โดย ดร.เจษฎ์ เปิดฉากกล่าวถึงภาพรวมผลพวงจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เพิ่งจบลงไป ว่า จะส่งผลกระทบระยะยาวต่อการเลือกตั้งในอนาคตพอสมควร เพราะว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจคราวนี้ มุ่งไปที่นโยบายหลักๆ และไม่ได้พยายามที่จะตีรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งในส่วนของรัฐมนตรีคนนั้นๆ แต่ใช้วิธีผ่านรัฐมนตรีแต่ละคนไปที่นโยบาย ที่เป็นนโยบายของพรรคที่รัฐมนตรีคนนั้นๆ สังกัด อาทิ การมุ่งไปที่เรื่องการจัดการโควิด-19 นโยบายกัญชา เรื่องแรงงาน ปัญหาเศรษฐกิจ เรื่องกองทัพ เรื่องโครงการต่างๆ ฝ่ายค้านยกภาพขึ้นมาให้เห็นว่าเป็นเรื่องนโยบายของแต่ละพรรค ในขณะเดียวกันเวลาฝ่ายค้านอภิปรายนโยบายของรัฐบาล ก็มีการนำเสนอนโยบายของตัวเองไปด้วย กึ่งๆ หาเสียงไปด้วย

แต่เมื่อรัฐบาลฝ่าด่านอภิปรายไม่ไว้วางใจไปได้ ก็ยังมีอีก 3 ขยัก ที่รัฐบาลจะต้องเผชิญ โดย “ขยักแรก” เป็นเรื่องกฎหมายลูก การชิงความได้เปรียบ ในเรื่องการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ สูตรหาร 100 กับสูตรหาร 500 ถามว่าพรรคพลังประชารัฐ รวมถึงบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหลาย ได้เปรียบจริงหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าบางพรรคได้ประโยชน์มากกว่า บางพรรคได้ประโยชน์น้อยกว่า พรรคพลังประชารัฐอาจจะไม่ได้ประโยชน์อะไรมากนัก หรือพรรคประชาธิปัตย์ก็อาจจะไม่ค่อยได้ประโยชน์ แต่พรรคภูมิใจไทย พรรคก้าวไกล มีโอกาสได้ประโยชน์ แต่อาจจะติดปัญหา หากมีคนไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า สูตรหาร 500 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

ทั้งนี้สมมุติว่าท้ายที่สุดได้สูตรหาร 500 มา แม้จะมองได้ว่าพรรคพลังประชารัฐได้เปรียบพรรคเพื่อไทยมากกว่าสูตรหาร 100 แต่ก็ไม่ได้ ได้เปรียบจนถึงขนาดที่ว่าจะเอาชนะในสนามเลือกตั้งได้เลย เพราะว่ายังพอทำอะไรได้อยู่ เช่น การแตกแบงก์พัน ที่พอได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ เป็นต้น แต่หากท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาว่าต้องเป็นสูตรหาร 100 ก็จะทำให้พรรครัฐบาลทุกพรรคเสียเปรียบพรรคเพื่อไทยอย่างแน่นอน และจะกลายเป็นการแบกรับทางการเมืองเพิ่มขึ้นหลังจากที่โดนอภิปราย โดนขุดคุ้ยเรื่องต่างๆ พอไปเจอระบบเลือกตั้งหาร 100 ก็จะถือเป็นเรื่องหนัก

ส่วน “ขยักสอง” เป็นเรื่องการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ว่าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี นับตั้งแต่เมื่อใด ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การดำรงตำแหน่งนายกฯนับตั้งแต่ปี 2557 ก็จะทำให้พรรคร่วมรัฐบาลระส่ำระสาย เพราะจะต้องหาคนมาเป็นนายกฯ แทน พล.อ.ประยุทธ์ โดยในส่วนพรรคร่วมรัฐบาลเหลือบัญชีรายชื่อนายกฯ ที่พรรคการเมืองเสนอ 2 คน คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายอนุทิน ชาญวีรกูล ซึ่งต้องดูว่าพรรคประชาธิปัตย์จะไหวหรือไม่ ที่จะให้นายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ หรือพรรคพลังประชารัฐ จะยอมให้นายอนุทินเป็นนายกฯ หรือไม่ หากไม่ยอมก็ต้องไปขุดเอาเสียง ส.ว.มาร่วมกันใช้มาตรา 272 เพื่อเอานายกฯคนนอก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

แต่หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการดำรงตำแหน่งนายกฯ นับตั้งแต่ปี 2560 อันนี้ก็ต้องไปว่ากันในการเลือกตั้ง เพราะจะเท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังเหลือเวลาดำรงตำแหน่งได้อีกกว่าครึ่งเทอมของการดำรงตำแหน่งนายกฯ สมัยหน้า ดังนั้นพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรคอื่นที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ อาจเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ร่วมกับชื่อคนอื่น ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกฯ หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ ครบวาระดำรงตำแหน่ง แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การดำรงตำแหน่งนายกฯ นับตั้งแต่ปี 2562 พล.อ.ประยุทธ์ ก็สบาย สามารถอยู่ในตำแหน่งนายกฯ ได้อีกสมัยจนครบเทอม

