สุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้ง โคแฟค (ประเทศไทย) ร่วมสะท้อนข้อคิดควรระวังโค้งสุดท้ายเลือกตั้ง ข้อมูลลวงจะมาแบบใดได้บ้าง โดยยอมรับว่าสถานการณ์นี้เข้มข้นขึ้นแน่นอน นักการเมืองแต่ละพรรคก็ต้องระวังไม่ให้ตัวเองเป็น “จุดอ่อน” พูดอะไรคงต้องมีความระวัง อาจถูก “ดิสเครดิต” ได้ หากพูดผิดข้อเท็จจริง หรือพูดแล้วเกิด “ทัวร์ลง” หรือมี “ดราม่า”

อย่างไรก็ตาม ประเด็นคือกลุ่มที่จัดตั้ง จะมีการปล่อยข้อมูลอะไรออกมาบ้างหรือไม่ เพราะครั้งนี้เป็นการต่อสู้กันระหว่างขั้ว ไม่เหมือนกับครั้งที่ผ่านมา มีความซับซ้อนและเกิดภาวะความหวาดระแวง คงต้องจับตาทั้งขั้วอำนาจ และขั้วตรงข้าม จะปล่อยยุทธศาสตร์อะไรออกมาเพิ่มเติม

อีกกลุ่มคือ อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) และกลุ่มผู้นำทางความคิด เชื่อว่าจะมีการแสดงบทบาทในเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เยอะขึ้นช่วงโค้งสุดท้าย เพื่อโน้มน้าวหรือว่าทำให้คนที่ยังลังเลตัดสินใจ ถือเป็นช่วงที่ละเอียดอ่อน ทุกพรรคต้องระมัดระวังมากขึ้น โดยกลุ่มที่เป็นคะแนนเดิม หรือ “กลุ่มรักแท้” กลุ่มนี้ไม่ว่าจะอย่างไรก็เลือกพรรคที่ตั้งใจ แต่อีกกลุ่มที่มีผลต่อคะแนน คือกลุ่มคนที่ยังไม่ติดสินใจ กลุ่มนี้คือกลุ่มสวิงโหวตที่จะเป็นตัวชี้วัด

“ต้องจับตาดูว่า ในช่วงโค้งสุดท้ายจนถึงวันเลือกตั้งว่า จะมีปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของทั้ง 2 ฝ่ายอย่างไร เพื่อมาโน้มน้าวให้ตัดสินใจเลือกพรรคของตนเอง”

ในฐานะที่มีบทบาทติดตาม ตรวจสอบข่าวลวง สุภิญญา ยังวิเคราะห์จากการตั้งวอร์รูมติดตามข่าวลวงช่วงเลือกตั้งจนถึงปัจจุบัน พบมีระดับหนึ่ง อยู่ที่การจัดลำดับประเภทของระดับข่าวลวง หรือข้อมูลลวง แต่อยากใช้คำว่า “ข้อมูลลวง” มากกว่า มีการนำเสนอแบบ “Disinformation คนสร้างข้อมูลเท็จ บิดเบือนข้อมูลโดยเจตนา เพื่อมุ่งหวังเงิน อิทธิพลทางการเมือง หรือมุ่งสร้างปัญหาที่เป็นอันตราย” และ “Misinformation คนเผยแพร่ข้อมูลเท็จออกไป โดยที่ไม่รู้ว่าข้อมูลนี้เป็นเท็จหรือบิดเบือน บ่อยครั้งที่ผู้เผยแพร่คิดว่าตนพยายามที่จะช่วย หรือต้องการความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน”

ระดับของข้อมูลลวงมี 7 ระดับ ตั้งแต่ พวกเสียดสีล้อเลียน หรือ มีม ที่ทำขึ้นมาขำ ๆ ไปจนถึงประเภทตั้งใจบิดเบือนเพื่อทำร้าย ทำลายเป้าหมาย ก็คือ ปลอม (Fake) ขึ้นมา 100% ซึ่งมีไม่เยอะมาก เนื้อหาส่วนมากจะอยู่ตรงกลาง เรียกว่า “Misleading-ทำให้เข้าใจผิด” เป็นเนื้อหาประเภทจริงบางส่วน หรือผิดบริบท ลักษณะนี้จะลึกซึ้งกว่าข่าวลวง หรือข้อมูลลวง ซึ่งก็ต้องอาศัยทักษะรู้เท่าทันสื่อ เท่าทันข้อมูล

อีกหนึ่งลักษณะที่พบมากในช่วงหาเสียงคือ “การเคลม” อ้างนโยบายต่าง ๆ ว่าเป็นผลงานใคร หรือค่าไฟแพงเป็นเพราะใคร ดังนั้น ต้องค่อย ๆ ไล่ดูว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพราะทุกคนก็จะพูดสิ่งที่ดีเข้าตัวเอง แล้วโทษสิ่งที่ไม่ดีต่อคนอื่น เรียกว่า Half-Truth (พูดเพียงครึ่งเดียว) หรือ Alternative-fact (ความจริงทางเลือกหรือการเลือกเอาข้อเท็จจริงบางอย่างมาพูด)

