เดือน มิ.ย. เป็นเดือนที่หลายประเทศทั่วโลก (คือประเทศที่ยอมรับกลุ่มหลากหลายทางเพศ หรือ LGBT+) จัดงานพาเหรดที่เรียกว่า Gay Pride ซึ่งคำว่า “เกย์” ไม่ได้หมายถึงเฉพาะชายรักชาย แต่มันรวมกลุ่มหลากหลายทางเพศไว้ทั้งหญิงรักหญิง คนข้ามเพศ ปัจจุบันมีการขยายตัวอักษร LGBT ให้มั่วไปหมด เพราะกลุ่มหลากหลายทางเพศก็ต้องการให้อัตลักษณ์ของตัวเองอยู่ในส่วนตัวอักษร L มาจาก Lesbian ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นตัวแรกของอักษรเรียงนี้ เพราะสมัยช่วงที่คนเพิ่งรู้จักเชื้อ HIV และโรคเอดส์ มีการกีดกันเรื่องการรับบริจาคเลือดเกย์ และกลุ่มเลสเบี้ยนนี้ก็ช่วยเรื่องบริจาคเลือด

G ก็ Gay ชายรักชาย B ก็ Bisexual หรือกลุ่มรักสองเพศ และ T มาจาก Transgender คือกลุ่มคนข้ามเพศ สามตัวอักษรแรกจะเป็นรสนิยมทางเพศ ตัว T จะเป็นอัตลักษณ์ทางเพศ และต่อมามีการเพิ่มตัว I หรือ Intersex หรือกลุ่มเพศกำกวม เกิดมามีอวัยวะเพศทั้งชายและหญิง กลุ่ม Q หรือ Queer ซึ่งเป็นตัวที่ค่อนข้างอธิบายยาก อาจเรียกว่าเป็นกลุ่มอัตลักษณ์และรสนิยมทางเพศลื่นไหลก็น่าจะได้ ล่าสุดจะมีการเพิ่มตัว A หรือ Asexual เข้าไปอีก กลุ่มนี้คือกลุ่มที่ไม่มีอารมณ์ทางเพศกับเพศไหน แต่ไม่ใช่ไม่มีอารมณ์ทางเพศ (ฟังแล้วงงไหม) คือตัวเร้าอารมณ์ทางเพศเขาอาจเป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่เรื่องเพศของคู่ตรงข้าม เอาเป็นว่า ถ้าเอาทุกอัตลักษณ์มารวมกันในตัวอักษรเรียงๆ กันนี้ มันจะเยอะ เลยเอาแค่ LGBT+ ละกัน

พาเหรดเดือน Pride คือการแสดงออกถึงความภูมิใจในอัตลักษณ์ และรสนิยมทางเพศของตัวเองว่าไม่ใช่เรื่องผิด และยังต้องการสื่อสารต่อไปยังสังคมถึงประเด็นที่กลุ่มหลากหลายทางเพศเรียกร้อง ซึ่งบางเรื่องไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มหลากหลายทางเพศ แต่มีประเด็นอื่นทั้งเกี่ยวกับการเมือง นโยบาย หรือสิทธิส่วนบุคคลเข้ามา ในงานไพรด์ จะโอบรับการเดินขบวนเพื่อแสดงจุดยืน หรือเรียกร้องต่อปัญหา อย่างเช่น เรื่องสิทธิของกลุ่มค้าประเวณี, สิทธิของกลุ่มผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ที่ต้องเข้าถึงบริการสุขภาพได้, สิทธิในการทำแท้งเสรีหรือผ้าอนามัยฟรี, สิทธิในการยกเลิกการเกณฑ์ทหาร, สิทธิในรัฐสวัสดิการของคนพิการ ..เมื่อเอาปัญหาหลายเรื่องมารวมกัน กลุ่มที่ไม่ใช่ LGBT หรือกลุ่ม Cisgender (กลุ่มเพศสภาพและเพศวิถีตรงกับเพศกำเนิด) ก็สามารถเข้าร่วมงานไพรด์ได้ หลายกลุ่มต่างมีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน บางเรื่องเป็นประเด็นที่เขาถูกกดทับอยู่ก็อาจยังไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ

