สถานการณ์การเมืองร้อนแรงทันทีหลัง “นายกฯเศรษฐา” เศรษฐาทวีสิน” นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ออกมาแถลงเดินหน้าเงินดิจิทัลวอลเล็ต1หมื่นบาท และชัดเจนว่า “งบประมาณ” ที่จะเอามาใช้ดำเนินโครงการเรือธงของพรรคเพือไทย แกนนำพรรครัฐบาล จะต้อง “กู้” เกรงว่าจะประชานิยมได้ไม่คุ้มเสีย “คอลัมน์ตรวจการบ้าน” จึงต้องมาสนทนากับ “ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” ถึงมุมมองต่อโครงการเรือธงที่รัฐบาลแถลงออกมาครั้งนี้อย่างไร

โดย“ผศ.ดร.ปริญญา” ได้เปิดประเด็น การที่เพื่อไทยประกาศนโยบาย Digital wallet ก่อนเลือกตั้ง 2 สัปดาห์ เพราะหวังชนะแบบแลนสไลด์ แม้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นประชานิยม เพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียง แต่พรรคเพื่อไทยอธิบายว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ใช่ประชานิยม ซึ่งวันนี้ตามคำสัมภาษณ์ หรือการแถลงของ “นายกฯเศรษฐา” ว่าเหมือนกับใส่เงินเข้าไปในระบบเพื่อเพิ่มการบริโภค และเกิดการต่อยอดการใช้จ่ายต่อๆ ไป 2-3 เท่า และจะทำให้นโยบายอื่นๆ ของพรรคเพื่อไทยต่อยอดได้นำสู่การชนะการเลือกตั้งครั้งต่อไป 

แต่คำถาม คือ จะเอาเงินมาจากไหน เพราะไปดึงเงินจากส่วนที่บอกว่าไม่จำเป็นก็ทำไม่ได้ เพราะยอดที่ใช้ในโครงการเงินดิจิทัล 5.6 แสนล้านบาท เกือบ 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ประมาณ 3.4 ล้านบาท ที่สำคัญเงินนี้มีแผนการใช้หมดแล้ว แม้จะตัดคนมีรายได้เกิน 7 หมื่นบาทต่อเดือนออกแล้วก็ยังต้องใช้เงินกว่า 5 แสนล้านบาท ถึงได้มาออกพ.ร.บ.เงินกู้ คำถามยิ่งดังขึ้นว่า “ทำได้หรือไม่” เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 62 ระบุว่า การใช้เงินต้องคำนึงถึงวินัยการเงินการคลังตามพ.ร.บ.ว่าด้วย วินัยการเงินการคลัง ซึ่งวางหลักการกู้เงินต้องทำตามความจำเป็นเร่งด่วนถึงจะไม่กระทบวินัยการเงินการคลัง ดังนั้นอยู่ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาว่าจะทำอย่างไรให้ทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

แต่เรื่องใหญ่จริงๆ คือ เรื่องทางการเมืองมากกว่า จะทำอย่างไรให้ไม่ใช่เป็นการกู้เงินมาแจก แต่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจจริงๆ ขณะที่รูปธรรม คือ ใส่เงิน10,000 บาทเข้ากระเป๋าเงิน Digital ของคนจะไม่เรียกว่าแจกได้อย่างไร

ประการต่อมา “ควรทำหรือไม่” คิดว่า การใช้เงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นสัดส่วน เกือบ 20% ของงบฯ รายจ่ายประจำปีใช้แล้วต้องคุ้ม ถ้ามีเป้าหมายแค่กระตุ้นเศรษฐกิจ แล้วมีวิธีการอื่นหรือไม่ที่ใช้เงินน้อยกว่านี้ ผมฟังเหตุผลการกู้ ก็เข้าใจว่าถ้าเอางบฯ ที่มีจากตรงนั้นตรงนี้มา จำนวนเงินในระบบเศรษฐกิจก็จะเท่าเดิม เพราะเป็นเงินที่จะมีการใช้อยู่แล้วจากงบรายจ่ายประจำปี จึงกระตุ้นเศรษฐกิจได้น้อย ถ้าจะกระตุ้นให้ได้มาก ต้องไปเอาเงินในอนาคตมาเติมเข้าไป นี่เป็นเหตุผลในการกู้ อย่างไรก็ตาม ต่อให้ทางกฎหมายทำได้ แต่ทางการเมือง ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนัก

อีกประเด็น  “คุ้มค่าแค่ไหน”  ถ้าเป้าหมายแค่กระตุ้นเศรษฐกิจ ควรใช้วิธีอื่นที่ใช้เงินน้อยกว่านี้ ไม่ใช่การเอาเงินในอนาคตมากระตุ้นเศรษฐกิจวันนี้ เพราะถึงอย่างไรก็ต้องคืน ส่วนตัวเห็นว่าการใช้เงินมากขนาดนี้ ควรพุ่งเป้าที่การแก้ปัญหาใหญ่ของประเทศ คือ “ความเหลื่อมล้ำ” โดยเจาะไปพื้นที่เป้าหมายตำบล อำเภอที่มีปัญหาความยากจนต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน แล้วเติมงบฯ ลงไปเพื่อสร้างงาน สร้างโอกาส ซึ่งไม่ใช่การแจกจะคุ้มกว่า

