บุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นสินค้าผิดกฎหมาย แต่หันไปทางไหนก็เจอคนสูบบุหรี่ไฟฟ้า และหาซื้อง่าย แม้แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายคนก็สูบ! เมื่อชั่งน้ำหนักดูแล้วมีผลต่อสุขภาพร่างกายเหมือนบุหรี่มวนหรือไม่? นอกจากนี้ยังมีผู้เสนอแนะว่าอยากให้ทุกฝ่ายแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าด้วยการนำมาเป็นสินค้าที่ถูกกฎหมาย เอาธุรกิจนี้ขึ้นมาไว้บนดิน เพื่อสามารถจัดเก็บภาษีเป็นรายได้เข้าประเทศ 

ทีมข่าว Special Report สนทนากับคนที่ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้าอย่าง นพ.เอกภพ เพียรพิเศษ อดีต สส.เชียงราย ที่ต้องการให้ภาครัฐมีความชัดเจน และตรงไปตรงมากับเรื่องดังกล่าวด้วยซ้ำไป

ตลาดบุหรี่ไฟฟ้า5หมื่นล้านฯ-คนทำต้องเป็นขบวนการใหญ่

นพ.เอกภพ กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่งเข้ามาในประเทศไทยเมื่อ 10 กว่าปี แต่ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดปีละไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นล้านบาท บางปีตลาดบุหรี่ไฟฟ้าเติบโต 100% โดยมีกำไรประมาณ 30% คนที่จะทำธุรกิจนี้ได้ต้องเป็น “ขบวนการใหญ่” มากๆ ด้วยการขนเข้ามาในตู้คอนเทเนอร์จากต่างประเทศ แต่สำแดงว่าเป็น “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” เป็นสินค้าผิดกฎหมาย แต่วางขายตามร้านค้า และในช่องทางออนไลน์กันเต็มไปหมด มีการไปจับกุมและปรับกันเป็นพักๆ แล้วกลับมาขายบุหรี่ไฟฟ้ากันตามปกติ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

“ผมนำเสนอมาหลายครั้ง ว่าดูสถิติอัตราผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทยย้อนหล้งไปแทบจะไม่ขยับลดลง และยิ่งแย่ไปกันใหญ่เมื่อดูจากตัวชี้วัดตามแผนควบคุมยาสูบแห่งชาติ ซึ่งมีการใช้เงินไปปีละหลายร้อยล้านบาทก็สอบตกมาโดยตลอด ที่เห็นตัวเลขลดลงในปี สองปีหลังเพราะคนที่สูบบุหรี่ส่วนหนึ่งเปลี่ยนไปสูบบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ได้เป็นผลงานของการควบคุมยาสูบที่ดีแต่อย่างใด”

เมื่อดูนานาอารยประเทศ ก็น่าสนใจว่าสวีเดนกำลังจะเป็นประเทศแรกในโลกที่เป็น “Smoke-free country” หรือประเทศปลอดบุหรี่ ที่เขาทำให้ผู้สูบบุหรี่มีเหลือน้อยกว่า 5% ของประชากร ที่เขาทำได้เพราะนโยบายควบคุมยาสูบแบบ “harm reduction” ส่งเสริมให้คนเลิกบุหรี่ด้วยนิโคตินทดแทนแบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น Snus หรือบุหรี่ไฟฟ้า สอดคล้องกับข้อมูลวิชาการจาก Cochrane review ที่สรุปว่ามีหลักฐานที่มีความเชื่อถือได้สูงว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกสูบบุหรี่มวน ได้ดีกว่านิโคตินทดแทนแบบดั้งเดิม

“แบนทิพย์” เพื่อให้คนบางกลุ่มได้รับผลประโยชน์?

คนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเลิกบุหรี่มวน เมื่อติดตามไปถึง 6 เดือน จะมีจำนวน 54% ที่ยังสูบบุหรี่ไฟฟ้าอยู่ แต่แสดงว่าอีก 46% หยุดสูบบุหรี่มวนได้ เมื่อติดตามต่อเนื่องไปถึง 2 ปี ยังไม่เจอผลอันตรายระยะสั้นของบุหรี่ไฟฟ้า โดยมีการศึกษาตรวจหาสารบ่งชี้การเป็นโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจหลอดเลือด โรคมะเร็ง พบว่าคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าตรวจพบสารบ่งชี้การเกิดโรคต่างๆน้อยกว่าคนที่สูบบุหรี่มวน และในเชิงนโยบายมีข้อมูลว่าการให้ขายบุหรี่ไฟฟ้า โดยมีการควบคุมจะช่วยลดผู้สูบบุหรี่มวนได้ เพราะบุหรี่ไฟฟ้าไปแข่งกับบุหรี่มวน ไม่ได้ไปส่งเสริมการสูบบุหรี่มวน ดังนั้นการนำบุหรี่ไฟฟ้าขึ้นมาบนดินให้ถูกควบคุมแบบที่ควบคุมบุหรี่มวน โดยสนับสนุนให้ผู้ที่สูบบุหรี่มวนมาเลือกใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับเลิกบุหรี่มวน