และ “ขยักสาม” เรื่องการเลือกตั้ง ไม่ว่าเลือกตั้งด้วยสูตรหาร 500 หรือหาร 100 พรรคพลังประชารัฐ ณ ขณะนี้ อาจจะไม่ได้เปรียบ และเรายังไม่รู้ว่าพรรคพลังประชารัฐภายในมีความสามัคคีมากน้อยแค่ไหน ตกลงพรรคพลังประชารัฐจะยังเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่ หรือหาก พล.อ.ประยุทธ์ ถูกเสนอชื่อโดยพรรคอื่น ก็ต้องถามว่าคนที่เลือกพรรคพลังประชารัฐที่ผ่านมา เลือกเพราะพรรค คนในพรรค รวมทั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือเลือกพรรคพลังประชารัฐ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ หากเลือกเพราะพรรคและคนในพรรค ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป พรรคพลังประชารัฐก็จะสามารถรักษาฐานเสียงไว้ได้ แต่หากไม่ใช่ด้วยเหตุผลดังกล่าว ฐานเสียงของพรรคพลังประชารัฐก็จะลดฮวบลง

“ส่วนฐานเสียงที่จะเลือก พล.อ.ประยุทธ์ นั้น จะเลือกจนได้เสียงมากที่สุดในบรรดาพรรคทั้งหลายที่ลงแข่งขันได้หรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งตรงนี้เป็นจุดที่จะต้องฝ่าไปให้ได้ เพราะสถานการณ์ยังไม่แน่นอน”

และท้ายที่สุดหลังจากทั้ง 3 ขยัก ที่รัฐบาลต้องฝ่าไปแล้ว หากสมมุติว่าพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่ได้คะแนนสูงสุดในการเลือกตั้ง แล้วรวมกับพรรคอื่นๆ จนมี ส.ส.เกิน 375 เสียง ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้โดยที่เสียง ส.ว.ไม่มีผล เพราะได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของทั้ง 2 สภา แต่หากได้เสียงไม่ถึงขนาดนั้น กลุ่มพรรคตรงข้ามจะกล้ารวมเสียงกับ ส.ว. แล้วไปหักกับเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่

“สมมุติว่าทำแบบนั้น จนคนออกมาชุมนุมบนท้องถนน และท้ายที่สุดมีการปฏิวัติกันอีกรอบ ก็จะกลายเป็นอีกคำรบหนึ่งที่บ้านเมืองเราเข้าสู่สภาวะวิกฤติ เข้าสู่สภาวะถดถอย และไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรตามมาอีก”

@ นายวิษณุ เครืองาม ได้ให้ความเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะตีความว่าทั้งหาร 100 หาร 500 อาจจะผิดทั้งคู่

หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าทั้งสูตรหาร 500 และสูตรหาร 100 ขัดรัฐธรรมนูญทั้งหมด กฎหมายก็คงตกทั้งฉบับ รวมทั้งสะท้อนให้เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่ชัดเจนเลยเกิดปัญหา และคงจะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ แต่ถามว่าสภาจะพร้อมเพียงกันไหม วุฒิสภาจะเล่นด้วยไหม แล้วคราวนี้จะไปที่ระบบเลือกตั้งแบบไหน ดีไม่ดีอาจจะต้องใช้ระบบจัดสรรปันส่วนผสมแบบเดิม แต่แก้ปัญหา 3 เรื่อง คือเรื่องพรรคเล็กพรรคน้อย เรื่องสูตรคำนวณ และแก้เรื่องเมื่อคำนวณแล้ว ส.ส.เกิน 500 คน แล้วจะทำอย่างไร

ซึ่งหากจำเป็นก็อาจจะต้องทำแบบนี้ เพราะจะเร็วที่สุด และถือว่าเป็นธรรมโดยรวม และตนคิดว่าตอนนี้สภาได้เรียนรู้ว่าสูตรหาร 100 หาร 500 เอาเข้าจริงแล้วใครได้เปรียบใครเสียเปรียบ แล้วระบบจัดสรรปันส่วนผสมก็ไม่ได้เอื้อพรรคใดเป็นพิเศษ

@ หาก พล.อ.ประยุทธ์ ฝ่าขยักเรื่องวาระ 8 ปีไปได้ ยังจะเป็น “จุดขาย” ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปได้หรือไม่

ตนคิดว่า เป็นจุดขายได้ แต่เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งปี 2562 ระดับของคำว่าได้ต่างกัน ซึ่งตนคิดว่าระดับของคำว่าได้ในขณะนี้ ไม่รู้จะถึงครึ่งหนึ่งของระดับคำว่าได้ในการเลือกตั้งปี 2562 หรือไม่ เพราะคะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ ลดลงเยอะ แทบจะเรียกได้ว่าลดลงกว่าครึ่ง คงไม่สามารถเอาชนะพรรคเพื่อไทยได้ เพราะฉะนั้นเขาคงต้องไปคิดโจทย์ว่าจะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ บวกกับใครถึงจะได้คะแนนเพิ่ม.