จากครั้งที่แล้วที่ รศ.ดร.เอกรินทร์ พึ่งประชา อาจารย์ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้อธิบายความหมายคำว่า ผู้ประกอบการทางวัฒนธรรม (cultural entrepreneurs) ไปแล้วนั้น วันนี้คอลัมน์นี้ก็ยังคงอยู่เกี่ยวกับศัพท์สำคัญคำนี้ โดย รศ.ดร.เอกรินทร์ ที่เผยแพร่ผ่านทาง www.sac.or.th ระบุถึงเรื่องนี้ว่า ผู้ประกอบการทางวัฒนธรรมอาจเปรียบได้กับผู้ที่นำวัฒนธรรมมาสร้างสรรค์ทางเศรษฐกิจอย่างแยบยลและมีชั้นเชิง ด้วยเหตุผลสำคัญที่มีอยู่ในเนื้อวัฒนธรรมประกอบอยู่ ดังต่อไปนี้ ประการแรก วัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างสังคม ที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนพัฒนาในระดับต่าง ๆ ของสังคม ประการที่สอง วัฒนธรรมคือทุนสำคัญของชุมชน ที่สามารถนำมาทำให้เกิดการสร้างสรรค์สินค้าหรือบริการที่ลงรากลึกถึงคุณค่าในวัฒนธรรมนั้น จนพัฒนาเป็นบริษัทหรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจด้านวัฒนธรรมสร้างรายได้ให้ชุมชน

อย่างไรก็ดี แม้ผู้ประกอบการทางวัฒนธรรมจะมีแนวคิดที่หลากหลาย แต่สิ่งที่สำคัญคือ การนำความเป็นท้องถิ่นมาสร้างเสน่ห์ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทางวัฒนธรรมพัฒนาธุรกิจของตนหรือชุมชนให้ก้าวสู่ระดับต่าง ๆ ได้ ทั้งระดับท้องถิ่น ภูมิภาค ประเทศ และสากลผ่านการเล่าเรื่องราว ซึ่งไม่เพียงจะสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการทางวัฒนธรรม แต่ชุมชนก็ได้รับประโยชน์ด้วย และสำหรับคำถามที่ว่า ทุกคนจะเป็นผู้ประกอบการทางวัฒนธรรมได้หรือไม่? คำตอบคือเป็นได้ แต่ความสำคัญน่าจะอยู่ที่จะจัดการวัฒนธรรมอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน จนนำไปสู่การสร้างสมดุลของการเพิ่มคุณค่าวัฒนธรรมและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งแนวทางที่จะเกิด ผู้ประกอบการทางวัฒนธรรมที่ดีนั้น รศ.ดร.เอกรินทร์ ได้ให้คำแนะนำเอาไว้ ดังนี้

1.จะต้องมีแรงผลักดันในวัฒนธรรมของตนเอง ที่จะเป็นตัวส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อรักษาวัฒนธรรมของตนเอง

2.จะต้องมีทักษะประยุกต์และจัดการวัฒนธรรมอย่างเป็นระบบในกระบวนการผลิต เพื่อให้เกิดการวางแผนธุรกิจอย่างเป็นระบบ

3.จะต้องพร้อมที่จะเรียนรู้ เพื่อให้เกิดศักยภาพในการยืดหยุ่นกับความพร้อมที่จะปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

4.จะต้องมีทักษะการทำธุรกิจที่ดี โดยเฉพาะการรู้จักใช้แพลตฟอร์มสื่อต่าง ๆ เพื่อสร้างโอกาสธุรกิจ

5.จะต้องใส่ใจถึงผลกระทบที่เกิดจากการนำวัฒนธรรมมาสร้างเป็นสินค้าหรือบริการ ว่าส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมหรือไม่ โดยถ้าหากสร้างบุคลิกลักษณะเช่นนี้ได้ ก็สามารถเป็นผู้ประกอบการทางวัฒนธรรมที่มีส่วนทำให้เกิดการพัฒนาและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนได้

…และนี่เป็นแนวทางก้าวสู่การเป็น “ผู้ประกอบการทางวัฒนธรรม” ซึ่งเอสเอ็มอีใดที่สนใจเรื่องนี้…น่าที่จะนำไปพิจารณาปรับใช้เป็นแนวทางได้.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ [email protected]

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก www.freepik.com