ศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์  รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิทยาศาสตร์หญิงไทยคนแรกที่เคยเดินทางไปทำวิจัยภาวะโลกร้อนที่ดินแดนขั้วโลกใต้เมื่อปี 2552 ได้ให้สัมภาษณ์ “เดลินิวส์” จากประเทศญี่ปุ่นระหว่างไปประชุมที่นั่น กรณีที่ญี่ปุ่นปล่อย “น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่บำบัดแล้ว” จาก “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ” ลงสู่ทะเล โดยระบุว่า ญี่ปุ่นนั้นได้รับการยอมรับจากนานาประเทศว่าเป็นประเทศที่มีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมสูง ซึ่งการปล่อยน้ำดังกล่าวที่ได้รับการบำบัดแล้วลงสู่ทะเลนั้น ตัว กัมมันตรังสี “ทริเทียม” มีปริมาณที่ต่ำจากค่ามาตรฐานที่มีการกำหนดไว้ โดยค่ามาตรฐานอยู่ที่ 10,000 Becquerel ต่อลิตร (Bq/L) ซึ่งเปรียบเทียบกับน้ำดื่ม ก็ต้องมี Becquerel ต่ำกว่า 10,000 จึงจะดื่มน้ำนั้นได้ โดยการปล่อยน้ำเสียของญี่ปุ่นครั้งนี้ ค่า Becquerel มีปริมาณเพียงแค่ 1,500 Becquerel ต่อลิตรเท่านั้น จึงถือว่าต่ำมาก

ในมุมมองนักวิทยาศาสตร์ไทยรายนี้ มีอยู่ 2 ประเด็นที่ได้วิเคราะห์และสะท้อนกับ “เดลินิวส์” กล่าวคือ 1.ปริมาณน้ำที่ปล่อยมีจำนวนมาก โดยการปล่อยเทียบเท่ากับปริมาณน้ำ 500 สระว่ายน้ำโอลิมปิค ซึ่งทำให้ผู้คนตื่นตกใจ แต่ถ้าพิจารณาให้ดีแล้ว ก็จะเป็นการทยอยปล่อยโดยใช้ระยะเวลาถึง 30 ปี 2.ถ้าดูค่ากัมมันตรังสีทริเทียมที่เป็นฮาล์ฟไลฟ์ ครึ่งชีวิตอยู่ที่ 12 ปี หมายความว่าสารทริเทียมสลายได้ครึ่งหนึ่งโดยใช้เวลา 12 ปี ซึ่งถือว่าใช้เวลาเร็วเมื่อเทียบกับสารเคมีที่เป็นพิษชนิดอื่น ๆ ที่ใช้เวลาเป็น 100 ปี แต่สารทริเทียมนี้ใช้เวลา 12 ปีสามารถสลายไปได้ครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครึ่งอยู่ในน้ำ ไม่สามารถนำออกมาแล้ว

ศ.ดร.สุชนา ระบุต่อไปว่า ส่วนตัวมองว่าการที่ผู้คนตื่นตระหนกน่าจะเป็นเพราะปัญหาเรื่องการสื่อสารของญี่ปุ่นเอง โดยรัฐบาลญี่ปุ่นก็สามารถสื่อสารกับคนในประเทศตัวเองได้ดี ในขณะที่กำลังประชุมอยู่ที่ญี่ปุ่นก็ได้คุยกับเพื่อนคนญี่ปุ่น ซึ่งไม่มีความรู้สึกกังวลเรื่องการบริโภคอาหารทะเล หรือแม้แต่ชาวประมงก็ยังยอมรับการปล่อยน้ำดังกล่าว  ที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) อย่างไรก็ตาม ผู้คนมีความรู้สึกว่าทะเลเป็นของทุกคน เมื่อจะมีน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีลงสู่ทะเล กรณีนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่ญี่ปุ่นต้องสื่อสารให้ประเทศอื่นเข้าใจด้วย ซึ่งส่วนตัวมองว่าญี่ปุ่นสื่อสารไม่ทั่วถึง ทำให้หลายประเทศโจมตีเพราะกลัวเกิดการสะสมสารกัมมันตรังสีในทะเลในระยะยาว โดยคำว่า “ระยะ” อาจใช้เวลา 20-30 ปี ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีผลการศึกษาระยะยาวกรณีผลกระทบจากการปล่อยน้ำหล่อเย็นจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ในขณะที่ที่ผ่านมาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลายประเทศก็ต้องปล่อยน้ำทิ้งลงทะเลอยู่แล้ว แต่ไม่มีข่าวถูกโจมตีจากนานาประเทศ

