วันนี้ “ทีมข่าวการเมืองเดลินิวส์ มีโอกาสพูดคุยกับ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพรรคประชาชาติ ฐานะอดีตประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อแสกนเกมร้อนในสภา หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศรับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในที่ประชุมสภาฯจะขยับท่าทีขั้นตอนอย่างไร

โดย “วันมูหะมัดนอร์” เปิดฉากเล่าถึงการประชุมนัดแรกว่า จะมีการเลือกประธานสภาฯและรองประธานสภาฯ ซึ่งเป็นการประชุมเฉพาะ ส.ส. ที่มีจำนวนสมาชิก 500 คน เมื่อประธานสภาฯชั่วคราวเปิดประชุม จะมีการเสนอรายชื่อผู้ที่จะเป็นประธานสภาฯ ซึ่งอาจมีการเสนอมากกว่าหนึ่งคน จากนั้นจะมีการโหวตกัน เมื่อได้ประธานสภาฯแล้ว จะมีการเลือกรองประธานสภาฯคนที่หนึ่งและรองประธานสภาฯคนที่สองต่อไป

เมื่อมีการโปรดเกล้าประธานสภาฯแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง บัญญัติไว้ว่า ต้องเลือกนายกฯหลังจากได้ประธานสภาฯภายใน 15 วัน โดยเลือกผ่านการประชุมรัฐสภาร่วมกัน 2 สภา ที่มีสมาชิกเป็น ส.ส. 500 คน และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน จะมีการเสนอชื่อบุคคลที่เห็นสมควรจะเป็นนายกฯโดยจะต้องเป็นรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอต่อ กกต. แล้ว และต้องมาจากพรรคที่มีสมาชิกได้รับการเลือกตั้งมากกว่า 25 คน นี่เป็นเงื่อนไข ซึ่งก็ไม่ทราบว่าจะมีการเสนอรายชื่อใครบ้าง

@ในฐานะอดีตประธานสภาฯประเมินสถานการณ์การเปิดประชุมสภาที่จะมีขึ้นร้อนแรงหรือไม่อย่างไร 

มองว่าจะมีการพิจารณาตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ความวุ่นวายคิดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้น เพียงแต่ว่าแคนดิเดตนายกฯ ที่ถูกเสนอชื่อกี่คน ตอนนี้ก็ไม่สามารถเดาได้ แต่ก่อนจะถึงเวลานั้นพรรคการเมืองคงจะมีการเช็คเสียงหรือประชุมกัน ทั้งฝ่ายที่เป็นรัฐบาลแลไม่ได้เป็นรัฐบาล ว่าจะเสนอใครเป็นนายกฯ ดังนั้นคงต้องมีการพูดจากันนอกสภาฯก่อน จากนั้นคงจะมีการเสนอในที่ประชุมรัฐสภา แต่ถ้ามีเสนอมากกว่าหนึ่งคนก็ต้องมีการโหวต นั่นคือกึ่งหนึ่งของสองสภาคือ 376 เสียงขึ้นไป ตอนนี้พรรคร่วมรัฐบาล ได้ 312 เสียงก็ยังไม่พอ ยังขาดอยู่ 64 เสียง อันนี้ต้องอาศัยเสียงของ ส.ว. หรือพรรคที่ไม่ได้ร่วมรัฐบาลจะโหวตให้แคนดิเดตนายกฯคนใดคนหนึ่งเพื่อให้ได้เกิน 376 ซึ่งก็ต้องมีการคุยล็อบบี้กัน

@ เป็นไปได้หรือไม่ว่า พรรคการเมืองที่ไม่ใช่พรรคร่วมรัฐบาล อาจจะเสนอชื่อแคนดิเดตในพรรคร่วมรัฐบาลแข่งกันเอง

เป็นเกมการเมือง เราไม่สามารถคาดเดาอะไรได้ จะเสนอใครเป็นคนที่สองก็ได้ทั้งนั้น จะฝ่ายเดียวกันหรือคนละฝ่ายขึ้นมาก็ได้ แต่ต้องเป็นบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ จาก กกต. แล้วเท่านั้น แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืมว่า นายกฯ นอกจากต้องมีเสียงมากในการประชุมรัฐสภาแล้ว ต้องมีเสียงข้างมากในสภาฯด้วย จึงจะสามารถเป็นนายกฯที่บริหารประเทศได้ ไม่เช่นนั้นแล้วกฎหมายจะไม่ผ่าน งบประมาณก็ไม่ผ่าน และการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็อาจจะล้มนายกฯได้ ทำให้มีปัญหาเยอะ 

@ ถ้ายังเลือกนายกฯไม่ได้ มีโอกาสเอารายชื่อนายกฯคนนอกมาเสนอได้หรือไม่ 

ถ้าเลือกนายกฯครั้งแรกยังไม่ได้เสียงถึง 376 แล้วเสนอใหม่อีก แต่ก็ยังไม่ได้เสียงที่มากพออีก ซึ่งตามกฎหมายก็ไม่ได้บอกว่าต้องเลือกกันกี่ครั้ง แต่ประธานสภาฯคงวินิจฉัยได้ว่าอาจจะเปิดโอกาสประชุมรัฐสภา โดยใช้เสียง 3 ใน 5 เพื่อเอารายชื่อคนนอกมาเป็นแคนดิเดตนายกฯได้เพื่อมีการโหวตต่อไป 