เมื่อทุกเพศ หลายอัตลักษณ์ หลายปัญหามารวมตัวกัน ก็ใช้วิธีที่เป็นสีสันฉาบหน้างานคล้ายๆ งานคาร์นิวัล ตรงนี้น่าจะเป็นเพราะหากมีเรื่องความบันเทิง ทำให้ผู้สื่อสารปัญหามีความผ่อนคลายในการบอกเล่าเรื่องของตัวเองมากขึ้น สำหรับกลุ่มที่ไม่ใช่ LGBT+ ก็ได้เห็นการเรียกร้องเพื่อสิทธิมนุษยชน ก็สนับสนุนในส่วนที่ LGBT+ ร่วมเรียกร้องด้วย เรียกว่าเป็นการ “สร้างแนวร่วม” ให้สนับสนุนกระบวนการเคลื่อนไหวของ LGBT+ หรือที่เรียกว่า Allies คือคุณไม่จำเป็นต้องเป็น LGBT+ แต่คุณสามารถสนับสนุนได้ เช่น เข้าชื่อในกฎหมายเพื่อสิทธิกลุ่ม LGBT และมีส่วนในการป้องกัน หรือต่อต้านการกลั่นแกล้งรังแก การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ  

อย่างไรก็ตาม ก็มีการมองว่า งานไพรด์เป็นการ “ฉาบสีรุ้ง” (rainbow washing) คือ เมื่อมันเป็นช่วงเดือนที่มีการเดินพาเหรด (ในปีนี้เดือน มิ.ย. แทบจะเดินกันทุกหัวเมืองใหญ่ มีงานปาร์ตี้บนเรือหรือ pride cruise ด้วย) ก็กลายเป็นว่า เห่อทำสินค้าและบริการเพื่อชาว LGBT+ กันใหญ่ แต่จริงๆ แล้ว ตัวองค์กรเอง ไม่ได้มีนโยบายอะไรในการสนับสนุนกลุ่มหลากหลายทางเพศ ไม่มีพื้นที่ทำงานที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มหลากหลายทางเพศ (inclusive workplace) เช่น ยังมีกลุ่มเหยียด มองกลุ่มหลากหลายทางเพศเป็นตัวตลกในที่ทำงาน การพิจารณาตำแหน่งอะไรก็ยังใช้อคติทางเพศในการตัดสิน เช่น ทรานส์คนหนึ่งทำงานเก่งกว่าผู้ชาย แต่กลับกลายเป็นผู้ชายได้ขึ้นตำแหน่งสูงกว่าเพราะ “เอาทรานส์เป็นหัวหน้ามันแปลกๆ”

ไม่ใช่แค่ในเรื่องขององค์กรเอกชน ภาครัฐก็เช่นกัน มี inclusive workplace เพียงพอหรือไม่ และไม่ทราบว่า ในพาเหรดไพรด์ได้มีการสื่อสารเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน มันเป็นปัญหาสำคัญที่กลุ่ม LGBT+ ต้องประสบ หรือเรียกร้องแล้ว “สาร” สามารถส่งไปถึงผู้มีอำนาจจนเกิดการเปลี่ยนแปลงจริงหรือไม่ …ถ้าองค์กรไหนที่เอาแค่สีรุ้งมาขายเพื่อหวังผลทางการค้า แต่นโยบายด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศห่วยแตก ก็นั่นแหละคือ การ rainbow washing 

และยังมีประเด็นหนึ่งที่ถูกพูดถึงกัน แต่เสียงไม่ดังเท่าเรื่องสมรสเท่าเทียมและกฎหมายรับรองเพศ คือ เรื่องซีรีส์วาย ที่ถูกมองว่าเป็น Queerbaiting คือการสร้างสตอรี่ชวนฝันระหว่างหนุ่มหล่อแมนๆ สองคนมารักกัน มีแบบแอบหึง แอบหอมกันบ้าง แต่ไม่ได้เกินเลยไปกว่านั้น (หรือซีรีส์วายสมัยนี้เกินเลยไปแล้วก็ไม่แน่ใจ) และจากนั้นก็มีผลทางการสร้างรายได้ต่อผู้ผลิตและตัวนักแสดงเอง ..มันถูกมองว่า เอาความสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศมาขายเพื่อตอบสนองจินตนาการแฟนตาซีเท่านั้น แต่ไม่ได้มีส่วนสนับสนุนให้เกิดการรับรู้ ตระหนักถึงความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องปัญหาของ LGBT+ แต่อย่างไร แถมอัตลักษณ์ที่ไม่หล่อ ออกสาว กลายเป็นตัวตลก …ตรงนี้ก็เหมือนจะเริ่มมีเสียงเรียกร้องว่า ซีรีส์วายควรทำหน้าที่ต่อการตอบโจทย์เรื่องความรู้ความเข้าใจตัวตนด้วย หรือสื่อสารเพื่อ LGBT+ ในระดับภาพกว้างกว่านั้น

