การทำงานที่บ้านหรือ Work from Home ทำให้ผมไม่ต้องเสียเวลาอยู่บนท้องถนน 2-3 ชั่วโมง ราวกับผมได้เวลาเพิ่มขึ้นในแต่ละวัน ผมจึงจัดสรรนำมาทำประโยชน์และพัฒนาตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นออกกำลังกาย เรียนรู้เพิ่มเติมคอร์สออนไลน์ และแบ่งเวลามาอ่านหนังสือได้ด้วย ผมนำหนังสือ 4 เล่มที่ผมได้อ่านแล้วมาแนะนำ เผื่อใครกำลังมองหาหนังสือไว้อ่านในช่วงเวลาที่อยู่บ้านครับ

The Opportunity โอกาสแห่งอนาคต ยุคโลกป่วน เศรษฐกิจเปลี่ยน เขียนโดย ดร.สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล

ผมชอบตั้งแต่หน้าปกของหนังสือเพราะทำให้นึกถึง “ดร.ชาย” (ผู้เขียน) ก็ใส่แว่นแบบนี้ ราวกับผมได้พูดคุยกับผู้เขียนโดยตรง ดร.ชายเรียนจบด้านเศรษฐศาสตร์แต่ไม่ได้เขียนเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว เขามีมุมมองรอบด้านทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และสิ่งแวดล้อม รวมถึงความท้าทายใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ในเล่มได้แบ่งออกเป็นบทต่าง ๆ แต่ไม่ต้องไล่อ่านตามบทหรอกครับ ถ้าชอบเรื่องไหนก็เลือกมาอ่านก่อนได้เลย ผมเองก็อ่านเรื่อง “หางานให้ผู้พ้นโทษ ลดโอกาสทำผิดซ้ำ” และ “ปัญหาอาชญากรรมในเด็กและเยาวชนกับต้นทุนทางเศรษฐกิจ” เพราะเกี่ยวข้องกับหน้าที่การงานของผม พบว่าข้อมูลที่อ้างอิงตรงกับข้อมูลที่ผมได้รับรู้ ถือว่าทำการบ้านมาอย่างถูกต้อง หรือบางเรื่องที่ผมสนใจ เช่น “เมื่อดนตรี ทำให้เด็กเก่งกว่าเดิม” ก็นำงานวิจัยจากต่างประเทศ แล้วเข้าสู่ข้อมูลในประเทศ อ่านแล้วรู้สึกว่าอยู่ใกล้ตัวจับต้องได้ และด้วยวิธีการเขียนทุก ๆ บทของ ดร.ชาย รวมทั้งมีภาพประกอบเสริม ทำให้อ่านง่ายและเข้าใจง่าย แนะนำเลยครับ ถ้าใครอยากอัพเดทข้อมูลรอบตัว เล่มนี้อ่านเพลิน อ่านวันละบทสองบทก็จะได้รับความรู้และมุมมองใหม่ ๆ แน่นอน

Healthitude สุข (อุดม) คติ เขียนโดย นพ.พิจักษณ์ วงศ์วิศิษฏ์

ในโลกที่อะไรก็ค้นหาได้ในอินเทอร์เน็ต แม้แต่อาการเจ็บป่วยก็ไปค้นหาวิธีรักษาในนั้น แต่คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลนั้นเป็นข้อมูลที่ถูกต้องและอัพเดทล่าสุด โดยเฉพาะไลฟ์สไตล์ของคนในยุคปัจจุบัน ที่ทำงานเยอะ นอนน้อย ไม่ได้ออกกำลังกาย กินอะไรง่าย ๆ เร็ว ๆ ติดมือถือ พักผ่อนโดยดูซีรีส์กันข้ามวันข้ามคืน จนเกิดปัญหาน้ำหนักเกิน ลดน้ำหนักยาก นอนไม่หลับ เครียด ถ้าคุณประสบปัญหาอยู่ต้องอ่านเล่มนี้ หรือถ้าร่วมสมัยหน่อย…กลัวภูมิตกและติดโควิดยิ่งต้องอ่านโดยด่วน นพ.พิจักษณ์ หรือหมอบาย เขียนเพื่อกระตุกความคิดของคนอ่านให้กลับมาดูแลร่างกาย สำรวจกิจวัตรของตนเองว่ากำลังทำอะไรอยู่ มีบทที่เขียนเกี่ยวกับการนั่งสมาธิ ผมอ่านแล้วก็ดีใจที่ได้เริ่มนั่งสมาธิมาพักใหญ่แล้ว รู้ว่ามันดีกับตัวเองทั้งเรื่องของร่างกาย สมอง และจิตใจ นอกจากนี้ผมอ่านแล้วอินมากกับเรื่องนอนน้อย หมอบายเน้นย้ำว่า “การนอนคือหน้าที่ ไม่ใช่ทางเลือก” เพราะถ้านอนน้อยจะแก่เร็ว นาฬิกาชีวิตพัง เข้าสู่วงจร “นอนดึก อ้วน เครียด” ทุกอย่างสัมพันธ์กันหมด นอกจากนี้ ผมเพิ่งเห็นความสำคัญของวิตามินดีที่เคยเรียนตอนเด็กๆ ว่ามีอยู่ในแสงแดด แต่ไม่น่าเชื่อคนไทยประเทศเมืองร้อนขาดวิตามินตัวนี้ถึง 50% แล้วจะสร้างภูมิต้านทานโควิดกันได้อย่างไร หนังสือเล่มนี้ถือว่าเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับสุขภาพที่อ่านเพลินครับ ผมอ่านรวดเดียวจบเลย คงเป็นเพราะเรารักสุขภาพของเรานั่นเอง

Political Cartoonomics เศรษฐศาสตร์การเมือง ฉบับการ์ตูน เขียนโดย ดร.เต็มยศ ปาลเดชพงศ์ และ ศ.ดร.สหรัฐ ผ่องศรี

ผมนำหนังสือเล่มนี้กลับมาอ่านอีกครั้งจากที่อ่านค้างไว้ เพราะสถานการณ์การบริหารจัดการวัคซีนในปัจจุบันที่รัฐเป็นผู้จัดหา มีความล่าช้าและผิดพลาดอยู่หลายครั้ง ครั้งแรกที่ผมอ่าน Political Cartoonomics เศรษฐศาสตร์การเมือง ฉบับการ์ตูน เพราะมีภาพการ์ตูนมาแทรกนี่แหละครับ เผื่อจะอ่านง่ายหน่อย แต่จริง ๆ แล้วเนื้อหาค่อนข้างเข้มข้นและผู้เขียนมีความเชื่อมั่นว่ากลไกราคาในระบบทุนนิยมสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ดีกว่ารัฐ ผมอ่านบทแรก ๆ ต้องปรับใจกับข้อมูลที่ไม่เคยรับรู้มาก่อนและแอบค้านอยู่ในใจ อย่างเช่นภาษิตของสกอตแลนด์ที่แปลเป็นไทยได้ว่า “พ่อซื้อ ลูกสร้าง หลานขาย เหลนขอ” สื่อว่าทรัพย์สินที่สะสมไว้ในรุ่นปู่ย่าจะถูกใช้หมดในรุ่นหลาน ชาติตะวันตกอาจจะใช่ แต่คงใช้ไม่ได้กับประเทศไทย เพราะเท่าที่เห็นรุ่นหลานรุ่นเหลนที่ครอบครัวไหนได้สัมปทานจากรัฐ ก็จะยิ่งรวยทะลุฟ้าไปกันใหญ่ บทต่อมาเริ่มเปิดใจและเห็นด้วยนิด ๆ กับเรื่อง “อย่าถูกหลอกโดยสถิติ” เกี่ยวกับรายได้คนจนและคนรวย นอกจากนี้ในเล่มพูดถึงเรื่องการผูกขาด การพึ่งพาสินค้าและบริการจากรัฐ การอุดหนุนช่วยเหลือธุรกิจ การที่รัฐเข้ามาแทรกแซงและเอกชนที่มีสัมพันธ์พิเศษกับรัฐ ฯลฯ ผมยังอ่านไม่จบครับ แต่สถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศเราประสบอยู่ ทำให้หนังสือเล่มนี้น่าสนใจขึ้นมาทันที

การคิดเป็นภาพ เขียนโดย วิลเลมเมียน แบรนด์ แปลโดย ภาวินี เจือติระรักษ์

ผมได้หนังสือเล่มนี้เป็นรางวัลจากคลาส Visual Thinking ที่สอนโดยผู้แปลหนังสือ “การคิดเป็นภาพ” นั่นคือ คุณภาวินี หรือ “อ.โอ๋” ผมชอบคลาสนี้อาจจะเป็นเพราะอาชีพหนึ่งของผมเป็นนักแต่งนิทาน เวลาจะคิดเรื่องก็จะคิดเป็นภาพเสมอ แล้วก็จะร่างให้นักวาดประกอบไปวาดใส่รายละเอียด ผมว่าถ้าเราจับความคิดของเรามาทำเป็นภาพได้ จะทำให้การสื่อสารทำได้รวดเร็วขึ้น เพราะทุกคนจะเห็นภาพตรงกัน สามารถใช้ประกอบในการพรีเซนต์ให้ดูน่าสนใจ สร้างความคิดใหม่ และใช้วางแผนกลยุทธ์ยาก ๆ ร่วมกันได้ ผมแนะนำให้มีกระดาษและปากกาวางข้างตัวขณะที่อ่านไปด้วยครับ (อ.โอ๋ แนะนำให้ใช้ปากกาเพราะถ้าใช้ดินสอเดี๋ยวจะลบวาดใหม่) เล่มนี้เริ่มสอนตั้งแต่เบสิกการลากเส้นง่าย ๆ โดยมีเคล็ดลับว่า “ยิ่งใช้เส้นน้อย ผลลัพธ์ยิ่งมาก” การวาดคนหัวกลม ๆ ทำท่าทางต่าง ๆ วาดลูกศรและการเชื่อมโยง ทำหัวเรื่อง การใช้สัญลักษณ์ องค์ประกอบเหล่านี้จะทำให้เรื่องราวที่นำเสนอน่าสนใจมากขึ้น พอวาดรูปพอได้แล้ว ก็จะมีบทต่อไปที่ท้าทายมากขึ้น เช่น การเล่าเรื่องเป็นภาพ การคิดเป็นภาพในบริบทธุรกิจ (การกำหนดวิสัยทัศน์ การตั้งเป้าหมาย การตัดสินใจ การสำรวจตลาด การแก้ปัญหา การสร้างทีมงาน ฯลฯ) ใครชอบแนวขีด ๆ เขียน ๆ เชิงสร้างสรรค์น่าจะชอบเล่มนี้ครับ ผมแนะนำหนังสือ 4 เล่มรวด ไม่ซ้ำแนวกัน ใครชอบสไตล์ไหนลองไปหาอ่านดูนะครับ อ่านเพลินและเสริมความรู้ให้กับตัวเองครับ.

………………………………………..
คอลัมน์ :
ก้อนเมฆเล่าเรื่อง
โดย
“น้าเมฆ”
https://facebook.com/cloudbookfanpage