ตอนนี้ ใครๆ ก็รู้ว่า “ยาเสพติดระบาดหนักแค่ไหน” ในกรุงเทพฯ ลงไป “คลุกวงใน”ตามชุมชนต่างๆ สักพักก็น่าจะทราบได้ว่า “หาของได้ที่ใคร” แต่ละวันมีข่าวเกี่ยวกับการเล่นยาจนหลอนมาเรื่อยๆ …ซึ่งคำว่า “มาเรื่อยๆ” นี่บางทีคืออยู่ในตะกร้าข่าวของสำนักข่าว แต่ไม่ถูกนำเสนอเพราะพื้นที่ไม่พอ หรือไม่รู้ว่า คนเราชินชาต่อเรื่องการเล่นยาแล้วหลอนกันแล้วหรือเปล่า แต่บางคดีมันก็มีความสะเทือนใจ เช่น ข่าวลูกติดยาบ้าคลั่งทำร้ายบุพการี , ขโมยของทุกอย่างในบ้านไปซื้อยาบ้า-ยาไอซ์-กัญชามาเสพ ..ซึ่งเรื่องกัญชานี่ควรจะทบทวนเรื่องให้ปลูกบ้านละ 5 ต้นได้แล้ว บางคนไม่ได้ใช้ประโยชน์เพื่อทางการแพทย์สมุนไพร เขารอเก็บช่อดอกเอาไปพันลำ..แล้วปลูกบ้านละ 5 ต้นนี่ไม่ทราบส่งขายใคร

ยาเสพติดนี่แทรกซึมอยู่ในทุกวงการ อย่าคิดว่ามีแต่พวก “ตลาดล่าง” ที่เล่นยา อาชีพหน้าที่การงานดีๆ เขาก็เล่นกัน แถมหาของชั้นดีได้ด้วย ..ง่ายๆ คนเป็นแพทย์ยังมีเล่นบ้าง แถมรู้วิธีเล่นแบบควบคุมตัวเองไม่ให้หลอนได้ ..พูดง่ายๆ เราไม่รู้หรอกว่าใครรอบตัวเล่นยา ..หรือหนักกว่าคือ เผลอๆ คนใกล้ตัวเราแหละค้าด้วย …มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า การเล่นยาแพร่หลายมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า เนื่องด้วยความเครียด การต้องถูกกักตัว …มีการแอบนัดมีเพศสัมพันธ์ที่ใช้ยาเพื่อกระตุ้นอารมณ์ ( chemsex ) เกิดขึ้น ซึ่งก็เคยเห็นข่าวบางกรณีหลอนจนกระโดดตึก

และในสถานบันเทิง มีการนำยาเสพติดไปใช้เพื่อกระตุ้นอารมณ์ให้เพริด สนุกสนานมากขึ้น ตัวที่ใช้กันมากคือไอซ์ ( crystal Methamphetamine ) อารมณ์ประมาณยาบ้าอีกแบบหนึ่งที่มีความบริสุทธิ์กว่า แรงกว่า เสพติดได้ง่ายกว่า มันเป็นยากระตุ้นประสาท ทำให้เคลิ้ม ไม่ง่วงไม่หลับ วิธีเสพนี่ทำได้ทั้งสูดไอระเหย ฉีด กลืน ดม หรือสอดทางทวารหนัก การฉีดเข้าเส้นเลือดกับสูดเข้าจมูก ( บางคนเรียกตืด ) จะออกฤทธิ์เร็วที่สุด …พอออกฤทธิ์เขาก็เรียกว่า ไฮ ซึ่งน่าจะมาจากคำว่า high แปลว่าสติสตังลอยเตลิดสูงไปไหนต่อไหนแล้ว เคลิ้ม มั่นใจ มีความยับยั้งชั่งใจน้อยลง หัวใจเต้นแรง ความอยากอาหารลดลง ความต้องการทางเพศสูงขึ้น พอเริ่มจะ down ลง ก็จะอารมณ์แย่  หงุดหงิด วิตกกังวล หวาดระแวง ซึมเศร้า

ไอซ์ถูกใช้ในสถานบริการทางเพศ ( อันนี้อย่าตอแหลว่าเมืองไทยเมืองพุทธไม่มีอะไรแบบนี้ ) เพราะใช้แล้วน่าจะประมาณ“เติมรสชาติ” แต่ที่อันตรายคือ ถ้าใช้ในสถานบริการทางเพศ มีโอกาสใช้ร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์หรือไวอากร้า ซึ่งจะเร่งอัตราการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้มากขึ้น ..ทีนี้ พอเสพมากๆ เข้ามันก็มีอาการทางจิตเภทตามมา ซึ่งที่มีการรวบรวมไว้ก็อาทิ รู้สึกหวาดระแวงว่ามีใครแอบดักฟัง หรือแอบติดตามดู รู้สึกตัวเองเป็นเป้าหมายของแผนการร้ายหรือลัทธิ รู้สึกว่าคู่นอนจงใจให้ติดเชื้อเอชไอวี มีความรู้สึกไม่ปลอดภัย ได้ยินเสียงกระซิบ รู้สึกเหมือนมีแมลงใต้ผิวหนัง

