คดีทายาทตระกูลดังเมาขับชนตำรวจเสียชีวิต ที่ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมมากถึง 14 ครั้ง เป็นตัวอย่างชัดเจน ทำให้ต่อมาอัยการจำต้อง“รื้อ”แผงแก้ระเบียบฯใหม่ กระทั่งกระบวนการดังกล่าวตกเป็นข้อกังวลอีกครั้ง เมื่ออดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ  ชินวัตร ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมระหว่างการต่อสู้คดีเช่นกัน

ปัจจุบันระเบียบการร้องขอความเป็นธรรมปรับเปลี่ยนไปแค่ไหน“ทีมข่าวอาชญากรรม”มีโอกาสสอบถาม นายนาเคนทร์ ทองไพรวัลย์  รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งเปิดเผยว่า ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ มีที่มาเมื่อมีคดีเกิดขึ้นในราชอาณาจักร อัยการไม่ได้เป็นผู้สอบสวนเอง แต่เป็นหน้าที่พนักงานสอบสวนตั้งแต่การสอบปากคำผู้เสียหาย พยานบุคคล การรวบรวมพยานหลักฐานแล้วสรุปสํานวนส่งให้อัยการเป็นผู้พิจารณา โดยที่อัยการไม่มีโอกาสพบผู้เสียหาย พบพยาน คือจะไม่เห็นอย่างอื่นนอกจากสํานวนเท่านั้น

ฉะนั้น สมมุติว่ามีการสอบสวนไม่ถูกต้อง รวบรวมพยานหลักฐานไม่ครบถ้วน ไม่ว่าจะพยานหลักฐานในส่วนของผู้เสียหายหรือผู้ต้องหา อันเนื่องมาจากผู้เสียหายหรือผู้ต้องหาไม่สามารถนำพยานและหลักฐานที่ตนมีเข้าสู่สำนวนการสอบสวนได้  เพราะพนักงานสอบสวนไม่สอบสวนให้

ดังนั้น เพื่อให้ประชาชนไม่ว่าจะเป็นผู้เสียหาย หรือผู้ต้องหาได้รับความเป็นธรรม สำนักงานอัยการสูงสุดจึงมีแนวคิดออกระเบียบเกี่ยวกับการร้องขอความเป็นธรรม โดยให้ผู้เสียหายหรือผู้ต้องหาสามารถร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการได้

สำหรับระเบียบดังกล่าว เป็นการเปิดให้ประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือกรมสอบสวนดีพิเศษ(ดีเอสไอ) สามารถร้องขอความเป็นธรรมมาว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างไร

ทั้งนี้ เมื่อยื่นแล้วส่วนไหนที่มีพยานหรือหลักฐานใดมาพิสูจน์แล้วพนักงานสอบสวน“ไม่รับฟัง” พอมามอบที่พนักงานอัยการแล้ว พนักงานอัยการจะใช้ดุลยพินิจว่าควร“สั่งสอบ”เพิ่มเติมหรือไม่ หากเห็นว่ามีประเด็นจะสั่งให้กลับไปสอบเพิ่มเติม และอัยการเองก็มีอํานาจแจ้งให้พนักงานสอบสวนนําตัวพยานหรือผู้เสียหายมาให้อัยการสอบสวนเองได้

อย่างไรก็ตาม กระบวนการออกระเบียบฯมีมาตั้งแต่ปี 2521 จากนั้นมีการปรับปรุงแก้ไข เป็นระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดําเนินคดีอาญา พ.ศ.2547 ในข้อ48 ที่ระบุเรื่องของร้องความเป็นธรรมไว้ว่า

