล (check and balance) ในระบบรัฐสภาไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความหมายของคำ “วงจรอุบาทว์” ในนัยอย่างกว้างอีกประการ หมายถึง การลงทุนใช้เงินซื้อเสียงเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรของนักการเมือง เมื่อเข้าสู่อำนาจรัฐได้แล้ว มีการถอนทุนคืนชนิดเป็นร้อยเท่าพันทวีจากการฉ้อราษฎร์บังหลวงด้วยวิธีการฉ้อฉลอย่างแยบยล

นักการเมืองส่วนใหญ่ไม่มีอุดมการณ์ ไม่รู้จักคำว่า “การยึดมั่นอย่างมั่นคงในความถูกต้อง (integrity)” เมื่อเป็นเช่นนี้ชาติบ้านเมืองจึงไม่ได้รับการพัฒนาในทิศทางที่ถูกต้อง ไม่มีการแก้ปัญหาอย่างถูกจุดและถูกวิธี เป็นปัญหาใหญ่ที่ก่อให้เกิดปัญหาอย่างซ้ำซากไม่รู้จักจบสิ้น แก้ปัญหาหนึ่งก็ไปก่อให้เกิดอีกปัญหาหนึ่ง เนื่องจากไม่ได้แก้ปัญหาในระดับโครงสร้างและไม่ได้แก้ปัญหาในเชิงบูรณาการ

มาลองพลิกปูมหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยในอดีตตั้งแต่ พ.ศ.2475 จนถึงปัจจุบัน มีการเลือกตั้ง ส.ส. 28 ครั้ง มีนายกรัฐมนตรี 29 คน มีการก่อรัฐประหาร 13 ครั้ง ใช้รัฐธรรมนูญปกครองประเทศ 20 ฉบับ

ผู้นำและแกนนำคณะราษฎรที่เป็นนายกรัฐมนตรีในห้วงเวลาตั้งแต่ พ.ศ.2476-2500 มี 4 คน ดังนี้
– พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี 5 สมัย ระหว่าง พ.ศ.2476-2481
– จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี 8 สมัย 2 สมัยแรก ระหว่าง พ.ศ. 2481-2487 อีก 6 สมัยต่อมาตั้งแต่ พ.ศ.2491-2500
– นายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี 3 สมัย ในปี พ.ศ.2489
– พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี 2 สมัย ระหว่าง พ.ศ.2489-2490

ในห้วงเวลาที่ผู้นำและแกนนำคณะราษฎรบริหารประเทศตั้งแต่ พ.ศ.2476-2500 มีการก่อรัฐประหารรวม 5 ครั้ง ครั้งที่ 1 พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ยึดอำนาจจากรัฐบาล พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ครั้งที่ 2 พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ครั้งที่ 3 คณะนายทหารกลุ่มที่ทำการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 จี้บังคับให้ นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมอบตำแหน่งต่อให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีสืบแทน เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 ครั้งที่ 4 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 ครั้งที่ 5 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500

ก้าวย่างต่อไปในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ประเทศไทยจะต้องก้าวข้าม “กับดักประชาธิปไตย” หรือจะปีนป่ายขึ้นมาจาก “หลุมดำประชาธิปไตย”ได้อย่างไรนั้น เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของคนในชาติจากทุกภาคส่วนของสังคม ประการแรกจะต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องเสียก่อนว่า สาระ (substance) ซึ่งเป็นหลักการประชาธิปไตย มีความสำคัญยิ่งกว่ารูปแบบ (form) ในการปกครองประเทศ ประการต่อมา ประชาธิปไตยไม่ใช่เป้าหมาย (goal) หากเป็นเพียงแต่วิธีการ (means) ​เท่านั้น เป้าหมายที่แท้จริงของการปกครอง​ระบอบประชาธิปไตย ​คือ ความสันติสุขของชาติบ้านเมือง โดยประเทศชาติมีความเจริญมั่นคงและประชาชนมีความเจริญผาสุก นี่จึงจะเป็นก้าวย่างที่สำคัญในการปกครองระบอบประชาธิปไตย​สู่ปีที่ 91 แสงสว่างปลายอุโมงค์จึงจะปรากฏให้เห็นในอนาคตอันใกล้นี้