เรื่องนี้ทาง “ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย” ก็ได้ออกมาไขข้อข้องใจว่า หัตถการแบบไหนสามารถบริจาคเลือดได้ หรือแบบไหนที่ต้องงด หรือเว้นระยะเวลาก่อนบริจาค

เริ่มที่การทำ ทรีตเมนต์ ยกกระชับผิว ต่าง ๆ หลังไปรับบริการมาก็สามารถบริจาคเลือดได้เลย ไม่ต้องเว้นระยะเวลา

ส่วนการ รักษาสิว กระ จุดด่างดำ ขี้แมลงวัน ริ้วรอย แผลเป็น เนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง ติ่งเนื้อ หูด ปาน ไฝ รอยสัก และกำจัดขนด้วยเลเซอร์ หากไม่มีการอักเสบหลังเข้ารับบริการ สามารถบริจาคโลหิตได้ แต่ถ้ามีการอักเสบ รอให้แผลหายดีก่อนจึงจะบริจาคโลหิตได้

ขณะที่ การฉีดวิตามิน ฉีดโบท็อกซ์ ฉีดฟิลเลอร์ ฉีดเมโส ฉีดกลูตาไธโอน ปรับรูปหน้าเรียว วีเชฟ กดสิว ฉีดสิว ร้อยไหม หัตถการเหล่านี้ หากทำที่คลินิกทั่วไป ที่ไม่ใช่โรงพยาบาล หลังเข้ารับบริการให้งดบริจาคโลหิต 4 เดือน แต่ถ้าทำที่โรงพยาบาล สามารถบริจาคโลหิตได้

กรณีรับประทานยารักษาสิว (Anti-acne) ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) ที่ใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อในกรณีสิว ได้แก่ เตตราซัยคลิน (tetracycline) คลินดาไมซิน (clindamycin) มิโนไซคลีน (minocycline) ด็อกซีไซคลิน (doxycycline) อีรีโทรมัยซิน (erythromycin) ไลมีไซคลีน (lymecycline) และออกซีเตตราไซคลีน (oxytetracycline) เป็นต้น ในกรณีเป็นสิวที่ไม่มีการอักเสบ แต่มีการใช้ยาทั้งชนิดรับประทานและทาผิวหนัง หรือใช้ชนิดทาผิวหนังเพียงอย่างเดียว หลังใช้สามารถบริจาคโลหิตได้ แต่หากอยู่ระหว่างการใช้ยาเพื่อรักษาภาวะอักเสบของสิว ต้องรอจนกว่าอาการอักเสบหายดีแล้ว อย่างน้อย 2 สัปดาห์ และใช้ยาครบจำนวนตามสั่งของแพทย์ มาแล้วอย่างน้อย 1 สัปดาห์ จึงจะบริจาคโลหิตได้

ส่วนยา Retinoids (กลุ่มอนุพันธ์วิตามิน เอ) ต้องงดบริจาคโลหิตชั่วคราว เนื่องจากยาในกลุ่มนี้ มีผลทำให้เกิดความพิการของทารกในครรภ์ได้ มีเงื่อนไขการหยุดยาก่อนการบริจาค ดังนี้ ยา Isotretinoin (Roaccutane®) ต้องหยุดยาอย่างน้อย 1 เดือน ยา Acitretin (Neotigason®) ต้องหยุดยาอย่างน้อย 2 ปี ยา Etretinate (Tigason®) งดบริจาคโลหิตถาวร รับประทานอาหารเสริม และ สมุนไพร : วิตามินทุกชนิด เวย์โปรตีน แอลคาร์นิทีน คอลลาเจน กลูตาไธโอน เลซิตินอี อาหารเสริมที่มีไบโอติน ฟ้าทะลายโจร โสม ถั่งเช่าสามารถบริจาคโลหิตได้ แต่หากเป็นน้ำมันตับปลา น้ำมันปลา และขมิ้นชัน ต้องงด 3 วัน ก่อนบริจาคโลหิต เพราะมีผลต่อการทำงานของเกล็ดเลือด

รู้อย่างนี้แล้ว คนสวยหล่อ ใจบุญ ไม่ต้องกังวลใจไป ขอเพียงปฏิบัติตามเกณฑ์การรับบริจาคโลหิต แล้วเตรียมร่างกายให้พร้อมทุกครั้งที่บริจาค โลหิตของเราก็จะมีคุณภาพเพียงพอที่จะช่วยต่อลมหายใจให้ผู้ที่เจ็บป่วยได้อย่างมหาศาล

ทั้งนี้ การบริจาคโลหิตยังมีประโยชน์อีกมากมายต่อตัวผู้บริจาคเองด้วย ซึ่งมีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าการบริจาคโลหิตทุก 3 เดือน ช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคหัวใจ และหลอดเลือดสมอง ทั้งยังช่วยเพิ่มไขมันดี ยับยั้งการทำลายหลอดเลือดของไขมันไม่ดี ที่สำคัญยังช่วยลดการสะสมของเหล็กที่ผิวหนัง ซึ่งช่วยทำให้ผิวพรรณกระจ่างใส และชะลอความร่วงโรยของผิวหนัง ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการช่วยเสริมสุขภาพและความงามอีกด้วย “ให้โลหิต ให้ชีวิต ให้ประจำ ทำได้ทุก 3 เดือน”.

อภิวรรณ เสาเวียง