สนามการเลือกตั้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ที่ประกอบด้วย จ.ปัตตานี, ยะลา และ จ.นราธิวาส ที่ในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีการแข่งขันกัน “ดุเดือด” เพราะพรรคการเมืองพรรคใหญ่-พรรคเล็ก ต่างส่งผู้สมัครลงทุกเขตเลือกตั้งใน 13 เขตของ 3 จังหวัด โดยทุกพรรคต่างมั่นใจว่า ผู้สมัครของพรรคเอง “สู้ได้” หรือ “มีลุ้น” หลายพรรคมี “ฐานเสียง” ที่ “เข้มแข็ง” และ “มั่นคง”

โดยพรรคที่ถูก “จับตามอง” มากที่สุด และเป็นพรรคการเมืองที่ทุกพรรค “คู่แข่ง” สั่ง “จับตา” คือ พรรคประชาชาติ ที่ถูกมองจากพรรคการเมืองและประชาชนบางกลุ่มว่า เป็น “พรรคท้องถิ่น” เป็นพรรคการเมือง “มลายู” เป็นพรรคชาตินิยมของประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากหัวหน้าพรรค นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภา อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง เป็น “คนมลายู” ที่มี “ภูมิลำเนา” ใน จ.ยะลา และเป็นผู้นำทางการเมืองของ “นักการเมือง” ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่สมัยที่รวมตัวกันเป็น “กลุ่มวาดะห์” ก่อนที่จะ “ผันตัว” มาเป็นหัวหน้าพรรคประชาชาติ และพรรคประชาชาติที่ลงสนามเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2562 ก็สามารถได้ ส.ส. ในพื้นที่ 3 จังหวัดถึง 6 คน จังหวัดละ 2 ที่นั่ง ที่เป็นความเซอร์ไพร้ส์เป็นอย่างยิ่ง

การเลือกตั้งในปี 2566 “ผลโพล” ทุกสำนัก รวมทั้งของ “หน่วยงานรัฐ” ที่เชื่อถือได้ ยกให้ “ประชาชาติ” เป็นพรรคการเมือง “เต็งหนึ่ง” มีการให้ “เครดิต” ว่า “ประชาชาติ” จะได้ ส.ส.เขต จำนวน 10 เขต จาก 13 เขต ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีการ “ฟันธง” ว่า 6 เขต ได้แน่นอน และอีก 4 เขต เป็นการแย่งชิงกับผู้สมัครของพรรคคู่แข่ง นั่นคือ ประชาธิปัตย์, พลังประชารัฐ, ภูมิใจไทย และรวมไทยสร้างชาติ

ในขณะที่ “โพล” ที่ “ประชาชาติ” มีการทำการ “สำรวจ” คะแนนนิยมของพรรค พบว่าผู้สมัครของ “ประชาชาติ” มีคะแนนนิยมในหมู่ของประชาชน เหนือ “คู่แข่ง” ทุกพรรคการเมืองถึง 12 เขตเลือกตั้ง มีเพียงเขตเลือกตั้งเดียวที่ “คะแนนนิยม” ตามหลัง “คู่แข่ง” ซึ่งคงจะเป็นเขตเลือกตั้งที่ 1 จ.นราธิวาส ที่มีเหตุผลเรื่องของ “พันธมิตร” ที่พรรคจำเป็นต้องรักษาไว้ เพราะผู้สมัครเขต 1 จ.นราธิวาสคือ “วัชระ ยาวอหะซัน” ที่มีนามสุกลเดียวกับผู้สมัครเขต 3 ของ “ประชาชาติ” คือ “กูเฮง ยาวอหะซัน” และทั้ง 2 คน เป็น “เลือดเนื้อเชื้อไข” ของนายก อบจ.นราธิวาส “กูเซ็ง ยาวอหะซัน” ที่ถูกยกให้เป็นบ้านใหญ่ของ จ.นราธิวาส นั่นเอง

โดยเขตที่ “ประชาชาติ” ถูกจับตามองมากที่สุดคือ “จ.ยะลา” ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีเพียง 3 เขตเลือกตั้ง และที่ผ่านมา “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ที่เป็น “แม่ทัพ” ของพรรคการเมืองที่เคยสังกัดในอดีต ก่อนที่จะตั้งพรรคของตนเองคือ “ประชาชาติ” ไม่เคยที่จะได้ ส.ส.ยะลา ยกจังหวัด โดยเขตเลือกตั้งที่ 1 และที่ 3 เป็นของ “ประชาธิปัตย์” แต่ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 “ประชาชาติ” สามารถ “ปักธง” ในเขต 2 และเขต 3 ได้สำเร็จ แต่ “พ่ายแพ้” ในเขต 1 และไม่ได้พ่ายแพ้ให้กับประชาธิปัตย์เหมือนทุกครั้ง แต่พ่ายแพ้ให้กับพรรคการเมืองใหม่อย่างพลังประชารัฐ และพ่ายแพ้ให้กับนักการเมืองท้องถิ่น อย่าง อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ครั้งนี้ด้วยกระแสที่ร้อนแรงของประชาชาติ จึงเป็นโอกาสเดียวและโอกาสดีสำหรับ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ที่จะแสดงพลังของ “บ้านใหญ่” ด้วยการได้ ส.ส. ยกจังหวัด แต่ก็ไม่ง่าย เพราะต้อง “ก้าวข้าม” ประสิทธิ์ พงษ์สุวรรณศิริ จากค่ายประชาธิปัตย์ และ “อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ” ส.ส. เจ้าของเก้าอี้จากพลังประชารัฐ ที่เลือกตั้งครั้งนี้ “ลุงป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้เป็นหัวหน้าพรรค สั่ง “สู้ตาย” เพื่อรักษาที่มั่นในเขต 1 ยะลา ให้ได้

