ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมาเกิดการแพร่ระบาดโรคติดต่อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ ต่อมาเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 63 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าไวรัสโคโรนา 2019 มีการระบาดใหญ่ (pandemic)ไปทั่วโลก ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อมวลมนุษยชาติครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่ง ส่งผลต่อการดำรงชีวิตและการดำเนินชีวิตของประชากรโลกทั้งในด้านเศรษฐกิจที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลก (The Great Depression) และทางด้านสังคมที่ไม่อาจดำเนินกิจกรรมต่างๆได้ดังเดิมที่เคยประพฤติปฏิบัติกันมา แต่ต้องดำเนินชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ได้รับเชื้อและยังต้องหลีกเลี่ยงกิจกรรมในชีวิตประจำวันเพื่อลดความเสี่ยงจากการได้รับเชื้ออีกด้วย อย่างไรก็ตามองค์การอนามัยโลกได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการฉีดวัคซีนโควิด -19 ในแต่ละประเทศให้ได้มากถึงร้อยละ 70 ของประชากร ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่เพื่อจะได้ไม่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีการลุกลามขยายตัวอย่างรวดเร็วดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

วัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลกว่ามีความปลอดภัย ได้แก่ ไฟเซอร์ (วันที่ 31 ธ.ค.63) แอสตราเซนเนกา (วันที่ 15 ก.พ.64) จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (วันที่ 12 มี.ค.64) โมเดอร์นา (วันที่ 30 เม.ย.64) ซิโนฟาร์ม (วันที่ 10 พ.ค.64) และซิโนแวค (วันที่ 1 มิ.ย.64) ในขณะนี้ประเทศต่างๆทั่วโลกต่างมุ่งเสาะแสวงหาวัคซีนโควิด-19 กันอย่างเต็มที่ ประเทศที่มีฐานะเศรษฐกิจดีต้องวางเงินจองการสั่งซื้อวัคซีนล่วงหน้า ส่วนประเทศด้อยพัฒนาและประเทศที่มีฐานะเศรษฐกิจไม่ดีต้องขอบริจาควัคซีนจากองค์การอนามัยโลกและประเทศผู้ผลิตวัคซีน

ปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในทั่วโลกมียอดผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 182 ล้านราย และมียอดผู้เสียชีวิตสะสมเกือบ 4 ล้านรายแล้ว สำหรับประเทศไทยมียอดผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 250,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสมกว่า 2,000 ราย

เมื่อวันที่ 28 เม.ย.64 กระทรวงสาธารณสุขแถลงแผนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนครบทุกกลุ่มเป้าหมายจำนวน 100 ล้านโดส ครอบคลุมประชากรร้อยละ 70 ภายในปี 2564 นี้ โดยวางแผนเริ่มฉีดตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ประชาชนจะได้รับการฉีดวัคซีนเข็มแรกภายในเดือนตุลาคมและเข็มที่ 2 ภายในเดือนธันวาคม 2564 ซึ่งที่ผ่านมาการฉีดวัคซีนมีเพียง 2 ชนิด คือ ซิโนแวค และแอสตราเซนเนกา

รายงานสถานการณ์ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 เมื่อวันที่ 30 พ.ค.64 มีผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 2,453,807 โดส ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 1,094,523 โดส รวม 3,548,330 โดส

ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และองค์ประธานกรรมการมูลนิธิภัทรมหาราชานุสรณ์ ในพระอุปถัมภ์ ทรงมีพระดำริให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ติดต่อหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อช่วยเหลือรัฐบาลในสถานการณ์ที่เชื้อโควิด-19 มีการแพร่ระบาดลุกลามขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จึงได้ดำเนินการจัดหาวัคซีนตัวเลือกจากบริษัทซิโนฟาร์ม(Sinopharm) ที่ผลิตโดยสถาบันชีววัตถุแห่งกรุงปักกิ่ง (BIBP) ซึ่งเป็นวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลก

ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.64 วัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์มล็อตแรกจำนวน 1 ล้านโดส ได้จัดส่งมาถึงประเทศไทยแล้ว ซึ่งเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.64 ได้ผ่านการตรวจสอบคุณภาพของวัคซีนจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.64 ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีฯ เสด็จลง ณ ตำหนักทิพย์พิมาน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นำคณะเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทาน วัคซีนซิโนฟาร์ม ประกอบด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และนายแพทย์ ภูมินทร์ ศิลาพันธ์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ จำนวนแห่งละ 6,400 โดส รวมทั้งหมด 25,600 โดส ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 64 พรรษา 4 กรกฎาคม 2564 เพื่อให้แต่ละหน่วยงานจัดสรรกระจายฉีดให้แก่ประชาชนผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ที่มีรายได้น้อย และชุมชนในพื้นที่เสี่ยงเป็นกลุ่มแรก โดยเริ่มให้บริการฉีดตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย. 64 เป็นต้นไป

โอกาสนี้ พระองค์ทรงมีพระดำรัสความว่า “…เป็นห่วงประชาชนทั่วทุกแห่ง ซึ่งทั้ง 4 ท่านนี้ก็เป็นตัวแทนของประชาชน หวังว่าจะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน เราโดนโควิดมาก ๆ ถ้าไม่แก้ไข คนไทยจะทุกข์ทรมานมากกว่านี้ ขอให้ทุกท่านทำการรักษา และป้องกันอย่างเต็มอัตรา…”

เป็นพระกรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้แก่ปวงชนชาวไทย
 
…………………………………..
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”