การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 600 บาท ภายในระยะเวลา 4 ปี เป็น 1 ในนโยบายของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานให้สอดคล้องกับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยรอบแรกจะปรับขึ้นก่อนเป็นวันละ 400 บาท แต่จะทำได้หรือไม่? เพราะต้องฟังเสียงจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะจากผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจที่ต้องแบกรับภาระเพิ่มมากขึ้น

วันนี้ทีมข่าว Special Report นำเสนอมุมมองของ ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เกี่ยวกับการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท

ยังไม่มีความชัดเจนจากรัฐบาล-ถ้ามีผล1พ.ค.67พอไหว!

ดร.ธนิตกล่าวว่าตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนจากรัฐบาลว่าจะปรับทั้งหมดทั่วประเทศเป็น 400 บาท หรือปรับเป็นบางจังหวัดตามความเหมาะสม เช่น กรุงเทพฯและมณฑล กับจ.มุกดาหาร ถ้าจะปรับขึ้นมายืนอยู่ที่ 400 บาท เท่ากัน ผู้ประกอบการในมุกดาหารเดือดร้อนแน่ๆ ซึ่งเรื่องนี้ต้องเข้าไตรภาคี และอาจปรับไม่ถึงตามเป้าก็ได้ เนื่องจากต้องดูปัจจัยในเรื่องรายได้-จีดีพี-เงินเฟ้อ

“ตามไทม์ไลน์น่าจะประชุมพิจารณากันในเดือนต.ค.นี้ เพื่อประกาศในเดือนพ.ย. และมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค.67 เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ผู้ใช้แรงงาน แต่โดยส่วนตัวมองว่าควรดูสถานการณ์เศรษฐกิจไปอีก 5-6 เดือน แล้วค่อยมีผลใช้ตอนเมย์เดย์ (1พ.ค.67) ผู้ประกอบการ-เจ้าของธุรกิจน่าจะยอมรับได้มากกว่า แล้วอย่าไปมองว่าราคาค่าไฟฟ้าลดลง น้ำมันลดลง เอามาโปะค่าแรงให้คนงาน ตรงนี้คนละเรื่องกัน เพราะผู้ประกอบการรู้ดีว่ารัฐบาลจะอุ้มราคาน้ำมันไปได้กี่เดือน เดี๋ยวก็ต้องปรับขึ้น เพราะราคาน้ำมันโลกอยู่ในช่วงค่าขึ้น โดยราคาของพลังงานเป็นต้นทุนไม่มากของการผลิต และถือว่าอยู่ปลายทาง ไม่ได้อยู่ต้นทางเหมือนค่าจ่างแรงงาน”

ดร.ธนิตกล่าวต่อไปว่าการอภิปรายนโยบายรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน การปรับค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้บรรจุไว้ชัดเจนแต่หลังจากถูกฝ่ายค้านระบุว่าไม่ตรงปก นายกรัฐมนตรีจึงได้แถลงว่ารัฐบาลจะดําเนินการเจรจากับคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) เพื่อปรับค่าจ้างขั้นต่ำโดยมีเป้าหมายวันละ 400 บาทโดยเร็วที่สุด จากปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำที่ใช้อยู่มี 3 อัตรา อยู่ในช่วง 352-354 บาทต่อวัน หากใช้ค่าจ้างกทม.และปริมณฑลเป็นฐาน หากปรับตามที่ระบุข้างต้นจะสูงขึ้นประมาณร้อยละ 13.1 หรือเพิ่มขึ้นวันละ 47 บาท หากนายจ้างที่มีการจ้างงาน 100 คน จะมีต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 1.7 ล้านบาท

ภาคเอกชนยังไม่เห็นด้วย-ไม่ควรปรับเท่ากันทั้งประเทศ

ค่าจ้างที่ปรับสูงขึ้นเกี่ยวข้องกับความสามารถของนายจ้างที่มีศักยภาพที่แตกต่างกัน ข้อมูล ณ สิ้นปี 65 มีสถานประกอบการทั่วประเทศ ที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ประมาณ 8.504 แสนกิจการ ส่วนใหญ่เป็นรายย่อยและ SMEs รวมกันคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 89 ที่เหลือเป็นขนาดใหญ่ และขนาดใหญ่มากมีบริษัทมหาชน 1,382 กิจการ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.16 จํานวนแรงงานนอกภาคเกษตรที่ทํางานในภาคเอกชนมีประมาณ 23.3-24 ล้านคน ในจํานวนนี้เป็นแรงงานในระบบประกันสังคม มาตรา 33 จํานวน 11.51 ล้านคน

“ภาคเอกชนต่างออกมาแสดงความกังวลไม่เห็นด้วย เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย ฯลฯ โดยระบุว่าค่าจ้างที่ปรับสูงขึ้นจะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและต้นทุนของสถานประกอบการต่างๆ ที่อยู่ในภาคบริการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยและ SMEs ภาคเอกชนขอให้รัฐบาลทบทวนอัตราคาจ้างควรเป็นตัวเลขที่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ ไม่ควรปรับค่าจ้างเท่ากันทั้งประเทศ การปรับค่าจ้างที่สูงจะส่งผลเกี่ยวข้องกับค่าครองชีพของประชาชนที่สูงขึ้น ปัจจุบันสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ในสภาพอ่อนแอจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าและการส่งออกหดตัว ขณะที่ภาคท่องเที่ยวมีการฟื้นตัวอย่างเป็นนัย แต่จํานวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเพียง 3 ใน 4 จากปีปกติก่อนโควิด-19 ระบาด”