นั่นแค่กรณีไอซ์ ยาเสพติดมีฤทธิ์กระตุ้นประสาทที่ถูกใช้กันอีกก็มีโคเคน แต่มันแพงเลยไม่ค่อยแพร่หลาย ยาอี  เคตามีนหรือยาเค ที่ออกฤทธิ์หลอนประสาท และที่พบมากที่สุด ขายกันถูกๆ ตอนนี้ก็ยาบ้า เป็นสารกระตุ้นประสาททำให้ร่างกายตื่นตัวตลอดเวลา ไม่เหน็ดเหนื่อยเคลิบเคลิ้ม ความยับยั้งชั่งใจลดลง พอสร่างยาก็จะซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวน มีอาการทางจิต มันมีผลต่อร่างกายคือเกิดอาการนอนไม่หลับ มีปัญหาในช่องปากเรื้อรัง  ไม่มีสมาธิ มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ การทำงานของตับและไตแย่ลง เสี่ยงโรคเส้นเลือดในสมองอุดตัน

ภาคประชาชนก็มีความพยายามบรรเทาปัญหา ทำงานร่วมกับภาครัฐ ในเมื่อยาเสพติดมันห้ามยากก็ให้เรียนรู้เรื่องการจัดการตัวเองเมื่อเกิดปัญหาให้ได้ก่อน แล้วต้องเข้าสู่การบำบัด อย่างมูลนิธิ HIV foundation , องค์กรบางกอกเรนโบว์ มูลนิธิ AIDS Health Care ประเทศไทย ( AHF Thailand ) สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย และอื่นๆ ก็ทำคู่มือสำหรับการรับมือกับ Chemsex ซึ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยดูคู่มือได้ที่ https://www.thehivfoundation.org/firstaid?fbclid=IwAR056tJuMM5btXOlp-_mS1SJmFzVi4Io26UNBew3N6iavGDP2RJlkv37ur0 เเละในกรณีที่พบว่า คนรอบข้างเสพยาจนมีปัญหา  โทรหาสายด่วน สพฉ. 1669 ( ทั่วประเทศ ) ได้ หรือ 1646 ( ในกรุงเทพ )  หรือเชคสถานที่รักษาพยาบาลในกรุงเทพได้ตามคู่มือ chemsex ข้างต้น

ยาเสพติดส่งผลกระทบต่อคุณภาพประชากร อาชญากรรม และส่งผลต่อเนื่องถึงศักยภาพการพัฒนาประเทศ  นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.คลัง ก็ต้องการให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นนโยบายเร่งด่วน ลดปัญหายาเสพติดให้ได้ใน 1 ปี ทั้งในแง่ผู้เสพ ผู้ขาย ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เรื่องนี้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ได้หารือกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เมื่อวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยเน้นหลักบำบัดดูแลให้ผู้เสพผู้ติด

นพ.ชลน่านระบุว่า ต้องมีการแบ่งระดับผู้เสพ เพื่อเข้าสู่การบำบัดฟื้นฟู โดยกระทรวงสาธารณสุขจะใช้อาการของผู้ป่วยเพื่อแบ่งกลุ่ม กลุ่มที่ 1 สีแดงคือ ผู้ที่ใช้ประจำ มีอาการติด เรื้อรัง กลุ่มนี้จะมีประมาณ 36,000 คน คิดเป็น 8% กลุ่มที่ 2 กลุ่มสีเหลือง คือ ผู้เสพที่มีอาการ ซึ่งมีจำนวนค่อนข้างมีเยอะ ประมาณ 423,000 คน คิดเป็น 92% และกลุ่มที่ 3 คือ ผู้เสพที่ไม่มีอาการ หรือเป็นผู้ใช้เฉยๆ ประมาณ 1.46 ล้านคน ( ซึ่ง 1.46 ล้านคนจะย้ายไปกลุ่มเหลืองเมื่อไรก็ได้ )

“ใน 2 ส่วนแรกจะเป็นหน้าที่โดยตรงของกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องนำเข้าสู่การบำบัดในสถานพยาบาล ซึ่งเราก็ได้ประกาศนโยบายเร่งด่วน (Quick Win)ไปแล้ว ว่า 1 จังหวัดจะต้องมีมินิธัญรักษ์รองรับ 1 แห่ง รวมๆ แล้วกลุ่มนี้เรามีตัวเลขประมาณ 459,000 ราย ที่เป็นกลุ่มผู้เสพติดระดับสีแดงกับสีเหลือง แต่อีก 1,460,000 คน ถือเป็นผู้ใช้ ซึ่งกลุ่มนี้ เราทิ้งเขาไม่ได้หากเจอตัว ก็จะมีระบบให้ชุมชนบำบัด จะเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับกระทรวงมหาดไทย รวมถึงเป็นการรองรับผู้ป่วยที่ผ่านการบำบัดรักษาในสถานพยาบาลเรียบร้อยแล้ว คืนคนเหล่านี้สู่สังคมแล้ว สังคมก็ต้องรับไปดูแลต่อ ให้อยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขที่สุดนี่คือเป้าหมายของเรา” รมว.สาธารณสุข กล่าว

