อาสาสมัครประมาณ 100 คน ซึ่งส่วนใหญ่สวมหน้ากากอนามัยและถุงมือยาง ขุดดินสีแดงในหมู่บ้านเอ็นโกมา ด้วยความมุ่งมั่นที่แฝงความเศร้าโศก ขณะที่ฝูงชนเฝ้าดูพวกเขาจากบนเนินดิน

กะโหลกศีรษะ ฟัน และเศษกระดูกอื่น ๆ ที่ขุดพบ ถูกใส่ในถุงพลาสติกอย่างระมัดระวัง ส่วนรองเท้าและเสื้อผ้าที่ขาดรุ่งริ่ง ซึ่งเป็นเบาะแสในการระบุตัวบุคคล ถูกรวบรวมไว้ที่อื่น

Al Jazeera English

เจ้าหน้าที่จากกลุ่มอิบูกา ซึ่งเป็นกลุ่มผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ กล่าวหลังการขุดหลุมฝังศพนาน 1 สัปดาห์ ว่ามีการค้นพบศพทั้งหมด 210 ศพ ก่อนการขุดค้นบริเวณสวนกล้วยในหมู่บ้านเดียวกัน เริ่มขึ้นอีกครั้ง ซึ่งจนถึงขณะนี้ เจ้าหน้าที่พบศพแล้ว 35 ศพ

ด้านสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประมาณการว่า ผู้คนราว 800,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากชนกลุ่มน้อยชาวทุตซี ถูกสังหารในช่วงเวลา 100 วัน ของเหตุการณ์สังหารหมู่ทางชาติพันธุ์ ในรวันดา

“ประวัติศาสตร์ของที่นี่เลวร้ายมาก และมันเห็นได้อย่างชัดเจนว่า นี่คือหนึ่งในหลุมศพหมู่สำหรับการทิ้งศพ กลุ่มฆาตกรในเวลานั้นฝังเหยื่อทับถมกัน และพวกเราพบกระดูกชิ้นใหญ่ หรือแม้แต่กะโหลกศีรษะทั้งชิ้น ซึ่งบางชิ้นยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์” นางโกเรธ อูวอนกุนดา อาสาสมัคร และชาวบ้านในหมู่บ้านเอ็นโกมา วัย 52 ปี กล่าว

เมื่อเดือน ต.ค. ปีที่แล้ว ผู้แจ้งเบาะแสคนหนึ่ งแจ้งทางการเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะมีหลุมฝังศพหมู่ในที่ดินเขตชนบท ซึ่งการสอบสวนได้นำไปสู่การค้นพบหลุมศพใต้บ้านของครอบครัวหนึ่ง โดยสมาชิกครอบครัวทั้งห้าคนถูกจับกุม ฐานต้องสงสัยสมรู้ร่วมคิดในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และการปกปิดหลักฐาน

“มีการตั้งข้อสงสัยว่า คนที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังนั้น รู้ว่ามีอะไรอยู่ข้างใต้พวกเขา และนั่นเป็นความลับของครอบครัว” นายนัปทาลี อาฮีชาคิเย ประธานกลุ่มอิบูกา กล่าวเพิ่มเติม

การค้นพบอันน่าตกตะลึง สร้างความหวาดกลัวให้กับผู้คน ซึ่งอาศัยอยู่ใกล้หลุมศพตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งหลุมศพอีกหลายแห่ง ยังคงถูกค้นพบทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เท่ากับเป็นการตอกย้ำถึงขนาดและความโหดร้ายของการสังหารหมู่ ระหว่างเดือน เม.ย. – ก.ค. ปี 2537

ทั้งนี้ อิบูกา ระบุว่า ศพของเหยื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มากกว่า 100,000 ศพ ถูกขุดพบทั่วรวันดา ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

“พวกเราสงสัยว่า หลุมศพหมู่ที่คล้ายคลึงกันอีกหลายแห่ง ยังไม่ถูกพบทั่วประเทศ เนื่องจากผู้รอดชีวิตยังตามหาคนที่พวกเขารัก ตลอด 30 ปีหลังเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” อาฮีชาคิเย กล่าว “ความท้าทายยิ่งใหญ่ที่สุดคือ ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับตำแหน่งของหลุมศพหมู่เหล่านี้ อยู่กับผู้ที่มีส่วนร่วมในการสังหาร หรือเป็นญาติของฆาตกร ซึ่งพวกเขาปฏิเสธที่จะเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว”.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP