ปัญหาใหญ่อีกเรื่องหนึ่งของคนกรุงเทพฯและปริมณฑลในปัจจุบัน คือ ภาระค่าเดินทางแพง! จากปัญหาค่าน้ำมัน-แก๊สแพง! และระบบการคมนาคมต่างๆไม่เชื่อมต่อกัน จึงต้องเสียค่าเดินทางหลายต่อ แต่เมื่อมีพรรคการเมืองใหญ่ออกมาชูนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาท คนเดินทางส่วนใหญ่จึงตั้งตารอกันว่าทำได้ ทำไม่ได้ และเมื่อไหร่ หรือเป็นแค่ราคาคุย!

วันนี้ทีมข่าว Special Report สนทนากับผู้เกี่ยวข้องโดยตรงอย่าง นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา ผู้อำนวยการใหญ่สายธุรกิจ MOVE และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ “บีทีเอสซี” ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส

ค่ารถไฟฟ้า20บาทขาดทุน!-แต่ทำได้ถ้ารัฐอุดหนุนเงิน

นายสุรพงษ์กล่าวว่าก่อนอื่นต้องพูดเรื่องจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าบนดิน และรถไฟฟ้าใต้ดิน ถ้าสร้างเสร็จครบ 12 สาย ภายในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งขณะนี้ยังเหลือรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล รถไฟฟ้าสายสีส้ม และรถไฟฟ้าสายสีแดงยังสร้างไม่เสร็จ

รวมทั้งสายสีชมพู (แคราย-ปากเกร็ด-แจ้งวัฒนะ-รามอินทรา-มีนบุรี) ในสัญญากับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ต้องเปิดเดินรถตลอดเส้นทางในเดือนมิ.ย.67 ซึ่งตรงนี้ตนมั่นใจว่าเปิดให้บริการทันตามกำหนดสัญญาอย่างแน่นอน

ถ้าสร้างเสร็จครบทุกสายสี คาดว่าจะมีผู้โดยสารมาใช้บริการวันละประมาณ 2 ล้านคน เฉพาะรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งระบบ ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการวันละประมาณ 9 แสนเที่ยว (จำนวนตั๋วโดยสาร) โดยช่วงก่อนโควิด-19 เคยขึ้นไปถึง 1.3 ล้านเที่ยว/วัน โดยตัวเลข 1.3 ล้านเที่ยว/วัน สามารถขยับเพิ่มขึ้นจากนี้ได้อีก ถ้าแต่ละขบวนสามารถพ่วงไปได้ถึง 6 ตู้ ทิ้งช่วงห่างขบวนละ 2 นาที ในเส้นทางสายหลัก (คูคต-หมอชิต-สุขุมวิท-สมุทรปราการ) ส่วนในเส้นทางสะพานตากสินซึ่งเป็นรางเดี่ยว แต่ละขบวนจึงห่างกันประมาณ 4 นาที

“เมื่อเห็นตัวเลขผู้โดยสารในปัจจุบัน และอนาคตที่ 2 ล้านคน กับค่าโดยสาร 20 บาท แต่ยังไม่รู้ในรายละเอียดว่าถ้ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะทำตามนโยบายหาเสียง จะเป็น 20 บาทตลอดสาย หรือ 20 บาท/สาย ทำได้แน่นอนแต่ขาดทุน และค่าโดยสาร 20 บาททำได้! ถ้ารัฐบาลเอาเงินเข้ามาสนับสนุน ในส่วนภาคเอกชนคงไม่มีปัญหาอะไร”

ผู้โดยสารน้อย!สายสีแดง-สีม่วงขาดทุน

นายสุรพงษ์กล่าวต่อไปว่ารถไฟฟ้าทั่วโลกขาดทุนทั้งหมด ถ้ามีรายได้เพียงค่าโดยสาร ในสิงคโปร์-มาเลเซียเก็บค่าโดยสารได้ถูกเพราะรถไฟฟ้าเป็นของรัฐ รถไฟฟ้าในฮ่องกงอยู่ได้สบาย เพราะมีการเวนคืนพื้นที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าไว้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มีการสร้างตึกให้เช่า แต่บ้านเราทำแบบนั้นไม่ได้ เนื่องจากผิดวัตถุประสงค์การเวนคืนที่ดินไว้สำหรับทำทางขึ้น-ลงรถไฟฟ้าได้อย่างเดียว

