ข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยปี 2551 ระบุว่า มีผู้บุกรุกที่ดินของรัฐทั่วประเทศรวม 370,000 ราย เนื้อที่กว่า 6 ล้านไร่ จำแนกเป็นการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 58,000 ราย เนื้อที่ 1.5 ล้านไร่ พื้นที่อุทยานแห่งชาติ 37,000 ราย เนื้อที่กว่า 6 แสนไร่ ที่ดินราชพัสดุ 190,000 ราย เนื้อที่ 2.1 ล้านไร่ ที่ดินสาธารณประโยชน์ 55,000 ราย เนื้อที่ 1.1 ล้านไร่ และที่ดินของรัฐประเภทอื่นๆ เช่น ที่ดิน ส.ป.ก. 25,000 ราย เนื้อที่ 490,000 ไร่

แผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้และการบุกรุกที่ดินของรัฐระบุว่า พื้นที่ป่าภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่มีการบุกรุกรุนแรงที่สุด รองลงมา ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง พื้นที่วิกฤตรุนแรงมี 12 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย น่าน ลำปาง อุบลราชธานี นครราชสีมา เลย กระบี่ เชียงใหม่ ตาก และแม่ฮ่องสอน ในแผนแม่บทดังกล่าว การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนกำหนดเป้าหมายไว้ คือ การพิทักษ์รักษาพื้นที่ป่าไม้ให้มีสภาพป่าที่สมบูรณ์ให้ได้พื้นที่ป่าไม้อย่างน้อย ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศภายใน 10 ปี

เมื่อปี 2557 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายทวงคืนผืนป่าและหยุดยั้งการบุกรุกทําลายทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อลดผลกระทบที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยการออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 64/2557 เรื่อง การปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทําลายทรัพยากรป่าไม้

จากปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าตามนโยบายของรัฐบาลในยุคนั้น เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2560 กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ร่วมกันจัดการแถลงข่าว “จากผืนป่าสู่ผืนน้ำ 3 กรม ผนึกกำลังพิทักษ์เกาะ” ได้แถลงผลการปฏิบัติงานทวงคืนผืนป่า และแนวทางในการดำเนินการแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าบนเกาะของกลุ่มนายทุน ภายใต้การทำงานบูรณาการ 3 หน่วยงานหลัก ได้แก่ ชุดพยัคฆ์ไพร ชุดพญาเสือ และชุดฉลามขาว

นายอรรพล เจริญชันษา ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2557-2560 ของชุดปฏิบัติการพิเศษทั้ง 3 หน่วยงาน กรมป่าไม้สามารถดำเนินคดีและยึดคืนพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกได้ 322,891 ไร่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สามารถดำเนินคดีและยึดคืนพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกได้ 85,288 ไร่ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สามารถดำเนินคดีและยึดคืนพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกได้ 27,552 ไร่ รวม 435,731 ไร่ โดยเป็นคดีที่บุกรุกหลังปี 2557 ประมาณ 80,000 ไร่  

จากผลการตรวจสอบรีสอร์ทที่บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติทั่วประเทศ เมื่อปี 2559 พบว่า มีรีสอร์ทบุกรุก จำนวน 1,939 แห่ง แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 2,212 แห่ง โดยได้ดำเนินการตรวจสอบเสร็จแล้ว 761 แห่ง อยู่ระหว่างการตรวจสอบ 1,266 แห่ง และรอการตรวจสอบอีก 185 แห่ง ส่วนพื้นที่ป่าบนเกาะต่างๆ จำนวน 936 เกาะ ซึ่งมีพื้นที่ป่าไม่น้อยกว่า 8 แสนไร่ พบว่ามีการบุกรุกเพื่อนำไปก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ รองรับการขยายตัวของธุรกิจท่องเที่ยว

ทรัพยากรป่าไม้และระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมให้มีความเจริญมั่นคง รัฐบาลจึงต้องเดินหน้านโยบายทวงคืนผืนป่าอย่างจริงจังต่อเนื่อง เพื่ออนุรักษ์และรักษาทรัพยากรป่าไม้และระบบนิเวศเท่าที่หลงเหลืออยู่ให้ได้ โดยทุ่มเทสรรพกำลังไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ อัตรากำลัง เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีภารกิจปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าได้เต็มศักยภาพ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานบรรลุผลตามเป้าหมาย มิเช่นนั้นแล้วหากทรัพยากรป่าไม้และระบบนิเวศถูกบุกรุกและทำลายจากน้ำมือของนักการเมือง ข้าราชการ พ่อค้า นักธุรกิจ นายทุน ฯลฯ แล้ว ย่อมส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และการดำเนินชีวิตของประชาชนทั่วประเทศอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากต้องประสบกับภัยพิบัติต่างๆ อาทิ อุทกภัย วาตภัย ภัยแล้ง ไฟป่า ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ทุพภิกขภัย ฯลฯ ที่นับวันจะเกิดถี่ขึ้นและทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นหายนภัยอันใหญ่หลวงของประเทศ.