แต่เมื่อไม่นานมานี้ ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ทีมนักวิจัยจากองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จ.ชลบุรี ค้นพบนกกระสาคอขาวออกไข่ในธรรมชาติ จำนวน 4 ฟอง จากนกใน โครงการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ นับแต่วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ หนึ่งในข่าวดีระดับใจฟูส่งสัญญาณการต่อลมหายใจให้กับสัตว์ป่าหายาก ทั้งเป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ ทีมวิจัยและหน่วยงานที่ร่วมกันกู้วิกฤติก่อนสูญพันธุ์

ทั้งนี้ พาตามรอย ทำความรู้จัก “กระสาคอขาว” การกลับมาที่เฝ้ารอ การขยายพันธุ์พากระสาคอขาวกลับบ้าน คืนสู่ธรรมชาติ โดย นายสัตวแพทย์เกษตร สุเตชะ นายสัตวแพทย์ประจำศูนย์วิจัยและนวัตกรรมทางสัตวแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน และคณะผู้ร่วมวิจัยใน โครงการฟื้นฟูพฤติกรรมนกกระสาคอขาว และการทดลองปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ โดยร่วมกับสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จ.ชลบุรี องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ความรู้ว่าย้อนหลังจากวันนี้กลับไปประเทศไทยมีรายงานพบนกกระสาคอขาวในธรรมชาติดั้งเดิมน้อยมาก โดยพบที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี หนึ่งตัว ซึ่งเจ้าตัวนี้ก็ได้จากไปแล้วและอีก 2 ตัว ยังคงอยู่ คาดว่าเป็นเพศเดียวกันอยู่ที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา โดยในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ก็มีข่าวคราวอยู่เพียงเท่านี้

“นกกระสาคอขาวเป็นที่ทราบกันว่าเป็นนกหายากใกล้สูญพันธุ์ เพราะไม่มีรายงานการทำรังวางไข่ มีแต่รายงานการเจอตัวนกไกล ๆ ไม่มีการรายงานการเพิ่มจำนวนหรือใด ๆ ทั้งสิ้น โดยกาลเวลาผ่านไปกระสาคอขาวที่ผืนป่าแก่งกระจานก็แก่และจากไป ขณะที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ยังพอมีรายงานประปราย ยังพบเจอนกคู่นั้น แต่ก็ไม่พบการทำรังวางไข่ คาดว่าน่าจะเป็นเพศเดียวกัน”

องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีโครงการวิจัย มีแนวคิดปล่อยกระสาคอขาวคืนสู่ธรรมชาติ เช่นเดียวกับโครงการนกกระเรียนที่สามารถปล่อยชุดแรกกลับคืนธรรมชาติ หลังจากเพาะพันธุ์ได้ปริมาณพอสมควร นายสัตวแพทย์ประจำศูนย์วิจัยและนวัตกรรมทางสัตวแพทย์ คุณหมอเกษตร อธิบายเพิ่มว่า สองปีก่อนที่ปล่อยนกกระสาคอขาวคืนธรรมชาติ ครั้งนั้นเฟ้นหาพื้นที่ชุ่มนํ้าที่ต่าง ๆ ซึ่งก็ได้เป็นพื้นที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ โดยที่นี่มีความอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งนํ้า
มีอาหารตลอดทั้งปี ทั้งเป็นป่ารอยต่อมรดกโลกเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมจึงเลือกที่นี่ โดยปล่อยยังจุดหน่วยพิทักษ์ป่าละเลิงร้อยรู

“ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ทั้งนี้คุณภาพพ่อแม่พันธุ์ คุณภาพลูกนก การฝึกลูกนกให้กินอาหารตามธรรมชาติ ฯลฯ ต้องใช้เวลา และหลังจากเลือกนก ฝึกนกได้แล้ว ก่อนปล่อยนกคืนกลับธรรมชาติ ทีมวิจัยเราส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูพื้นที่ก่อนก็พบว่า ในบริเวณนั้นมีช้าง กระทิงเข้ามา หากปล่อยนกอาจมีความเสี่ยงจึงทำรั้วไฟฟ้าพลังงานโซลาร์เซลล์ ก็พบว่าช้าง กระทิงไม่มาจึงทำการติดตั้งกรงและจากนั้นเว้นระยะไปอีกนับเดือนเพื่อให้มีความพร้อม ปลอดภัยต่อนกเมื่ออยู่ในธรรมชาติ”