ฉากทัศน์เศรษฐกิจดังกล่าว ส่งผลต่อกําลังซื้อที่หดหายไป ขณะที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงโหมด “Recession” หรือเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจหดตัวและจะรุนแรงมากขึ้นในปีหน้า กระทบต่อภาคส่งออกและโซ่อุปทานล้วนอยู่ในภาวะรายได้ลดลง ผู้ประกอบการจํานวนมากติดอยู่ใน NPL หรือลูกหนี้รหัส 21 ขาดการส่งต้นและดอกเบี้ยตามเกณฑ์ของสถาบันการเงิน กลุ่มเหล่านี้อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้ การปรับค่าจ้างที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจอยู่ในช่วงจังหวะที่นายจ้างบางส่วนกําลังลุ้นว่าจะรอดหรือไม่รอด

นายจ้างเข้าใจดีว่าค่าจ้างที่สูงส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่รวมถึงการเพิ่มการจับจ่ายใช้สอย แต่สภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อองค์กรเอกชน และนายจ้างต่างอยากให้รัฐบาลช่วยทบทวนการปรับค่าจ้าง ในอัตราและช่วงเวลาที่เหมาะสม ประเด็นที่ยังคลุมเครือการปรับค่าจ้างครั้งนี้เป็นการปรับอัตราเดียวกันทั่วประเทศหรือปรับเป็นกลุ่มจังหวัดอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ค่าจ้าง “ปริญญาตรี” ไม่ควรประกาศเป็น “Minimum Wage”

ในความเห็นของตน รัฐบาลพรรคเพื่อไทยเมื่อปี 56 เคยประกาศ นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาททุกจังหวัดเท่ากัน ครั้งนี้คงไม่แตกต่างกัน ค่าจ้างเท่ากันทั่วประเทศส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำด้านการกระจายรายได้ ทําให้การลงทุนจะกระจุกตัวในพื้นที่เศรฐกิจที่เป็นศูนย์กลางของประเทศ ซึ่งมีต้นทุนโลจิสติกส์ต่ำกว่า เมื่อเทียบกับการลงทุนในพื้นที่จังหวัดห่างไกล

จากข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม จํานวนโรงงานทั่วประเทศมีประมาณ 73,232 กิจการ (ณ สิ้นปี 65) โรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่กทม.- ปริมณฑลและพื้นที่ EEC คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 58

ขณะที่ การจ้างแรงงานเชิงปริมาณอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 66.8 ของการจ้างงานทั่วประเทศ ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นการกระจุกตัวของแหล่งจ้างงาน อยู่ในพื้นที่ซึ่งเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและใกล้ท่าเรือหลักของประเทศ ซึ่งมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุนขนส่งและการเข้าถึงตลาด การที่มีค่าจ้างที่แตกต่างไปตามสภาพเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่จะทําให้เป็นการเพิ่มแต้มต่อด้านขนส่งและจูงใจให้เกิดการกระจายการ ลงทุนไปในพื้นที่จังหวัดที่ห่างไกล

ประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่มีค่าจ้างต่างกัน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา อียู จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ อีกประการหนึ่งที่ขอติงไปยังรัฐบาล เรื่องค่าจ้างระดับปริญญาตรีไม่ควร ประกาศเป็น “Minimum Wage” เนื่องจากค่าจ้างขั้นต่ำเป็นค่าจ้างที่คุ้มครองแรงงานกลุ่มเปราะบาง เป็นค่าจ้างแรกเข้าไม่มีการเลือกปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นเพศ อายุ ความพิการ การศึกษา ศาสนา และใช้กับแรงงานต่างด้าว

ที่ต้องติงอีกประการหนึ่ง คือการปรับค่าแรงระดับปริญญาตรีเป็นผู้มีการศึกษา เป็นแรงงานทักษะ ปัจจุบันผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีคิดเป็นร้อยละ 53.8 ของผู้สําเร็จการศึกษาที่เข้าสู่ตลาดแรงงาน อัตราค่าจ้างปัจจุบันแรกเข้าอยู่ที่ระดับ 12,000 – 15,000 บาท หากปรับแบบก้าวกระโดดเป็น 25,000 บาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 66.7–108 จะเป็นปัจจัยทําให้บัณฑิตจบใหม่อาจตกงานมากขึ้น อีกทั้งจํานวนผู้เข้าไปศึกษาสายอาชีพจะมีจํานวนลดลง

