โดยทั่วไปแล้ว หากพูดถึงอาการเจ็บป่วย หลายๆ คนคงจะนึกถึงการป่วยทางการ ด้วยโรคต่างๆ แต่ที่จริงแล้ว เรายังมีความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ ที่ไม่ได้แสดงออกให้เห็นเป็นรูปธรรม ด้วยเหตุผลนี้ อาจจะทำให้ใครหลายคนละเลย หรือหลงลืมการดูแลจิตใจที่ถูกกระทบจากความเครียด ความรวดเร็ว และไม่แน่นอน

โดยในวันนี้ นพ.กานต์ จำรูญโรจน์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้เผยข้อมูลที่น่าสนใจผ่าน Healthy Clean ระบุว่า หากย้อนดูข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เราจะพบตัวเลขภาพรวมผู้ป่วยจิตเวชว่า ในปีงบประมาณ 2566 (ข้อมูลถึงเดือนเมษายน) มีจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา (ผู้ป่วยนอก) ประมาณ 1.70 แสนคน
หากย้อนกลับไปในปีงบประมาณ 2565 พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยฯ ประมาณ 2.91 แสนคน และปีงบประมาณ 2564 พบว่ามีผู้ป่วยฯ อยู่ประมาณ 2.65 แสนคน

“สำหรับผู้ป่วยโรคจิตเวชโดยเฉพาะโรคซึมเศร้า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่แค่เฉพาะที่ไทยเท่านั้น และการรักษาจะคล้ายกับโรคเรื้อรัง กล่าวคือต้องอาศัยการดูแล และทานยาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ป่วยต้องเตรียมค่าใช้จ่ายเอาไว้ เพื่อใช้ในการรักษา เพราะยารักษาโรคทางจิตเวชจำนวนไม่น้อย ยังอยู่นอกบัญชียาหลักแห่งชาติ”

การรักษาโรคทางจิตเวช จะเป็นการรักษาแบบโรคเรื้อรัง เมื่อรักษาต่อเนื่องจะช่วยให้อาการดีขึ้น จนสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ แต่อาการก็อาจกำเริบขึ้นได้เมื่อขาดยา ถูกกระตุ้นโดยความเครียด อดนอน หรือบางครั้งก็ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน ฉะนั้นผู้ป่วยจะต้องทานยาอย่างต่อเนื่อง นั่นจึงทำให้การรักษาจะมีค่าใช้จ่ายในระยะยาว ซึ่งอาจจะเกิดผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต และอาจนำไปสู่การยุติการรักษาของผู้ป่วยได้

“ค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในการรักษาค่อนข้างสูง เพราะส่วนหนึ่งยาที่นำมาใช้ในการรักษาจำนวนไม่น้อย ยังเป็นยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติ และเป็นยาที่มีราคาค่อนข้างสูง แม้ว่าจะมียาบางชนิดที่อยู่ในบัญชียาหลัก แต่สำหรับผู้ป่วย ที่เป็นโรคที่มีความซับซ้อน อาจต้องอาศัยการรักษาด้วยยาหลายชนิด ซึ่งไม่สามารถใช้เพียงยา ในบัญชียาหลักได้ จำเป็นต้องใช้ยานอกบัญชี นี่ก็จะทำให้เกิดผลกระทบแล้วว่าจะบริหารจัดการเรื่องยาอย่างไร”

อีกหนึ่งสิ่งที่คนอาจจะไม่เคยรู้ นั่นคือ “โรคทางจิตเวช” เกิดขึ้นได้กับทุกช่วงวัย ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุ เช่น โรคสมาธิสั้น สามารถพบได้ตั้งแต่เด็ก และมีอาการต่อเนื่องไปจนถึงช่วงวัยรุ่น โรคอารมณ์สองขั้ว สามารถพบได้ตั้งแต่ผู้ใหญ่ตอนต้นไปจนถึงตอนปลาย ส่วนโรคสมองเสื่อม ก็เป็นส่วนหนึ่งของโรคทางจิตเวชที่สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้สูงอายุ

โรคทางจิตเวชสามารถแบ่งได้หลายแบบ หากแบ่งตามอาการจะแบ่งได้หลัก ๆ เป็น 5 ด้าน ได้แก่
1. โรคที่มีอาการด้านพฤติกรรมผิดปกติ
2. โรคที่มีอาการด้านอารมณ์ผิดปกติ
3. โรคที่มีอาการด้านความคิดผิดปกติ
4. โรคที่มีอาการด้านการทำงานของสมอง ผิดปกติ (ความจำ สมาธิ การวางแผน การตัดสินใจ ฯลฯ)
5. โรคทางจิตเวชที่แสดงออกเป็นอาการทางร่างกาย แต่ทั้งนี้ โรคทางจิตเวชบางโรค ก็มีอาการคาบเกี่ยวกันหลายด้านได้เช่นกัน

นพ.กานต์ อธิบายอีกด้วยว่า “ปัจจุบันโรคซึมเศร้าเป็นอีกหนึ่งโรคที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก หากสงสัยว่าตนเองมีอาการเข้าข่ายหรือไม่ ก็จะมีวิธีการประเมินอารมณ์ตนเองเบื้องต้น เช่น สังเกตว่าอารมณ์ที่กำลังเผชิญอยู่เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานหรือไม่ หรือถูกทักจากคนรอบข้างว่ามีอารมณ์ที่เปลี่ยนไปจากเดิม ไม่เข้าสังคม รู้สึกไม่มีพลังหรือไม่ รวมไปถึงมีพฤติกรรมบางอย่างที่ผิดปกติไม่ว่าจะเป็นการนอน หรือการรับประทานอาหาร ขาดสมาธิ เป็นต้น”

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการดูแลสุขภาพจิต สามารถทำได้ไม่ว่าจะเป็นการหาเวลาพักผ่อนให้เพียงพอ ตระหนักรู้ถึงสาเหตุของอารมณ์ และความเครียด รวมไปถึงการออกกำลัง การพูดคุยกับคนที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย และอีกอย่างหนึ่งก็คือการฝึกการรับรู้อารมณ์ของเราเรื่อย ๆ ว่าเรากำลังรู้สึกอย่างไร พอรับรู้แล้วก็คล้าย ๆ กับการเรียนรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบัน เปิดรับ ยอมรับว่าบางครั้งเราก็มีความทุกข์ มีวันที่อารมณ์ดี มีวันที่อารมณ์ไม่ดีเพราะเราก็เป็นมนุษย์

“เรื่องสุขภาพจิตเป็นส่วนสำคัญที่เทียบเท่าได้กับสุขภาพกาย แม้บางครั้งอาจไม่ได้เห็นเป็นรูปธรรม แต่ส่วนตัวเชื่อว่า ทุกวันนี้ทุกคนก็เห็นแล้วว่าสำคัญ แต่ก็อยากจะเน้นย้ำว่า เมื่อสุขภาพจิตไม่ดี ก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางร่างกาย และสุขภาพทางสังคมด้วย ฉะนั้นไม่อยากให้ลืมเรื่องนี้ครับ”..

………………………………………….
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “พรรณรวี พิศาภาคย์”