ถ้ามีกฏหมายควบคุม จะทำให้สามารถควบคุมมาตรฐานอุปกรณ์ และคุณภาพของน้ำยานิโคตินได้ และใช้กฏหมายควบคุมการเข้าถึงของเยาวชนได้ เพราะการ “แบนทิพย์” แบบที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ ไม่สามารถปกป้องการเข้าถึงของเยาวชนได้เลย แถมยังเป็นช่องทางเรียกรับผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม และหากใครสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม จะเห็นว่าบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้ง เป็นขยะอันตรายประเภทขยะอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งทำลายได้ยาก ถ้าทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฏหมาย จะมีการจัดการขยะบุหรี่ไฟฟ้าได้แบบที่อังกฤษให้ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้านำบุหรี่ไฟฟ้าเก่าไปทิ้งที่ร้านขายบุหรี่ไฟฟ้าที่ร่วมโครงการกับรัฐบาล แล้วประเทศเราจะ “แบนทิพย์” ต่อไปกันอีกทำไม?

บุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงน้อยกว่าการสูบบุหรี่มวน

นพ.เอกภพ กล่าวต่อไปว่า อันตรายของบุหรี่มวนมาจากอะไร? มาจากสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของตัวบุหรี่ กลายมาเป็นควัน-ทาร์ แต่บุหรี่ไฟฟ้าไม่มีการเผาไหม้ ในประเทศอังกฤษ อเมริกา นิวซีแลนด์ บุหรี่ไฟฟ้าไม่ผิดกฎหมาย เพราะเขาเห็นว่ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน จำนวนคนสูบบุหรี่มวนลดลง เพราะหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า ใครไม่สูบอะไรเลยถือว่าไม่มีความเสี่ยง ถ้าสูบบุหรี่มวนซึ่งประกอบด้วยใบยาสูบ กระดาษที่ใช้มวน และสารเคมี ถือว่าเสี่ยง 100% แต่ถ้าสูบบุหรี่ไฟฟ้าจะมีความเสี่ยงน้อยกว่า สรุปว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ลดความเสี่ยง!

สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นข้อมูลที่ทราบกันโดยทั่วไปอยู่แล้ว ตนไม่ได้สูบบุหรี่ไฟฟ้า แต่ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เพราะตอนเป็นสส. ได้เข้าไปช่วยเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบแบบครบวงจร เพราะอะไร? เมื่อก่อนการยาสูบ (โรงงานยาสูบ) มียอดขาย และกำไรดีมาก แต่หลายปีที่ผ่านมาบริหารกันอย่างไรไม่ทราบ เหลือกำไรน้อย บางปีขาดทุน เห็นว่ามาจากผลพวงของ พ.ร.บ.สรรพสามิต ปี 60 เปิดช่องให้บุหรี่นอกเข้ามาตีตลาดบุหรี่ไทย ขายราคาใกล้เคียงกัน แถมมีบุหรี่เถื่อนหลายยี่ห้อทะลักเข้ามาตามชายแดน บุหรี่ไทยขายไม่ดี เกษตรกรจึงถูกลดโควต้าใบยาสูบ

“แต่ถ้าเราทำบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกฎหมาย เอาขึ้นมาไว้บนดิน เพื่อคัดกรองคุณภาพอุปกรณ์-น้ำยา ร้านไหนขายก็ต้องรับขยะของบุหรี่ไฟฟ้ากลับไปทำลายอย่างถูกต้องด้วย รัฐจะมีรายได้จากภาษี เกษตรกรมีรายได้จากการขายใบยาสูบ ไม่ถูกลดโควต้า แต่คงโควต้ากันไว้เท่าเดิมที่เคยได้ 100% โดยแบ่งไปตามสัดสัดส่วน คือ 50% เอาไปทำบุหรี่มวน อีก 25% ส่งออกเป็นใบยาสูบสำเร็จรูป-ใบยาสูบตัดแผ่น และอีก 25% เอามาสกัดใช้ในบุหรี่ไฟฟ้า” นพ.เอกภพ กล่าว