เพราะเมื่อคนลุกขึ้นยืนได้ก็จะสร้างเงิน สร้างงาน สร้างโอกาสต่อไป สังคมก็จะเป็นบวกขึ้นมาจากภาษีที่กลับมา เหมือนประเทศจีนใช้งบประมาณปีละ 5 แสนล้านล้านบาทเหมือนกัน ในการทำให้หลุดพ้นจากความยากจน ซึ่งไม่ได้หว่านให้ประชากรทั้ง 1,400 ล้านคน แต่ให้แบบพุ่งเป้าและทำต่อเนื่องจนสำเร็จ ดังนั้นผมจึงชวนพรรคเพื่อไทยให้เปลี่ยนใหม่ หากทำแบบพุ่งเป้าจะใช้เงินเพียงปีละแสนล้านในการแก้ความเหลื่อมล้ำโดยไม่ต้องไปกู้เลย

@ แนวทางของของรัฐบาลต้องการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้รวดเร็ว  

 ผลก็จะกลับมาถูกวิจารณ์ รัฐบาลกำลังอยู่บนความเสี่ยง 1. ถ้าเดินหน้าไปไม่สำเร็จ ไม่มีใครได้เงินจะเป็นอย่างไร 2. กู้สำเร็จแต่ GDP ไม่ได้เพิ่มมากอย่างที่ตั้งใจ ก็ไม่คุ้ม เพื่อไทยก็จะแบกรับความไม่สำเร็จนี้ไว้กับตัว และมีผลต่อการเลือกตั้งครั้งหน้า ดังนั้นจังหวะนี้เพื่อไทยมีโอกาสที่จะมีทางลง ความเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยต้องรับฟังเสียง แม้จะเป็นนโยบายหลักแต่เมื่อมีคนทักท้วงมากก็ปรับใหม่ จากกระตุ้นเศรษฐกิจแบบหว่านหมด มาเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้คนที่ขาดจริงๆ ผลอาจจะไม่ได้เกิดเร็วใน 1 ปี แต่จะเกิดผลใน 2-3 ปีแน่นอน ก็ยังเป็นผลงานรัฐบาล ทำต่อเนื่องไป 2-3 ปีประเทศไทย GDP ขึ้นแน่นอน ดังนั้นชวนเพื่อไทยให้เปลี่ยนเพราะคนค้านมากมาย เดินหน้าต่อไปมีแต่ลำบาก

ถ้าพูดถึงภาพทางการเมือง ถ้าร่างพ.ร.บ.เงินกู้เข้าสภาได้ คิดว่ายังไงก็ผ่าน เพราะถ้าไม่ผ่านขึ้นมานายเศรษฐาอาจจะต้องลาออก ถึงเวลานั้นต้องตั้งรัฐบาลใหม่ ต้องต่อรองเก้าอี้กันใหม่ ดังนั้นถึงอย่างไรพรรคร่วมก็ต้องให้ผ่าน แต่ถ้าเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมดังขึ้นๆ พรรคร่วมรัฐบาลซึ่งไม่ได้อะไร เพราะนี่เป็นโครงการของเพื่อไทย ถ้าสำเร็จก็เป็นผลงานของเพื่อไทย ดังนั้นอาจจะมีการพูดคุยกันหลังไมค์กันว่า ปรับได้หรือไม่ แต่ถึงสภาฯ ให้ผ่านได้ แล้วจะผ่านสว. หรือไม่

@ การแถลงครั้งนี้ถ้าเพื่อไทยเดินหน้าต่อ แต่ไปสะดุดที่ศาลรัฐธรรมนูญ หรือสว.ก็จะอ้างได้ว่าดำเนินการตามที่หาเสียงแล้วหรือไม่ถือว่าเป็นการหาทางลงของพรรคเพื่อไทย

นี่เป็นอีกเรื่องที่มีคนมองว่า เป็นการหาทางลงหรือเปล่า เพราะถ้าไม่ทำสิ่งที่หาเสียงไว้ก็ถูกวิจารณ์ จึงต้องทำแต่ถ้าไม่สำเร็จความผิดอยู่ที่ สว.หรือศาลรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามพรรคเพื่อไทยจะสามารถควบคุมผลที่จะตามมาได้ขนาดไหน นี่แปลว่าสังคมก็ยังไม่มั่นใจด้วยซ้ำว่า พรรคเพื่อไทยจะเอาจริง หรือเดินหน้าไปเพื่อจะถอย  เพราะลงเองไม่ได้ ต้องให้มีคนบอกว่าอย่าทำ แล้วความผิดที่รัฐบาลทำไม่ได้ก็จะเป็นของคนอื่นไม่ใช่ของพรรคเพื่อไทย กับอีกทางคือเขาจะเอาให้ได้ ต้องรอดูว่าจะเป็นแบบไหน

@ กฎหมายบอกว่าการกู้เงินต้องจำเป็นเร่งด่วน แล้วปัญหาเศรษฐกิจไทยขณะนี้มีความจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่