สำหรับปัตตานีเลือกตั้งครั้งนี้ “ประชาชาติ” ประกาศสู้ทั้ง 5 เขต และที่ต้องจับตามอง คือ เขตเลือกตั้งที่ 1 ที่ “ประชาชาติ” พบกับ “คู่แข่ง” ที่ “สมน้ำสมเนื้อ” ทั้ง พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา จากภูมิใจไทย และ ดร.สนิท นาแว จากประชาธิปัตย์ ที่ ผศ.วรวิทย์ บารู ผู้สมัครของประชาชาติ และ “แกนนำ” ของประชาชาติ ประมาทไม่ได้ เพราะวันนี้ “ประชาธิปัตย์” ยุคใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม และ “ภูมิใจไทย” ที่พร้อมมาก รวมทั้งอย่าได้ประมาท ตระกูล “โต๊ะมีนา” ที่สำคัญทุกพรรคมีคู่แข่งร่วมที่ “ตัดคะแนน” จากผู้สมัครจาก “ก้าวไกล” เพราะเขต 1 ปัตตานี คือพื้นที่ อ.เมืองปัตตานี ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ฯ และสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ส่วนในเขต 2-5 ปัตตานี “ประชาชาติ” แข่งกับ “ประชาธิปัตย์” และ “จุดแข็ง” ของประชาชาติ ใน “ปัตตานี” ครั้งนี้ คือมี “บ้านใหญ่” อย่าง “เศรษฐ์ อัลยุฟรี” นายก อบจ.ปัตตานี ที่นอกจากหนุนเสริมแล้ว ยังส่งน้องเขยลงสมัคร ส.ส.เขต 5 ในนาม “ประชาชาติ” ซึ่งเขตนี้ถ้า “นายกเศรษฐ์” ไม่สามารถส่งให้ “น้องเขย” เป็น ส.ส. ก็จะเป็นเรื่องที่เสียหาย และเสียหน้า เป็นอย่างยิ่ง ที่สำคัญเขตเลือกตั้งที่ 5 มีอดีต ส.ส. สมัยที่แล้วของประชาธิปัตย์ อันวาร์ สาและ ลงสมัครในสีเสื้อพลังประชารัฐ

สำหรับ “ปัตตานี” ประชาชาติ สู้ได้ทุกเขต มีทั้งเขตที่ทิ้งห่างคู่แข่ง และเขตที่ “หายใจรดต้นคอ” ของ “คู่แข่ง” ที่ “แกนนำ” ของพรรคมั่นในว่า 100 เมตรสุดท้ายก่อนถึงเส้นชัย ประชาชาติต้องเข้าวิน

ส่วน จ.นราธิวาส เป็นอีกหนึ่งสมรภูมิ ที่ประชาชาติ มีคะแนนเสียง ที่นำคู่แข่งทั้ง 4 เขต ยกเว้น เขต 1 ส่วน “คู่แข่ง” ของประชาชาติ มีทั้ง “ประชาธิปัตย์” ในเขตเลือกตั้งที่ 2 “เมธี อรุณ” และ “เจะอามิง โตะตาหยง” ในเขตเลือกตั้งที่ 5 และ “สัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ” (บีลา) จากพลังประชารัฐ รวมทั้ง ภูมิใจไทย ที่ นัจมุดดีน อูมา แม่ทัพภูมิใจไทย จ.นราธิวาส “ดิ้นรน” ทุกวิถีทางในการปักธงภูมิใจไทย ในลุ่มน้ำบางนราให้ได้น้อยที่สุด 1 เขต

สำหรับประชาชาติ ที่ “ผลโพล” ยกให้เป็นพรรคการเมือง “เต็งหนึ่ง” ที่ปักธงได้แล้ว 6 เขต และเข้าสู่การแย่งชิงใน 100 เมตรสุดท้าย อีก 4 เขต มีจุดแข็งที่หัวหน้าพรรค “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ที่สามารถเกาะกุมกลุ่มผู้นำศาสนาในพื้นที่ได้อย่างแน่นเหนียว ในขณะที่ “ยุทธศาสตร์” ของ “ประชาชาติ” ที่มาจากสมองของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรค ในการเขียนนโยบายพรรค เป็นที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ และโดนใจประชาชน โดยเฉพาะการนำเสนอรัฐสวัสดิการที่ “รัฐบาล” ต้องดูแลประชาชนตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน เป็น “นโยบาย” ที่ “โดนใจ” คนทั้งประเทศ

ต้องมาลุ้นกันว่า 14 พฤษภาคม นี้ พรรคประชาชาติจะคว้าเก้าอี้ ส.ส. ได้กี่ที่นั่ง.

ไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล