ในปัจจุบัน ปัญหา PM2.5 ส่งผลไม่ใช่แค่เฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ แต่ยังแพร่ไปยังหลาย ๆ จังหวัด รวมถึงกรุงเทพมหานคร อย่างที่ปรากฏในข่าวที่เราเห็นกันอยู่แทบทุกวัน และนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อมลพิษทางอากาศรุนแรงขึ้นเช่นนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างที่หลีกเลี่ยงได้ยาก

โดย ผศ.นพ.ศิระ เลาหทัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ศัลยศาสตร์ทรวงอกเฉพาะทางด้านโรคปอด โรงพยาบาลวชิรพยาบาล ได้เผยถึงเรื่องดังกล่าวผ่าน Healthy Clean ว่า หากดูข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า ปัญหามลพิษทางอากาศ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการเสียชีวิตประชากรที่เสียชีวิตในโลก ซึ่งปัญหามลพิษทางอากาศที่พบบ่อยเป็นลักษณะแบบ Particulate matter (PM) เป็นฝุ่นละอองที่มีทั้งของเหลวและของแข็ง ซึ่งเป็นโลหะพิษ (toxic compound) และสารประกอบไฮโดรคาร์บอน (hydrocarbon) โดยขนาดฝุ่นละอองที่มีขนาด 2.5-5 μm หรือ PM 2.5 นั้น จะสามารถลงไปจะสามารถลงไปจนถึงหลอดลมฝอย (respiratory bronchiole) และถุงลม (alveoli) ได้

โดยสาเหตุมักเกิดจากการเผาไหม้ในที่โล่งในทางเกษตรกรรม การเผาไหม้น้ำมันดิบ ไอเสียรถยนต์ดีเซล การเผาไหม้ในเตาเผาครัวเรือน ซึ่งฝุ่นเหล่านี้ จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการคัดจมูก แสบตา เจ็บคอ จาม จนไปถึงหลอดลมมีอาการอักเสบได้

“สำหรับผลกระทบของฝุ่นละอองขนาดเล็กต่อสุขภาพอนามัย PM 2.5 นั้น ส่งผลทำให้การต่อต้านอนุมูลอิสระลดลง ทำให้ความแข็งแรงของเซลล์ลดลง และทำให้การอักเสบของเนื้อเยื่อมากขึ้น”

นอกจากนี้ ยังการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ทำงานผิดปกติ และยังก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้กำเริบได้ โดยเฉพาะในส่วนโรคระบบทางเดินหายใจ อีกทั้งยังส่งผลทำให้มีอัตราการเจ็บป่วยเพิ่มมากขึ้นในผู้ป่วยโรคหอบหืด (asthma) โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (chronic obstructive pulmonary disease) ปอดติดเชื้อ (pneumonia)

“ฝุ่นละอองกับการเกิดโรคมะเร็ง ฝุ่น PM 2.5 มีความเป็นพิษต่อยีน (genotoxic) โดยตรง ทำให้สารพันธุกรรมเสียหาย (DNA damage) โดยสัมพันธ์กับการก่อให้เกิดมะเร็งปอด ซึ่งคนทั่วไปที่ไม่สูบบุหรี่ แต่อยู่กับมลภาวะ PM 2.5 จะทำให้เกิดความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดมากกว่าคนทั่วไปถึง 1.4 เท่า”

โดยวิธีที่จะป้องกันตัวเราจากสภาวะนี้ แนะนำให้งดกิจกรรมกลางแจ้ง เมื่อมีคำเตือนและอยู่ภายในบ้านหรือในอาคารให้มากขึ้น แต่ถ้าจำเป็นต้องออกไปในที่โล่งแจ้งจริง ๆ ควรใส่หน้ากากสำหรับป้องกันฝุ่น PM 2.5 อีกทั้งยังควรงดออกกำลังกาย หรือออกแรงในที่ที่มีฝุ่นมาก

อย่างไรก็ตาม คุณหมอได้ทิ้งท้ายด้วยว่า หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีอาการระคายเคืองบริเวณทางเดินหายใจ แสบจมูก แสบคอ หายใจไม่สะดวก เหนื่อยง่ายหรือไอ ให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที และแนะนำการติดตามข่าวสารเกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5 และปฏิบัติตามคำแนะนำเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ในช่วงเวลาที่เกิดปัญหามลพิษทางอากาศมากๆ..

………………………………………….
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “พรรณรวี พิศาภาคย์”