“สารกัมมันตรังสีในน้ำจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะมีน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับหลาย ๆ ประเทศที่ปล่อย และต่ำกว่าค่ามาตรฐานมาก แต่สืบเนื่องจากเมื่อปี ค.ศ. 2011 เกิดเหตุการณ์สึนามิที่ญี่ปุ่น ทำให้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะมีความร้อนผิดปกติ จึงต้องใช้น้ำทะเลจำนวนมากมาหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์ นี่จึงเป็นเหตุผลที่การปล่อยน้ำครั้งนี้ถูกจับตามาก ทั้งนี้มลพิษต่าง ๆ จะยังไม่เห็นผลในระยะสั้น แต่จะเห็นผลในระยะยาวมากกว่า อย่างไรก็ตาม ผลกระทบกับทะเลในระยะยาวอาจจะมี แต่ก็จะน้อยมาก เพราะสารต่าง ๆ ที่ปล่อยลงไปมีน้อยมาก น้อยกว่ามาตรฐานถึง 6 เท่า ซึ่งมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของการเมืองด้วย เพราะคนกังวลเรื่องสารตกค้าง หลายประเทศไม่เห็นด้วย จึงทำให้เกิดเป็นประเด็นขึ้น” ทาง รศ.ดร.สุชนา ระบุ

ทั้งนี้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทาง ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ก็ได้มีการโพสต์ลง Facebook Thon Thamrongnawasawat ไว้เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่า ญี่ปุ่นกำลังจะปล่อยน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีที่บำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่ทะเล เราควรกังวลแค่ไหน? น้ำดังกล่าวมาจากการปั๊มน้ำทะเลเข้าไปเพื่อหล่อเย็นเชื้อเพลิงนิวเคลียร์จากอุบัติเหตุตอนสึนามิ สิบกว่าปีที่ผ่านมา หล่อไปเก็บไปจนถังเต็มหมด จึงมีแผนค่อย ๆ ปล่อยน้ำที่บำบัดมานานแล้วลงทะเล แน่นอนว่าการบำบัดย่อมทำให้สารกัมมันตรังสีลดลงสู่ระดับมาตรฐาน แต่ยังคงมีอยู่ในน้ำ โดยเฉพาะสารบางตัวที่กำจัดยาก แม้สารเหล่านั้นจะมีความเข้มข้นอยู่ในเกณฑ์ไม่เป็นอันตราย แต่ก็ยังเป็นที่สงสัยของบางคนบางหน่วยงานบางประเทศ

แต่เป้าหลักของการเขียนเรื่องนี้ไม่ใช่มาตอบว่าเป็นหรือไม่เป็น แต่อยากบอกว่า ไม่ต้องห่วงว่าสัตว์น้ำทะเลไทยจะได้รับผลกระทบ ดูจากภาพจะเห็นว่าทะเลบ้านเราห่างจากฟุกุชิมะ 5,000 กม. วัดเป็นเส้นตรง ซึ่งจริง ๆ วัดลัดเลาะชายฝั่งจะไกลกว่านั้นมาก หากสารมีอันตราย กว่าจะมาถึงเรา ต้องผ่านหลายต่อหลายประเทศ ทะเลไทยอยู่ไกลสุดกู่ นอกจากนี้ กระแสน้ำ kuroshio ซึ่งเป็นกระแสน้ำหลักในทะเลแถบนั้นยังไหลขึ้นเหนือ ก่อนเบี่ยงออกกลางมหาสมุทร ไม่ได้ไหลลงใต้มาทางบ้านเรา (ดูภาพครับ) หากคิดถึงการสะสมระยะยาว ในดินตะกอน สัตว์น้ำ ฯลฯ เราก็ยังอยู่ไกลมาก

ทั้งหมดนี้ เพื่อไม่ให้เพื่อนธรณ์เป็นกังวลกับการกินอาหารจากทะเลไทย เรายังกินต่อไปได้ และควรกิน เพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวประมง/เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ แล้วอาหารทะเลนำเข้าจากญี่ปุ่นล่ะ ควรกินไหม? ซีฟู้ดที่ไทยนำเข้าจากญี่ปุ่น เป็นของราคาสูง ไม่ใช่อาหารทั่วไปที่จะสร้างความเดือดร้อนให้คนส่วนใหญ่หากไม่ได้กิน เพราะฉะนั้น คงเป็นเรื่องของการตัดสินใจแต่ละคนว่าจะกินหรือไม่? จุดประสงค์ของการเขียนเรื่องนี้คืออาหารทะเลไทยยังกินได้ และผมกินแน่นอน (หากมีคนเลี้ยงครับ)

ขอบคุณข้อมูลและภาพ จาก Facebook Thon Thamrongnawasawat