จากนั้นนำนกไปฝึกในพื้นที่ธรรมชาติให้นกกระสาคอขาวปรับตัว ได้หากินตามธรรมชาติ อีกทั้งสร้างกรงลงไปในนํ้าครึ่งหนึ่ง บนบกครึ่งหนึ่งเพื่อให้นกหากินเองได้ซึ่งก็ผ่านมาสองปีสำหรับการปล่อยนกกระสาคอขาวคืนสู่ธรรมชาติ

หลังปล่อยนกไปแล้ว นักวิจัยซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์ได้ติดตามนกทั้งการเดิน และตามจากสัญญาณดาวเทียมที่ติดไว้ด้านหลังนก ตามทั้งสองส่วนซึ่งพบว่า นกส่วนหนึ่งอาศัยหากินอยู่ในป่าในช่วงหกเดือนแรก และอีกส่วนหนึ่งบินออกมาหากินที่ชายขอบป่า เบื้องต้นก็มีการทำรัง แต่ก็ไม่ออกไข่ ทั้งนี้เพราะในธรรมชาติมีงู กา ชะมด ฯลฯ มีสัตว์ผู้ล่าในธรรมชาติเยอะ เมื่อเทียบกับการอยู่ในกรง นกจะค่อย ๆ เรียนรู้ไป

จนกระทั่งปีที่สองของโครงการ จากนกจำนวน 14 ตัวที่ปล่อยครั้งแรก ก็นำนกอีกชุดที่เพาะขยายพันธุ์ได้ และฝึกแล้วนำไปปล่อยเพิ่ม โดยคาดหวังว่านกเหล่านี้เมื่ออยู่เป็นฝูง อย่างน้อยจะช่วยระวังภัยให้กัน ช่วยกันหากิน และเผื่อจะจับคู่เพิ่ม ครั้งนั้นปล่อยเพิ่มอีก 6 ตัว

จากชุดแรกที่มีประสบการณ์ตามธรรมชาติมาแล้วหนึ่งปี ก็เริ่มมีการขยายอาณาเขต เริ่มหากินเองได้ เริ่มมีพฤติกรรมตามธรรมชาติเพิ่มขึ้น รู้ระวังภัย บางส่วนอพยพตัวเองไปอยู่ในพื้นที่นาข้าวรอยต่อกับป่า และก็เริ่มเห็นการทำรัง นำกิ่งไม้ไปสานบนต้นไม้ใกล้ ๆ บ้านชาวบ้านที่อยู่รอยต่อกับป่า โดยเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ ออกเสียงตามสายพูดคุยกับผู้นำชุมชนสร้างความเข้าใจขอให้ช่วยกันดูแลนก ทำงานกับชุมชน และทางจังหวัดร่วมกันดูแล

ทีมวิจัยติดตาม บินโดรนตรวจดูรังนกมีไข่หรือไม่

“พื้นที่ที่ปล่อยนกคืนสู่ธรรมชาติ เป็นพื้นที่รอยต่อของป่าทั้ง อ.โนนดินแดง และอ.ตาพระยา นกจะบินไปบินมาทั้งสระแก้ว และ บุรีรัมย์ หรือแม้อยู่ในป่าเมื่อลมบนแรงพัดนกออกมานอกผืนป่า เจ้าหน้าที่ก็จะตามไปเก็บนกกลับมาสู่ป่า ทำงานร่วมกับชุมชนโดยรอบเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นอีกกำลังร่วมดูแลอนุรักษ์กระสาคอขาว

จนถึงวันที่นักวิจัยสังเกตเห็นนกคู่หนึ่งมาทำรังบริเวณรอยต่อหมู่บ้านกับป่า เจ้าหน้าที่วิจัยจึงบินโดรนสำรวจพบว่าในรังมีไข่นก แต่อย่างไรแล้วต้องติดตามต่อว่าไข่มีเชื้อหรือไม่ นกจะฟักไข่รอดเป็นตัว หรือแม่นกจะเลี้ยงรอดหรือไม่ เพราะจากที่กล่าวศัตรูตามธรรมชาติก็มีอยู่มาก แต่อย่างไรก็ตามถือว่าเป็นหมุดหมายสำคัญ เป็นข่าวดี ทำให้คณะทำงานใจฟู”