มันเป็นแง่มุมทางกฎหมาย แต่คำถามนี้ที่สำคัญ คือ เป็นทั้งกฎหมายและการเมือง แต่ด่านแรก คือกฎหมาย ต้องดูว่าร่างพ.ร.บ. ที่กฤษฎีกาจะทำให้นั้นตอบโจทย์ความจำเป็นเร่งด่วนจนต้องกู้ขนาดไหน ถ้าจะทำก็ทำได้ แต่อาจไปถึงศาลรัฐธรรมนูญถ้ามีคนร้อง ซึ่งเคยเกิดมาแล้ว อย่างเงิน 2 ล้านล้านบาท เรื่องรถไฟความเร็วสูง ก็เห็นได้ว่ามันไปถึงตรงนั้นได้เหมือนกัน นี่นับเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้น เว้นแต่ว่าเขามองว่า เป็นทางลง

@ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญ หรือสว.ไม่ให้ผ่าน รัฐบาล นายกฯ และสส.ที่โหวตให้ผ่านต้องรับผิดชอบหรือไม่

ไม่หรอก การที่สภาผู้แทนผ่านกฎหมายแล้ววุฒิสภาไม่เอาเป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นคนละสภากัน หรือผ่าน 2 สภาแล้ว แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ให้ทำก็เป็นเรื่องปกติ เพราะอำนาจตุลาการกับอำนาจนิติบัญญัตินั้นต่างกัน ประเด็นอยู่ที่ผลทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยที่จะตามมากว่า ซึ่งเขาคงคาดการณ์แล้วว่า น่าจะไม่มาก และคุ้มที่จะเสี่ยง

@ แยกผลที่เกิดกับนายเศรษฐา และที่เกิดกับพรรคเพื่อไทย เป็นอย่างไร

เรื่องนี้จะต้องมองปัจจัยอีกข้อหนึ่งประกอบกัน  ตามที่เราทราบนายทักษิณ ชินวัตร จะครบเกณฑ์ขอพักโทษ ก่อนศาลพิพากษาสั่งให้จำคุก ในวันที่ 22 ก.พ. 2567 คือครบ 6 เดือนตั้งแต่ 22 ส.ค. ถามว่าบทบาทของน.ส.แพทองธาร ชินวัตร จะเป็นอย่างไร ในทางการเมืองเข้าใจได้ว่า ถ้าตอนนี้น.ส.แพทองธารเป็นนายกฯ จะมีปัญหาเรื่องการช่วยคนในครอบครัว แต่เมื่อนายเศรษฐาเป็นนายกฯ ไม่ใช่คนนามสกุลเดียวกันก็ไม่มีปัยหา แต่ถ้านายทักษิณได้รับการพักโทษแล้ว สถานการณ์ก็จะเปิดให้น.ส.แพรทองธารมากกว่านี้

“ง่ายๆ คือเป็นความเสี่ยงที่นายเศรษฐา ถ้าทำเรื่องนี้ไม่สำเร็จ การสนับสนุน ความนิยมทางการเมืองจะลดลง แล้วอาจมีอะไรในทางการเมืองมากระทบนายเศรษฐาโดยตรง เพราะหลังวันที่ 22 ก.พ.2567 น.ส.แพทองธาร จะมีโอกาสเป็นนายกฯ มากขึ้น ไม่ใช่แค่เป็นการเตรียมการ สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่อาจจะเป็นการเตรียมการสำหรับคราวนี้ก็ได้เพราะนายทักษิณก็พ้นโทษแล้ว”

อีกทั้ง เดือนพ.ค. 2567 สว.ชุดที่ยกมือให้นายเศรษฐาเป็นนายกฯ จะหมดวาระ ส่วนสว.ชุดใหม่ก็จะไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ แล้ว การเลือกนายกฯ จะเป็นเรื่องของส.ส.เสียงเกินครึ่งล้วนๆ ถ้าเพลี่ยงพล้ำขึ้นมา โอกาสพลาดก็เกิดขึ้นได้

@ เรื่องนี้อยู่ในแผนการตั้งแต่แรกหรือไม่

ไม่ทราบ เรื่องนี้ต้องไปถามเพื่อไทย ซึ่งคิดว่าเพื่อไทยเองก็ต้องมองเห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้นจากที่ตนพูดมา  

@ อาจจะกังวลถูกมองว่าพลิกลิ้น ตระบัดสัตย์หรือไม่ เขาคงจะกลัวตรงนี้ แต่ถ้ารัฐบาลเคยสัญญาไว้และต้องทำทุกอย่าง ต่อให้คนคัดค้านมันก็ไม่ใช่  ถ้าแบบนี้ เสียงประท้วง เสียงคัดค้านจะมีไปทำไม ประเด็นคือ สังคมไม่ได้บอกให้คุณเลิก แต่คุณจะปรับเปลี่ยนอย่างไรให้ไปต่อได้และเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นเรื่องของมีดีมีเสียอยู่แล้ว พรรคเพื่อไทยก็อยู่บนสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจว่าจะเดินหน้าต่อ หรือปรับท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่ว่ามานั้น