ปัจจุบันแรงงานระดับปฏิบัติการมีการขาดแคลนอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงส่งผลต่อ โครงสร้างกําลังแรงงานของชาติในอนาคต และทําให้จําเป็นต้องจ้างแรงงานต่างด้าวเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันแรงงานถูกกฎหมายมีจํานวน 2.766 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.89 ของกําลังแรงงานทั้งหมด การปรับค่าจ้างสูงย่อมทําให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีและเป็นการเพิ่มกําลังซื้อ ส่งผลต่อเศรษฐกิจ แต่ต้องไม่ลืมว่าเป็นต้นทุนของประเทศ ภาคการผลิตของไทยส่วนใหญ่ยังติดกับดักอุตสาหกรรม พื้นฐานใช้เทคโนโลยีต่ำ จำเป็นต้องใช้แรงงานจํานวนมาก (Labor Intensive) ภาคส่งออกซึ่งเป็นรายได้หลักของชาติอุ้มการจ้างงานไว้มากกว่าครึ่งเกี่ยวข้องกับภาคการผลิต บริการ และเกษตรกรรม ส่วนใหญ่ใช้แรงงาน เข้มข้นและเป็นอุตสาหกรรมรับจ้าง (OEM) อาจสูญเสียขีดความสามารถการแข่งขัน และจะทําให้ส่วนหนึ่งอาจย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่เหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อทศวรรษที่ผ่านมา

เศรษฐกิจขาลง-ขาดสภาพคล่อง-ไม่ใช่จังหวะปรับค่าจ้างประชานิยม

นอกจากนี้อาจทําให้ราคาสินค้าปรับตัวที่สุด กระทบไปถึงประชาชนและภาคแรงงาน กลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่ต้องมีการปรับค่าจ้างให้สูงตามราคาสินค้า การที่ประเทศไทยจะยกระดับค่าจ้างให้สูงเทียบเท่า ประเทศพัฒนาจําเป็นที่จะต้องยกระดับผลิตภาพแรงงานหรือ “Productivity” ให้สูงกว่าค่าจ้าง เกี่ยวข้องกับการไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้น “Technology Intensive” ทั้งในภาคการผลิต-บริการและ เกษตรกรรม สินค้าส่งออกต้องเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง-มีแบรนด์เป็นของตัวเอง ไม่ใช่ย่ำอยู่กับอุตสาหกรรมรับจ้างผลิต ทางด้านแรงงานต้องมีการปรับทักษะทั้ง Reskill และ Upskill ซึ่งต้องปรับตัวผู้ประกอบการเป็นระดับต้นๆ แล้วจึงค่อยไปปรับในระดับแรงงาน หากเถ่าแก่ หรือเจ้าของธุรกิจยังย่ำอยู่กับอุตสาหกรรม 2.0 ขาดวิสัยทัศน์ ทางด้านการใช้เทคโนโลยี ขาดทักษะการจัดการแล้ววจะไปพัฒนาลูกจ้างย่อมเป็นไปไม่ได้

ประเด็นที่ต้องเข้าใจค่าจ้างหรือรายได้ที่สูงมาพร้อมกับค่าครองชีพที่สูงเหมือนกับประเทศที่ พัฒนาแล้ว เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ค่าจ้างคนทํางานในเมืองอัตราค่าจ้างแรกเข้าประมาณ 50,000 บาท แต่ค่า ครองชีพที่สูงลิ่ว เช่น น้ำเปล่าขวดละ 30 บาท อาหารกลางวันริมถนนจานละ 300 บาท เมืองใหญ่ๆของจีน อาหารในฟู้ดคอร์ท กับข้าวสองอย่างจานละ 150 บาท แมคโดนัลด์พร้อมโค้กราคา 235 บาท ค่าเช่า อพาร์ทเม้นต์ชานเมืองโตเกียว หรือนครเซียงไฮ้ 1 ห้องนอนเล็กๆ ราคามากกว่า 30,000 บาท

ตนเคยสอบถาม แรงงานหนุ่มสาวพบว่าส่วนใหญ่คุณภาพชีวิตไม่ดีเท่าไหร่ ต้องดิ้นรนทํางานพาร์ทไทม์เพื่อเพิ่มรายได้ พวกเขาอิจฉาคนไทยด้วยซ้ำไป ค่าจ้างที่สูงเป็นทางเดินของประเทศ แต่จะต้องพัฒนายกระดับคุณภาพแรงงานให้มีทั้งด้าน ประสิทธิภาพและผลิตภาพแรงงาน ให้สามารถวิ่งตามทันกับค่าจ้าง มิฉะนั้นต้นทุนจะไปอยู่ในราคาสินค้า

“ประเด็นที่ฝากไปถึงรัฐบาล คือช่วงเวลานี้เศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลง ภาคธุรกิจรายได้หดตัว ขาดสภาพคล่อง ไม่ใช่ช่วงจังหวะที่จะปรับค่าจ้างแบบประชานิยม ค่าจ้างที่จะปรับจะต้องสมดุลกับผลลัพธ์ในรูปของผลิตภาพแรงงาน ที่สูงควรส่งเสริมให้ผู้ใช้แรงงานมีการสอบเทียบทักษะมือแรงงานในแต่ละสาขา เพื่อรับค่าจ้างในอัตราที่สูงเป็น ทางออกของประเทศที่ค่าจ้างและผลิตภาพแรงงานจะต้องไปในทิศทางเดียวกัน” ดร.ธนิต กล่าว