ส่วนการตรวจสอบข่าว (Fact Check) สุภิญญา แนะดูว่าอะไรที่จริงครึ่งหนึ่ง หรือเป็น Half-Truth หรือเป็นความจริงทางเลือก ที่ฝั่งที่พูด เลือกที่จะพูดฝั่งเดียวไม่ได้ครอบคุลมทั้งหมด จะเข้าข่ายทำให้เข้าใจผิด ซึ่งเข้าใจได้ว่าการหาเสียงมักมีแบบนี้ทุกยุค ขึ้นอยู่กับมาตรฐานของแต่ละพรรค

ประเด็นสำคัญคือผู้บริโภคและคนดูต้องทำใจร่ม ๆ เปิดใจกว้าง ๆ ไม่ควรเชื่อไปทั้งหมดตั้งแต่แรก ไม่ว่าจะใครพูด แต่ก็ไม่ได้อคติไปทั้งหมด ต้องรับฟังข้อมูลด้วยใจ เปิดกว้างรู้ว่าการหาเสียงก็เป็นแบบนี้ มีทั้ง “จริง” และ “ไม่จริง”

ทั้งนี้ หากถามว่าทำอย่างไรจึงจะรู้ว่าอะไรจริงหรือไม่จริงก็ต้องฝึกทักษะในการตรวจสอบข้อมูล เพราะข้อมูลบางครั้งก็ไม่มีใครจริง 100% ไม่มีใครเท็จ 100% ขึ้นอยู่กับแต่ละคน เลือกที่จะนำเสนอแบบไหน และอยู่ที่เจตนาว่าต้องการให้เกิดการตีความแบบไหนด้วย

สำคัญคือสุดท้ายคนที่ไม่อยากจะเชื่อก็ไม่เชื่ออยู่ดี คนที่อยากจะเชื่อก็เชื่ออยู่ดี แม้ว่าจะมีข้อเท็จจริงหรือข้อมูลมาพิสูจน์แล้ว ตรงจุดนั้น อาจจะเป็นสิ่งที่คน ๆ นั้นเลือกแล้วว่าชอบพรรคนี้ ก็จะเลือกพรรคนี้ ก็เป็นสิทธิของแต่ละบุคคล ตราบใดที่ไม่เอาข้อมูลเท็จนั้นไปขยายต่อ

“สิ่งที่กังวลมากกว่าคือ จะมีคนกลุ่มหนึ่งหลับหูหลับตาไม่รับฟังข้อเท็จจริง และพยายามแชร์ข้อมูลที่มีการบิดเบือนออกไป แม้จะว่าไม่จริงหรือจริงก็ตาม ซึ่งตรงนี้ไม่ว่าจะฝ่ายไหนก็ตาม ก็จะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ก่อให้เกิดความเกลียดชัง หรือเกิดความขัดแย้งในสังคมอย่างลึกซึ้งได้”

สุภิญญา ยอมรับกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่เปลี่ยนใจยาก เพราะมี 2 แบบ คือ กลุ่มจัดตั้ง ที่ถูกจัดมาโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะจากฝ่ายใด หรือ ที่เรียกว่า IO (ไอโอ) และ กลุ่มที่เชื่อโดยมืดบอด แบบรักคลั่งไคล้ หรือปักจิตฝังใจ แต่ตราบใดที่สองกลุ่มนี้อยู่ในขอบเขตที่ไม่อันตรายต่อคนอื่นหรือสังคมมากก็ไม่เป็นไร เพียงแต่ต้องช่วยกันเฝ้าระวัง หากแนวคิดอะไรที่สุดโต่งไม่ว่าจะฝ่ายไหน ก็นำไปสู่การทำให้เกิดความรุนแรง หรือความเกลียดชังในสังคมได้ อาจจะต้องมีการตักเตือนหรือช่วยกันส่งเสียงเตือนบ้าง

อย่างไรก็ตาม ในโอกาสเลือกตั้งครั้งใหญ่ ก็อยากให้คนออกมาเลือกตั้งกันเยอะ ๆ มาใช้สิทธิของตัวเอง เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ

“ส่วนหนึ่งมีคนตื่นตัว แต่ก็มีคนที่เบื่อด้วยเช่นกัน สำหรับคนที่ตั้งใจออกมาเลือกตั้ง ก็ต้องทำใจร่ม ๆ เปิดใจกว้าง ๆ รับฟังข้อมูลอย่าอิน ส่วนคนที่ไม่อยากมาเลือกตั้ง อยากขอให้ออกมาใช้สิทธิ 4 ปีครั้ง ดีกว่าปล่อยทิ้งไป” สุภิญญา ฝากทิ้งท้าย ไม่ว่าเลือก หรือไม่เลือกใคร ในฐานะพลเมือง ขอให้ออกไปใช้ 1 สิทธิ อย่าปล่อยสูญเปล่า.