อัปเดตสถานะว่าที่ท่าอากาศยาน (สนามบิน) น้องใหม่ 7แห่ง ตามแผนงานของกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ประกอบด้วย ท่าอากาศยานนครปฐม, ท่าอากาศยานบึงกาฬ, ท่าอากาศยานมุกดาหาร, ท่าอากาศยานกาฬสินธุ์, ท่าอากาศยานพะเยา, ท่าอากาศยานพัทลุง และท่าอากาศยานสตูล วงเงินลงทุนรวมประมาณเกือบ 5 หมื่นล้านบาท

เพื่ออำนวยความสะดวก เป็นทางเลือกการเดินทางที่รวดเร็วแก่ประชาชน และนักท่องเที่ยว ขณะนี้บางแห่งยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง ขณะที่บางแห่งเริ่มออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)

เริ่มจาก ท่าอากาศยานนครปฐม วงเงินลงทุนประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท ศึกษาความเป็นไปได้ของการจัดตั้ง (ก่อสร้าง) ท่าอากาศยาน และศึกษาความเหมาะสมในการให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานสำหรับรองรับการบินด้านธุรกิจแล้วเสร็จ ผลศึกษาจะใช้พื้นที่ก่อสร้างประมาณ 3,500 ไร่ ทางวิ่ง (รันเวย์) ขนาด 45×2,500 เมตร ตั้งอยู่บริเวณ อ.บางเลน (ต.บางระกำ, ต.ลำพญา) และ อ.นครชัยศรี (ต.บางแก้วฟ้า, ต.บางพระ และ ต.วัดละมุด) ห่างกรุงเทพฯ 50 กม.

ทย. อยู่ระหว่างจัดทำรายงานชี้แจงข้อมูลอีไอเอเพิ่มเติม หากแล้วเสร็จจะเสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาต่อไป เดิมมีแผนก่อสร้างปี 66 และเปิดบริการปี 69 แต่มีปัญหาการร้องเรียนจากประชาชน รวมทั้งสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลต่อปริมาณผู้โดยสาร ที่ต้องทบทวนใหม่ และเสนอข้อมูลอีไอเอเพิ่มเติม

ท่าอากาศยานบึงกาฬ วงเงิน 3.1 พันล้านบาท ศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างฯ แล้วเสร็จ ที่ตั้งประมาณ 2,500 ไร่ รันเวย์ ขนาด 45×2,500 เมตร อยู่ในเขต ต.โป่งเปือย และ ต.วิศิษฐ์ อ.เมือง จ.บึงกาฬ ห่างจากหอนาฬิกา อ.เมือง จ. บึงกาฬ ประมาณ 12 กม. ใช้เวลาเดินทางจากในเมืองไปถึงท่าอากาศยานบึงกาฬ ประมาณ 15 นาที

กำลังออกแบบผังแม่บททางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน และองค์ประกอบอื่นๆ ตลอดจนศึกษาอีไอเอ คาดว่าจะเสนอ สผ. พิจารณาได้ในปี 66 รวมทั้งอยู่ระหว่างจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อออกแบบรายละเอียดอาคารที่พักผู้โดยสารด้วย คาดว่าจะลงนามสัญญาออกแบบกับเอกชนได้ ประมาณเดือน เม.ย. 66 มีแผนจะเริ่มก่อสร้างในปี 68 และเปิดบริการปี 70

ท่าอากาศยานมุกดาหาร วงเงิน 5 พันล้านบาท ศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างฯ แล้วเสร็จ เบื้องต้นที่ตั้งเหมาะสมอยู่บริเวณ ต.คำป่าหลาย อ.เมือง จ.มุกดาหาร พื้นที่ประมาณ 2 พันไร่ อยู่ห่างจาก อ.เมืองมุกดาหาร ประมาณ 20 กม.

อยู่ระหว่างออกแบบผังแม่บททางวิ่ง (รันเวย์) ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน และองค์ประกอบอื่นๆ ตลอดจนศึกษาอีไอเอ คาดว่าจะเสนอ สผ. พิจารณาได้ในปี 66 อีกทั้งกำลังจัดซื้อจัดจ้างเพื่อออกแบบรายละเอียดอาคารที่พักผู้โดยสารด้วย คาดว่าจะลงนามสัญญาออกแบบกับเอกชนได้ ประมาณเดือน เม.ย. 66 มีแผนจะเริ่มก่อสร้างในปี 68 และเปิดบริการปี 70

ท่าอากาศยานสตูล วงเงิน 4.1 พันล้านบาท ศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างฯ แล้วเสร็จ ที่ตั้งที่เหมาะสมอยู่บริเวณด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเมืองสกูล ต.เจ๊ะบิลัง อ.เมือง พื้นที่ 2,797 ไร่ อยู่ระหว่างจัดซื้อจัดจ้างโครงการจ้างที่ปรึกษาออกแบบงานก่อสร้าง ทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน และองค์ประกอบอื่นๆ รวมถึงอาคารที่พักผู้โดยสาร คาดว่าจะลงนามสัญญากับเอกชนได้ ประมาณเดือน เม.ย. 66 รวมทั้งศึกษารายงานอีไอเอ มีแผนจะเริ่มก่อสร้างปี 69 และเปิดบริการปี 71

ส่วนอีก 3 สนามบิน กำลังศึกษาความเป็นไปได้ รายละเอียดยังไม่ชัดเจนนัก ประกอบด้วย ท่าอากาศยานกาฬสินธุ์ มูลค่าโครงการ 2 พันล้านบาท เบื้องต้นคนในพื้นที่ต้องการให้ท่าอากาศยานแห่งนี้ใช้ชื่อว่า “ท่าอากาศยานสารสินธุ์” เพราะใช้ประโยชน์ร่วมกันของ 2 จังหวัดคือกาฬสินธุ์กับมหาสารคาม ท่าอากาศยานพะเยา มูลค่า 4,421 ล้านบาท เบื้องต้นตั้งอยู่ใน อ.ดอกคำใต้ มีทางวิ่งกว้าง 45 เมตร ยาว 2,500 เมตร ห่างจากตัวเมืองประมาณ 18 กม. และ ท่าอากาศยานพัทลุง มูลค่าการลงทุน 3,075 ล้านบาท กำลังหาพื้นที่ก่อสร้างที่เหมาะสม อาทิ ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง (ควนมะพร้าว) ริมทะเลสาบสงขลา อ.เมือง ห่างตัวเมืองพัทลุง ประมาณ 10 กม.

ทย. มีสนามบินในความดูแลรวม 29 แห่ง ประมาณกลางปีนี้ 3 สนามบินกระบี่ อุดรธานี และบุรีรัมย์ จะถูกโอนไปอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และกระทรวงคมนาคม ทย. จะเหลือสนามบินในการดูแล 26 แห่ง

แจ้งเกิด 7 ว่าที่สนามบินน้องใหม่แล้ว ยังเดินหน้าได้แค่ในกระบวนการตามปกติเท่านั้น หากจะก่อสร้าง ต้องเสนอ ครม. เห็นชอบงบประมาณ จึงต้องรอนโยบายรัฐบาลหน้า หากมีการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง อาจต้องรื้อศึกษา..รื้อศึกษา…นับหนึ่งกันใหม่

…ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์…