ส่วนรถไฟฟ้าในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา มีเงินสนับสนุนจากหลายทาง คิดเป็นประมาณร้อยละ 48.3 ของรายได้ทั้งหมด เช่น การเรียกเก็บภาษีในอัตราพิเศษจากนายจ้าง เจ้าของอาคาร และบุคคลที่ประกอบอาชีพอิสระในบริเวณรอบพื้นที่สถานนีรถไฟฟ้า ที่มีรายได้เกิน 1.25 ล้านเหรียญฯ มาตั้งแต่ปี 2009 เพราะถือว่าผู้ประกอบการ-เจ้าของอาคาร ได้ผลประโยชน์จากรถไฟฟ้า และภาษีการทำธุรกรรมด้านอสังหาริมทรัพย์ ทำให้รถไฟฟ้านิวยอร์กได้เงินภาษีดังกล่าวมากพอสมควร

สำหรับรถไฟฟ้าในประเทศไทย ถ้าจะผลักดันค่าโดยสาร 20 บาท ทำได้! แต่รัฐต้องเอาเงินมาสนับสนุน วันนี้รถสายสีแดง สายสีม่วงเก็บค่าโดยสาร 30 บาท ขาดทุนอยู่แล้วเห็นๆ เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารน้อย รัฐต้องสนับสนุนกันอยู่

ส่วนสายสีเขียว (บีทีเอส) ค่าโดยสายเฉลี่ยก็อยู่ที่ 30 บาทเหมือนกัน สมมุติถ้ารถไฟฟ้าทุกสาย (ทุกสี) มีผู้โดยสารวันละ 2 ล้านคน ค่าโดยสารเฉลี่ย 30 บาท แต่รัฐบาลจะทำโครงการค่าโดยสาร 20 บาท ก็ต้องทำ “ตั๋วร่วม” ให้เป็นระบบอย่างจริงจัง เป็นเรื่องเป็นราว
การเก็บค่าโดยสารถูกลง เหลือ 20 บาท ไม่ได้ทำให้จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นมากนัก ไม่เหมือนกับสินค้าบริโภคที่ปรับราคาลดลงแล้วคนแห่ซื้อสินค้าจำนวนมากเพราะต้องกิน ส่วนราคาตั๋วรถไฟฟ้าถูกลง แต่คนที่ไม่จำเป็นต้องเดินทาง เขาก็ไม่จำเป็นต้องไปขึ้นรถไฟฟ้า

รัฐอุดหนุนหมื่นล้าน/ปี “ค่าโดยสาร20บาท” แต่คุ้มค่า!

ดังนั้นถ้าค่ารถไฟฟ้าเหลือ 20 บาท จำนวนผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้น แต่ไม่มากนัก ถ้าวันละ 2 ล้านคน ค่าโดยสารเฉลี่ย 30 บาท แต่จะเก็บแค่ 20 บาท ก็ต้องทำเป็นระบบทอนเงินกลับไปให้ 10 บาท คูณด้วย 2 ล้านคน นั่นแสดงว่ารัฐต้องใส่เงินอุดหนุนวันละ 20 ล้านบาท หรือเดือนละ 600 ล้านบาท ถ้า 1 ปี คือ 7,200 ล้านบาท บวกค่าใช้จ่ายโน่นนี่เข้าไปอีก ค่าซ่อมบำรุงรักษา เมื่อผู้โดยสารเยอะ การใช้ไฟฟ้าก็ต้องเยอะตามไปด้วย ซึ่งตัวเลขที่รัฐอุดหนุนอาจจะขึ้นไปถึง 1 หมื่นล้านบาท/ปี

ตัวเลข 1 หมื่นล้านบาท/ปี ที่รัฐบาลต้องใส่เข้ามาอุดหนุนค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท เพื่อให้ผู้โดยสารมาใช้บริการ 2 ล้านคน/วัน จะทำให้ภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น ผู้คนใช้รถใช้ถนนน้อยลง ไม่ต้องเสียเงินซ่อมรถ แถมยังประหยัดเวลาการเดินทาง ลดปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ และแก้ปัญหามลพิษ (PM2.5) แลกกับเงิน 1 หมื่นล้านบาทที่รัฐบาลต้องจ่าย โดยส่วนตัวมองว่าคุ้มเกินคุ้ม

“ถ้าจะทำค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท รัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องเรียกภาคเอกชน 3 ราย ที่เกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ คือ บีทีเอส-ซีพี-BEM มาเจรจาหารือในรายละเอียด เรียกว่าทุกขั้นตอนสามารถทำแบบคู่ขนานกันไป ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปีสำเร็จแน่นอน ค่ารถไฟฟ้า 20 บาททำได้” นายสุรพงษ์ กล่าว