นายสัตวแพทย์ประจำศูนย์วิจัยและนวัตกรรมทางสัตวแพทย์ คุณหมอเกษตรเล่าเพิ่มอีกว่า การทำลายเป็นเรื่องง่าย แต่การรักษานกกระสาคอขาวคงอยู่ในธรรมชาติ ดำรงสายพันธุ์อยู่ในพื้นที่ธรรมชาตินั้นใช้เวลานาน นกกระสาคอขาวคู่ที่ออกไข่ ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด น่าจะได้เห็นลูกนกในช่วงปลายเดือนนี้ หรือมีนาคม โดยจะเป็นนกกระสาคอขาวตัวแรกในรอบ 40 ปีเป็นอย่างตํ่า แต่อย่างไรแล้ว นกกระสาที่พบที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนก็ยังคงอยู่

“นกที่เพาะพันธุ์ ไม่ใช่ว่าทุกตัวจะปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ ต้องผ่านบททดสอบจนมั่นใจ จากการทำงาน พันธมิตรที่ทำงานร่วมกันทั้ง องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งมีคณะวนศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ และคณะสัตวแพทย์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ โนนดินแดงจังหวัดบุรีรัมย์ รวมทั้งได้รับความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัดและส่วนราชการในจังหวัดที่เกี่ยวข้อง ทำงานร่วมกันเพื่อฟื้นฟูประชากร ปล่อยนกกระสาคอขาวคืนสู่ธรรมชาติ และการอนุรักษ์ที่ผ่านมายังขยายผลสู่ด้านการท่องเที่ยว โดยหากมาบุรีรัมย์สามารถไปเที่ยวชมนกกระเรียน และเมื่อกลับกรุงเทพฯหากใช้เส้นทางสระแก้ว ผ่านอำเภอโนนดินแดง สามารถแวะชมความงามนกกระสาคอขาว ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่

นกกระสาคอขาวลักษณะของเขามีความชัดเจน ตัวดำคอขาว เมื่อโดนแสงแดด สีดำที่ตัวจะออกเป็นสีเหลืองม่วง ปากเป็นสีแดงเข้ม กระหม่อมดำ มีความสวยงาม โดยเฉพาะเมื่อเวลาอยู่ในป่า นกเหล่านี้เวลาออกหากินตัวของเขาจะสะท้อนกับแสงแดด เป็นภาพที่สวยงาม น่าประทับใจ อีกทั้งหากมีนกหลาย ๆ ตัวออกมาหากินร่วมกันยิ่งน่ามอง”

ส่วน ความสำคัญของนกกระสาคอขาวในธรรมชาติ อย่างแรก ช่วยแพร่กระจายพันธุ์ปลา โดยต่างประเทศมีรายงานศึกษานกกินปลาช่วยแพร่ขยายพันธุ์ปลา อีกกรณี ช่วยกำจัดซากสัตว์ต่าง ๆ ในธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นตัวเล็กตัวน้อย ช่วยทำความสะอาด กินแมลงศัตรูพืชในป่า กำจัดหนอนไม่ให้มาทำลายพืชนํ้ามากเกินไป ในแหล่งนํ้าในป่า ฯลฯ เป็นหน้าที่ตามธรรมชาติ

ขณะเดียวกันนกก็เป็นอาหารของสัตว์ชนิดอื่น ๆ ลูกนกกระสาคอขาวเป็นอาหารให้กับงูเหลือม งูหลาม อีกาก็กินไข่นก ฯลฯ อีกทั้ง นกกระสาคอขาวยังเป็นหนึ่งในดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของธรรมชาติ ทั้งนี้ นกทำรังบนต้นไม้ หากเป็นต้นไม้เล็กอาจทำรังไม่ได้ เพราะนํ้าหนักรังมีค่อนข้างมาก ต้นไม้เล็กนกอยู่ไม่ได้ก็ต้องเป็นไม้ใหญ่ ต้นไม้ในป่าหรือต้นมะขามใหญ่ที่ปลูกไว้นานแล้ว

อีกทั้งนกยังช่วยแพร่กระจายพันธุ์กบ พันธุ์เขียดผ่านการกิน แต่อย่างไรแล้ว นกชนิดนี้จะไม่ใช่นกที่ขยายพันธุ์ได้จำนวนมาก แม้จะออกไข่มาก แต่ในกลุ่มนกขนาดใหญ่จะออกไข่มาเผื่อ และจากสิ่งที่ทำให้ใจฟูนั้นยังคงต้องติดตามกันต่อไป เป็นส่วนหนึ่งบอกเล่าการกลับมา การพากระสาคอขาวกลับบ้าน คืนสู่ผืนป่าธรรมชาติ.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ

ภาพโดย : เกษตร สุเตชะ