โดย “ดร.สติธร” กล่าวเปิดประเด็นถึงการจัดสรรโควตารัฐมนตรีแต่ละกระทรวงว่า สมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย โดยให้ลืมการจัดอันดับกระทรวงเกรดเอ บี ซีไปได้เลย แต่เป็นไปตามสัดส่วนที่ควรได้ และอยากได้  เพื่อพิสูจน์ฝีมือในฐานะที่ทำทุกวิถีทางที่จะได้เข้ามาเป็นรัฐบาล ฝ่าเสียงก่นด่า วิพากษ์วิจารณ์ไล่หลังมาเยอะ และมาเพื่อพิสูจน์ว่า ที่ต้องดิ้นรนที่จะเป็นรัฐบาลนั้นไม่ใช่จะเอานายทักษิณ ชินวัตร กลับบ้าน แต่ตั้งใจเข้ามาพิสูจน์ฝีมือของพรรคเพื่อไทย เพื่อที่จะเดินต่อไป จะกลับมาทวงความยิ่งใหญ่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ดังนั้นจึงต้องอยู่กระทรวงที่สามารถขับเคลื่อนให้เร็วที่สุด ซึ่งกระทรวงที่ได้มาก็ถือว่าตอบโจทย์ นโยบายที่เพื่อไทยหาเสียงไว้ โดยเฉพาะเงินดิจิทัล 10,000 บาท จึงอยู่ที่กระทรวงการคลัง และเมื่อเงิน 5.6 แสนล้านบาทลงไปแล้วก็ต้องมีกระทรวงที่มากระตุ้นให้การหมุนเงินระยะสั้นได้ ดังนั้นการได้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงวัฒนธรรมจึงถือว่าตอบโจทย์ ที่น่าจะทำให้พรรคเพื่อไทยพิสูจน์ตัวเองได้ทันที แล้วถึงจะพ่วงต่อไปที่กระทรวงที่ต้องทำงานสานต่อระยะยาว เช่น กระทรวงแรงงาน ที่ต้องทำเรื่องค่าแรง ดังนั้นวันนี้ยังไม่ได้นั่งกระทรวงแรงงานจึงยังไม่เป็นไร ขอแค่กระตุ้นเศรษฐกิจได้ก่อน แล้วค่าแรง เงินเดือนต่างๆ จะตามมาเอง

ส่วนกระทรวงในเชิงกลไกทางการเมือง เช่น ไม่ได้คุมกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจะเป็นการวางโครงข่ายฐานสียงโดยใช้กลไกรัฐเป็นตัวเชื่อม ก็ไม่ถือว่าขี้เหร่เพราะแลกกับกระทรวงสาธารณสุข ที่มีอสม. ในการวางโครงข่ายทางการเมือง จึงถือว่าสมน้ำสมเนื้อ แถมยังได้กระทรวงคมนาคมพ่วงมาด้วย ที่จะมาตอบโจทย์เรื่องค่ารถไฟฟ้า ดังนั้น น่าจะตอบโจทย์สิ่งที่คนทวงถามนโยบายจากพรรคเพื่อไทยหลังจากตั้งรัฐบาลได้ ขณะที่กระทรวงพลังงานที่เสียไปนั้น เอามาก็เป็นภัย เพราะเข้าไปรื้อไม่ได้ง่ายๆ จึงเอาเผือกร้อนนี้ให้พรรคเก่าไปทำต่อดีกว่า

“ระยะสั้นปีแรก คือ พิสูจน์ฝีมือ แต่ยังทำอะไรได้ไม่มาก เพราะอำนาจต่อรองน้อย ตราบใดที่ยังใช้ 750 เสียง รวม สว. นี่แปลว่า เขาประคับประคองเพื่อให้ผ่าน พ.ค. 2567 ไปก่อน ถึงเวลานั้นแล้วจะปรับครม. แล้วเอากระทรวงเกรดเอ คืนมาบ้าง ก็ไม่ใช่เรื่องที่เกินมือ เพราะอำนาจต่อรองจะสวิงกลับมาที่เพื่อไทยมากขึ้น”     

เมื่อมาดูการจัดตัวรัฐมนตรีทั้งหมดแล้วภาพรวมเป็นอย่างไรบ้าง

เรื่องตำแหน่งทั้งในมุมของพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมนั้นถือว่า Win & Win แต่ภาพลักษณ์ที่คนเห็นโฉมหน้าของครม. ก็เห็นว่าเป็นคนหน้าเดิม เพิ่มเติมคือเพื่อไทย ส่วนการจัดสรรคนลงในตำแหน่งที่ได้มานั้น เป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยต้องคิดให้ดี เพราะถ้าเต็มไปด้วยคนที่ปัญหา คนที่จะเป็นสายล่อฟ้า ก็จะกระทบกับภาพลักษณ์ที่ไม่ดีอยู่แล้วจะยิ่งแย่ลงไป ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า หลายคนก็มีความเสี่ยงอยู่

อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าเพื่อไทยไม่ได้จัดครม.ในอุดมคติ ที่รัฐมนตรีต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่เป็นการจัดครม.แบบการเมือง คือ เอาคนที่เป็นแกนหลักคนสำคัญทางการเมืองไปรับตำแหน่ง แล้วค่อยแสวงหาผู้เชี่ยวชาญมาเป็นทีมงานสนับสนุน และข้าราชการที่เชื่อถือ เชื่อมือในกระทรวงนั้นๆ ให้ช่วยงาน ดังนั้นอาจจะอย่าไปวิจารณ์ในเชิงอุดมคติว่าจัดตัวแบบนี้เป็นการเมือง เป็นหัวหน้ามุ้ง เพราะนั่นเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้แปลว่าเขาจะทำงานไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาก็เป็นการจัดสรรครม.บนโจทย์ทางการเมืองทั้งนั้น