@ ถ้ามีการพลิกขั้วการเมืองพรรคประชาชาติจะยังจับมือกับพรรคร่วม 8 พรรคประชาธิปไตย โดยมีก้าวไกลอยู่ด้วยหรือไม่ และหากมีการสลับขั้วไปอยู่ฝากตรงกันข้าม จะวางบทบาทของพรรคอย่างไร 

เรายืดหยัดอยู่ซีกประชาธิปไตย พรรคที่เราสนับสนุนเป็นนายกฯ ต้องปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยความมั่นคงคือ ได้เสียงในสภาผู้แทนราษฎรเกิน 251 ไม่ว่าจะเป็นพรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย หรือใครก็แล้วแต่ ต้องอยู่ในหลักการตามนี้  “พรรคประชาชาติ เป็นพรรคเล็ก มีส.ส.เพียง 9 คน เขาไม่เอาเราไป เขาก็เป็นรัฐบาลได้ เราก็เหมือนกันว่าถ้าเป็นร่วมรัฐบาลได้ก็ไป เพื่อเอานโยบายของเราเข้าไปใช้  แต่ถ้าเป็นรัฐบาลไม่ได้ ก็ไม่เป็นไร ก็เป็นฝ่ายค้านต่อไปได้ แต่ต้องยืนหลักการประชาธิปไตย และสร้างรัฐบาลที่มีความมั่นคง สร้างเปลี่ยนแปลงนำเอาสิ่งที่ไม่ดีในประเทศนี้ไปได้”

@ โอกาสที่จะเกิดรัฐบาลแห่งชาติมีหรือไม่ เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

พูดได้ แต่โอกาสเกิดขึ้นคงไม่มี เพราะสถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นที่จะมีรัฐบาลแห่งชาติ เพราะรัฐบาลแห่งชาติ คือ จะไม่มีฝ่ายค้านเข้ามาตรวจสอบ ฉะนั้นจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีเหตุฉุกเฉิน ภัยสงคราม หรือปัญหาประเทศชาติจนไม่อาจบริหารได้ถ้าหากไม่เป็นรัฐบาลแห่งชาติ เราเห็นว่าขณะนี้ไม่จำเป็นต้องมีรัฐบาลแห่งชาติ และจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศมากกว่า เชื่อว่าหากเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยปกติจะบริหารประเทศได้ดีกว่ารัฐบาลแห่งชาติ 

@ โอกาสที่มวลชนจะลงถนนมีหรือไม่ จะเกิดเนื่องจากสาเหตุใด และรุนแรงไหม 

ม็อบเกิดขึ้นได้ เมื่อประชาชนไม่พอใจหรือไม่เป็นธรรมกับวิธีการที่รัฐบาลดำเนินการ แต่การมีม็อบไม่ได้หมายว่าจะแก้ไขปัญหาได้ สู้มาแก้ไขในสภาผู้แทนราษฎรจะดีกว่า ซึ่งกระบวนการเลือกตั้งจบแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. มาคิดว่าควรทำอย่างไรไม่ให้เกิดม็อบ เพราะม็อบเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อรัฐสภาไม่สามารถสร้างความถูกต้อง ความเป็นประชาธิปไตยให้ประชาชนเห็นได้ 

“ถ้ารู้จักการแพ้ชนะ รู้จักให้อภัยกัน รู้ว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศเดินหน้า ให้ทั่วโลกยอมรับได้ว่าเราได้รัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ใช่ว่าเลือกตั้งแล้วก็ไม่สามารถใช้ฉันทามติของประชาชนมาจัดตั้งรัฐบาลได้ ถ้าเราไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ไม่ใช่แค่มีม็อบในไทยเท่านั้น ผมว่าประชาคมโลกอาจจะไม่รับรองเราก็ได้”

@ มีอะไรฝากแนะนำว่าที่ประธานสภาฯ ซึ่งขณะนี้เป็นโควตาของพรรคก้าวไกลบ้าง เพราะหลายคนห่วงว่าจะคุมเกมในสภาฯได้หรือไม่

อยากให้พรรคการเมืองที่ได้สิทธิ์การเสนอชื่อประธานสภาฯ ควรให้ความสำคัญในตัวบุคคลที่มีบุคลิกที่สามารถเป็นผู้นำที่จะเป็นประมุขนิติบัญญัติได้ ไม่ใช่ว่าเอาใครก็ได้ที่เขาอยากจะเป็น ส่งผลให้การดำเนินการประชุมต่างๆ ไม่เรียบร้อยได้ ฉะนั้นควรเอาบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ มีความเป็นผู้นำ และมีความเข้าใจ ศึกษา ระเบียบข้อบังคับการประชุม หรือกฎหมายต่างๆ รวมทั้งต้องมีความตั้งใจสูงมากที่จะนำนิติบัญญัติให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนมากที่สุด ถ้าสภาฯไม่มีประสิทธิภาพกฎหมายก็ออกช้าและออกไม่ได้ งบประมาณก็ไม่มีคุณภาพ แล้วก็บริหารประเทศก็มีปัญหาด้วย.