ปัญหาของเรื่องการ “คืนคนสู่สังคม” นี่มันอาจต้องมีหน่วยงานอื่นอย่างพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ( พม.) แรงงาน เข้ามาดูแลเพื่อช่วยฝึกวิชาชีพให้ผู้ที่ผ่านการบำบัดแล้ว และที่สำคัญคือ การที่ชุมชนรู้ว่าใครติดยา ก็มีการตีตราไปแล้ว ยิ่งถ้าเคยก่อเหตุลักเล็กขโมยน้อยไปจนถึงอาชญากรรม ยิ่งไม่เป็นที่ยอมรับของชุมชน ต้องใช้กลไกของท้องถิ่น สังกัดกระทรวงมหาดไทยเข้าไปช่วยเหลือตรงนี้เพื่อไม่ให้ผู้บำบัดแล้วเกิดความเครียดไปติดอีก

นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า ในส่วนของกระทรวงยุติธรรมก็จะดูเรื่องของเม็ดเงินงบประมาณที่ใช้ในการบำบัดรักษาฟื้นฟู ซึ่งเป็นงบฯ ที่ถูกจัดอยู่ในงบฯ บูรณาการ ที่มีหลายกระทรวงร่วมดูแล กระทรวงสาธารณสุขเป็นเจ้าภาพจึงเน้นว่าทำอย่างไรให้งบประมาณที่ได้มา ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่เราจะทำการบำบัดรักษามากที่สุด อย่างในปี 2566 เราของบฯ ไป 150,000 ล้านบาท แต่ได้มาเพียง 400 กว่าล้านบาท สามารถบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดได้เพียง 69,000 คนเท่านั้น ดังนั้นเราจึงต้องมาคุยกันว่าจะต้องช่วยกันดูแลอย่างไร  ในส่วนกระทรวงยุติธรรม ก็จะมีการประกาศนโยบายเร่งด่วนในภารกิจของตัวเองเช่นกัน ว่าใน 100 วันเขาจะทำอะไร เหมือนกระทรวงสาธารณสุข ที่ประกาศ 1 จังหวัด 1 นิติธัญรักษ์ใน 100 วัน

ที่น่าสนใจคือ การแยกผู้ซื้อกับผู้ขาย ถ้าผู้ขายพกมานิดเดียว แถมพฤติการณ์ไม่ชัด จะไประบุเป็นผู้ขายก็ยาก แต่เพื่อสร้างแรงจูงใจดึงคนเข้าสู่ระบบบำบัด ทำให้ต้องมองผู้เสพเป็นผู้ป่วยที่สังคมให้โอกาส เรื่องนี้  นพ.ชลน่านกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข จะต้องมาออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดจำนวนการถือครอบครองว่า จำนวนเท่าไหร่จะถือเป็นผู้เสพ ที่ประชุมมีมติให้คณะทำงานที่เกี่ยวข้อง ตัวเลขยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ก็มีคนเสนอว่า ให้กำหนดที่ 5 เม็ด หรืออีกมิติหนึ่ง คือ เอาปริมาณมิลลิกรัมที่เสพไปแล้วมีผลกระทบกับร่างกายและจิตประสาท แบบว่า แทนนับเม็ดยาบ้า พอเปลี่ยนเป็นโคเคนหรือยาอีก็นับกรัมเอา  จะมีการเร่งรัดกฎกระทรวงโดยเร็วภายในเดือน ต.ค.นี้

นพ.ชลน่านย้ำว่า หากครอบครองต่ำกว่าที่กำหนดก็จะถือเป็นผู้เสพ ไม่มีโทษ แล้วเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา และตามกฎหมายจะให้มีการบำบัดรักษาโดยสมัครใจ  แต่ถ้าไม่สมัครใจก็จะมีโทษ ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด  ซึ่งหวังว่า นโยบายนี้ของรัฐบาลจะประสบความสำเร็จและเห็นผลอย่างมีนัยยะสำคัญว่า ผู้ติดยา ผู้ค้ายาลดลง ส่วนหนึ่งด้านความมั่นคงก็ต้องมาเกี่ยวข้องคือการซีลพื้นที่ชายแดน เพราะยาเสพติดเข้ามาทางช่องทางธรรมชาติค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ เพื่ออนาคตของลูกหลานและอนาคตของประเทศชาติจริงๆอย่างที่บอก ยาเสพติดมันอยู่รอบตัวเราแบบเราไม่รู้หรอกว่าคนข้างตัวอาจเสพก็ได้

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”