ครม.ชุดนี้จะสามารถประครองสถานการณ์ได้นานแค่ไหน จะมีเสถียรภาพจริงๆไหม

คิดว่าอยู่ครบ ปี เพราะวันนี้อยู่กันบนดุลยภาพประมาณหนึ่ง เพื่อไทยอาจจะดูว่าอำนาจต่อรองเป็นรอง แต่ก็ไม่ได้ง่ายถึงขนาดที่ว่าพรรคใดพรรคหนึ่งจะขู่ถอนตัวทำรัฐบาลล่ม หากไม่ได้สิ่งที่ต้องการ วันนี้มองว่ามีเพียงพรรคภูมิใจไทยพรรคเดียวที่อาจมองได้ว่าหากลบ 71 เสียงไปแล้วรัฐบาลจะต่ำกว่า 250 เสียง แต่ก็ไปเติมพรรคที่พร้อมร่วมรัฐบาล อย่างประชาธิปัตย์ 21 เสียงได้ เพราะฉะนั้นภูมิใจไทยอย่าต่อรองเยอะ เพราะมีคนรอร่วมอยู่ ไม่ต้องพูดถึงพรรค ลุง ซึ่งหากพรรคใดพรรคหนึ่งงอแงก็ทำอะไรไม่ได้อยู่แล้ว และถึงจับมือกันงอแง ก็ไปดึงประชาธิปัตย์มาได้เช่นกัน ดังนั้นตามหลักคณิตศาสตร์ และสถานการณ์การเมืองก็เข้าทาง ยิ่งถ้าเลยพ.ค. 2567 ไปแล้ว แล้วถ้ารวมพลังกันงอแง เพื่อไทยก็ไปจับมือกับก้าวไกลก็ได้ สามารถยกมาอ้างเอาไว้สู้กับคนที่มาต่อรองได้ ส่วนจะได้จริงหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ตอนนั้น

นโยบายที่จะออกมาประชาชนจะได้ประโยชน์ หรือ จะเป็นภาระของประชาชน

จริงๆ ก็ก้ำกึ่ง ด้วยนโยบายของเพื่อไทยนั้นถึงมือประชาชนอยู่แล้ว แต่ปัญหาที่ถูกวิจารณ์ที่ผ่านมาคือ 1. ใช้จ่ายเยอะ แล้วอาจจะสร้างภาระทางการเงินการคลังในอนาคตของประเทศหรือไม่ แต่เพราะสไตล์เพื่อไทย หรือไทยรักไทยในอดีตก็มีความสามารถในหาเงิน หมุนเงินอยู่พอสมควร แต่ที่เป็นปัญหาในอดีตของไทยรักไทย คือ “วิธีการใช้เงิน” ที่ถูกตรวจสอบเข้ม แต่วันนี้เพื่อไทยสลายขั้วความขัดแย้ง กลไกที่ตรวจสอบหนักๆ วันนี้ก็ได้เป็นรัฐบาลแล้ว เพราะฉะนั้น ตราบใดที่เป็นเด็กดีกับพรรคร่วมรัฐบาลที่มีอิทธิพลต่อการตรวจสอบ และนโยบายต่างๆ ขับเคลื่อนได้จริง  ก็จะมีคนหลับตาข้างหนึ่งให้ทำ

ในส่วนของก้าวไกลก็ตรวจสอบได้ แต่อย่างน้อยมันถูกตามระเบียบ ทำให้เกิดการกระตุ้นทางเศรษฐกิจได้จริงมันก็จบ เพราะกลไกตรวจสอบจากพรรคฝ่ายค้านไม่ได้ให้คุณให้โทษ หรือเอาคนออกจากตำแหน่งได้จริง แต่กลไกอิสระ หรือกระบวนการยุติธรรมมากกว่าที่จะเล่นงานรัฐบาลในการทำงานของรัฐบาลได้ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่เพื่อไทยก็เคยเจอมาแล้ว ถ้าเรียนรู้จากอดีตและระวังก็ทำได้ ดังนั้นอยู่ที่ฝีมือและความสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจเดิม

เกมการเมืองกระดานนี้ของพรรคเพื่อไทย คิดว่าได้หรือเสีย

คิดว่าได้มากกว่าเสีย อย่างน้อยๆ วันนี้ได้อำนาจรัฐกลับมาแล้ว ได้กลับมาเป็นรัฐบาลแล้ว ถ้าเขาไม่เดินทางนี้ก็ไม่รู้ว่าจะได้เป็นรัฐบาลอีกเมื่อไหร่ แล้วถ้าสมมติฝืนไปกับก้าวไกลต่อไปแล้วเพื่อไทยจะพลิกกลับมาเป็นเพื่อไทยคนเดิมได้ เผลอๆ จะกลายเป็นพระรองของก้าวไกลตลอดไปก็ได้ เพราะฉะนั้นตัดสินใจแบบนี้น่าจะได้มากกว่าเสีย ดังนั้นเรื่องนี้เป็นการตัดสินใจมานานแล้ว.