สำหรับพัฒนาการด้านกฎหมายที่จะเกิดขึ้น หากรัฐบาลก้าวไกลตั้งสำเร็จ นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงพัฒนาการเกี่ยวกับกฎหมายเพื่อความเท่าเทียมทางเพศที่จะต้องออกมาว่า ในส่วนของ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ได้ผ่านวาระแรกในสภาไปแล้ว และในช่วง 100 วันแรกของอายุสภา เราจะหยิบมายืนยันในวาระสองและสามเพื่อให้แล้วเสร็จแน่นอน ส่วนกฎหมายอื่นที่จะต้องเสนอคือ พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศ พ.ศ. …ที่อยู่ในกรอบของการยื่นให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่ พิจารณาใน 100 วัน ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่ล้อมาจากประเทศอาร์เจนตินา และมอลตา คือ “บุคคลสามารถเลือกใช้สิทธิตามเจตจำนงแห่งเพศตัวเองได้” โดยไม่แปลงเพศ อาทิ คนข้ามเพศก็ใช้สิทธิและคำนำหน้านามตามเพศที่ไม่ใช่เพศกำเนิด

นายธัญวัจน์ กล่าวยอมรับว่า กฎหมายนี้พูดกันน้อย และอาจเกิดกระแสต่อต้าน แต่เราต้องการให้สิทธิแก่กลุ่มหลากหลายทางเพศ โดยการ เปลี่ยนคำนำหน้านามครั้งแรกทำได้ที่สำนักทะเบียนราษฎร กระทรวงมหาดไทย แต่เนื่องจากเรื่องเพศเป็นเรื่องที่ลื่นไหล ดังนั้น หากมีการขอเปลี่ยนการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศอีกครั้งต้องผ่านศาล เพื่อเรียกดูข้อมูลและเหตุผลต่างๆ ที่จะรับรองเพศใหม่

“เราต้องมีเรื่องการให้ศาลยืนยันเพื่อการใช้สิทธิการข้ามเพศต้องไม่ใช้เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ ทำด้วยความสุจริตหรือไม่ เช่น ป้องกันชายที่ขอใช้สิทธิข้ามเพศเพื่อจะไปอยู่คุกหญิง กฎหมายนี้สามารถแจ้งขอรับรองอัตลักษณ์เพศใหม่ได้เมื่ออายุ 18 ปี สำหรับเด็กที่เป็น intersex หรือกลุ่มที่เกิดมามีเพศกำกวม มีอวัยวะเพศทั้งชายและหญิง ในประเทศไทยมีราว 900 คน กฎหมายก็ให้เด็กสามารถเลือกเพศได้เองตอนอายุ 12 ปี และเรื่องความลื่นไหลทางเพศยังมีกลุ่มที่ไม่ต้องการระบุเพศตัวเอง หรือกลุ่มที่เรียกว่า non binary ซึ่งเราจะให้ใช้คำนำหน้านามว่า ‘นาม’ แทนนาย นาง นางสาว นอกจากนี้ ในส่วนของกฎหมายนี้ยังต้องมีส่วนของสวัสดิการสำหรับผู้ต้องการข้ามเพศ แต่จำเป็นต้องมีการขึ้นทะเบียนความเป็นเพศก่อน จึงจะได้รู้ว่าเราจำเป็นต้องส่งเสริมเรื่องงบประมาณอย่างเช่น ฮอร์โมน หรือการผ่าตัดแปลงเพศ เป็นวงเงินเท่าไร แล้วจากนั้นจึงมีการกำหนดสวัสดิการตรงนี้เพิ่มเติม” นายธัญวัจน์ กล่าว

ส่วนการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี นายธัญวัจน์ ระบุว่า เรื่องนี้อยู่ในแผนกฎหมายของพรรค เพื่อเป็น การคุ้มครองกลุ่มค้าประเวณีให้อยู่ในฐานะแรงงานชนิดหนึ่ง มีปัญหาสามารถขึ้นศาลแรงงานได้ ให้สิทธิ สวัสดิการ และมีประกันสังคม จากที่เดิมกฎหมายแรงงานจะครอบคลุมกลุ่มพนักงานกินเงินเดือนหรือกลุ่มค่าแรงรายวัน ก็เพิ่มกลุ่มค้าประเวณีเข้าไป และมีข้อกำหนดเรื่องสถานประกอบการจะต้องมีลักษณะอย่างไร อยู่ในบริเวณไหนได้บ้าง อาจเป็นโซนนิ่ง ส่วนที่ว่าจะต้องขึ้นทะเบียนกลุ่มผู้ค้าประเวณีหรือไม่นั้น ก็แล้วแต่ความสมัครใจ แต่หากจะให้ได้รับสวัสดิการต้องยื่นประกันสังคม และระบุที่มาของรายได้ จากนั้นก็จะได้สิทธิในการตรวจสุขภาพเพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทุกเดือน

ทั้งนี้ คือประเด็นที่อยากพูดถึงเกี่ยวกับงานไพรด์ในปีนี้

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”