คดีที่ผู้ต้องหา หรือผู้เสียหายมีร้องขอความเป็นธรรมเข้ามา ในการพิจารณาสํานวนถ้าพนักงานอัยการพิจารณาแล้วสั่งสอบสวนเพิ่มเติมให้ความเป็นธรรมแล้วมีความเห็นสั่งฟ้องให้แจ้งอธิบดีทราบ กรณีอยู่ต่างจังหวัดต้องแจ้งอธิบดีที่เป็นผู้บังคับบัญชาอีกอันดับหนึ่ง ถ้าสั่งไม่ฟ้องบางข้อหาหรือทุกข้อหา อํานาจสั่งต้องไปอยู่ที่อธิบดีเป็นผู้สั่งภายในจังหวัดตัวเอง หรือภายในสํานักงานตัวเอง อัยการไม่มีอํานาจสั่งต้องให้ทางอธิบดีเป็นผู้มีอํานาจสั่งไม่ฟ้อง ไม่ว่าจะเป็นบางข้อหาหรือทุกข้อหาก็ตาม

จากนั้นมีการแก้ระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดําเนินคดีอาญา พ.ศ.2563 โดยรวางกรอบที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่องผู้ที่จะเข้ามายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม ซึ่ง“ผู้ต้องหาหรือผู้เสียหาย”ต้องเป็นผู้ยื่นคำร้องฯ“ด้วยตัวเอง”เท่านั้น และมีการกำหนดประเด็นที่ผู้ต้องหาเคยมาร้องความเป็นธรรมแล้วมาร้องซ้ำอีก หรือเพื่อ“ประวิง”คดี

อัยการมีสิทธิ“สั่งยุติ”ได้ โดยการสั่งยุตินั้นเพื่อ“หยุด”ให้ผู้ต้องหาหรือผู้เสียหาย ยื่นคำร้องในประเด็นเดิมซ้ำๆ หรือพิจารณาในเนื้อหาโดยรวมแล้วมันก็คือเรื่องเดียวกัน อัยการมีสิทธิที่จะยุติไม่รับหนังสือร้องขอความเป็นธรรม แต่ถ้ามีประเด็นใหม่นอกเหนือจากที่เคยยื่นไปแล้วยังสามารถนำมาให้อัยการพิจารณาได้ ซึ่งการจะรับฟังหรือไม่ก็อยู่ที่ดุลพินิจของอัยการ

พร้อมระบุ การปรับแก้ระเบียบทําให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากขึ้น พร้อมขออ้างประโยคหนึ่งที่ระบุไว้ว่า“ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือ ความไม่ยุติธรรม” 

“เมื่อเราเปลี่ยนระเบียบฯ อุดช่องว่าง ไม่ให้ใช้เรื่องนี้มาประวิงคดีไปเรื่อยๆ เพราะคดีมีคู่ความทั้งผู้ต้องหาและผู้เสียหาย หากผู้ต้องหายื่นหนังสือยืดเวลาไปเรื่อยๆ ทำให้ไม่สามารถสั่งฟ้องได้ ผู้เสียหายก็จะไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างที่ควร”

นายนาเคนทร์ ชี้ร่างระเบียบฯเดิม เมื่อใดผู้ต้องหายื่นร้องขอความเป็นธรรม ทุกๆครั้งพนักงานอัยการต้องพิจารณา แม้ว่าจะเป็นประเด็นเดิมก็ตาม เพราะหากไม่พิจารณาอาจถูกกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่มิชอบ แต่พอมีระเบียบใหม่ที่ระบุชัดเจนว่าพนักงานอัยการสามารถใช้ดุลยพินิจ“สั่งยุติ”ได้ การสั่งคดีจะรวดเร็วมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้จะเห็นว่าหนังสือร้องขอความเป็นธรรมที่ยื่นมานั้นไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นแห่งคดี หรือมีคำสั่งยุติไม่รับพิจารณาแล้ว ผู้เสียหายหรือผู้ต้องหายังสามารถนำเสนอพยานหรือหลักฐานไปต่อสู้คดีในชั้นศาลได้

ขอให้มั่นใจว่าระเบียบการยื่นร้องขอความเป็นธรรมในชั้นพนักงานอัยการออกมา เพื่อทำให้กระบวนการยุติธรรมมีสภาพบังคับในการพิจารณามากขึ้น ช่วยให้การพิจารณาสำนวนรวดเร็วขึ้น” นายนาเคนทร์  ทิ้งท้าย.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]