ทั้งนี้ เมื่อเกิดกรณีแบบนี้ผู้คนทั่วไปที่รับรู้ก็มักจะให้ความสนใจตามดูบทสรุป อย่างไรก็ตาม หากโฟกัสที่เรื่อง “พินัยกรรม” เรื่องนี้อาจมิใช่เรื่องเฉพาะของคนระดับเศรษฐีเท่านั้น…

คนทั่ว ๆ ไปวันหนึ่งก็อาจเกี่ยวข้องได้

จึงน่าจะ “รู้ไว้ใช่ว่า” กรณี “พินัยกรรม”

เกี่ยวกับ “หลักวิธีการทำพินัยกรรม??”

กับเรื่อง “การทำพินัยกรรม” นั้น ก็มีคำแนะนำน่าสนใจที่ทาง สำนักงานอัยการสูงสุด ได้ให้แนวทางไว้ โดยเรื่องนี้ถือเป็น “การวางแผนไว้ล่วงหน้า” เมื่อเวลานั้นมาถึง ซึ่งเกี่ยวกับ “มรดก” นี่คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่า…เมื่อเจ้าของมรดกเสียชีวิต ทรัพย์มรดกทั้งหมดก็จะตกทอดสู่ลูก แต่ในความเป็นจริงอาจไม่ใช่เสมอไป โดย “กฎหมายได้มีการจัดลำดับการแบ่งมรดก” เอาไว้ อีกทั้งยังมีเรื่อง “ทรัพย์สินส่วนตัว” กับ “สินสมรส” เข้ามาเกี่ยวด้วย ซึ่ง ถ้าไม่มีการเตรียมการวางแผนมรดกไว้ ทรัพย์สินที่มีอยู่จะถูกแบ่งให้ทายาทตามลำดับกฎหมาย ที่อาจไม่ตรงความต้องการของเจ้าของทรัพย์สิน ก็ได้…

ดังนั้น “ต้องทำพินัยกรรมระบุไว้ให้ชัด”

ในทางกฎหมาย มีการแบ่งลำดับความสำคัญของทายาทเอาไว้เป็น 2 ลำดับ คือ… “ทายาทโดยพินัยกรรม” กรณีที่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ซึ่งเนื้อหา ลำดับของผู้รับมรดกในพินัยกรรม จะถูกนำมาพิจารณาก่อน กับ “ทายาทโดยธรรม” กรณีที่ไม่มีทายาทโดยพินัยกรรมหรือไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ก็จะใช้หลักทายาทโดยธรรม ที่แบ่งเป็น 6 ลำดับ คือ… 1.ผู้สืบสันดาน ทั้งที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ชอบด้วยกฎหมาย บุตรบุญธรรม, 2.บิดา-มารดา โดยในส่วนของบิดานั้นจะต้องชอบด้วยกฎหมาย, 3.พี่น้องร่วมบิดาและมารดา, 4.พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน, 5.ปู่ ย่า ตา ยาย และสุดท้ายคือ 6.ลุง ป้า น้า อา

“ขั้นตอนการวางแผนมรดก” ข้อมูลโดยแหล่งดังกล่าวได้ให้แนวทางไว้ดังนี้… 1.รวบรวมรายการทรัพย์สินที่มีทั้งหมด หรือ “ทะเบียนทรัพย์สิน” มาให้ครบ ซึ่งรวมถึงทรัพย์สินที่ไม่ได้มีทะเบียนเป็นหลักฐาน, 2.ดูทรัพย์สินแต่ละชนิดว่ามีภาระติดพันหรือไม่ เพื่อให้การจัดการมรดกเรียบร้อย ซึ่ง ส่วนใหญ่เรื่องที่คนมักจะลืมคือสินสมรส และ 3.เริ่มทำพินัยกรรม เมื่อรวบรวมทรัพย์สินและแบ่งสินสมรสเรียบร้อยแล้ว โดยระบุว่าต้องการส่งมอบให้แก่ใคร เท่าไหร่ อย่างไรบ้าง

ส่วน “ขั้นตอนการทำพินัยกรรม” มีคำแนะนำไว้ดังต่อไปนี้คือควรทำโดยระบุให้ชัดเจนถึงสิ่งที่มีและต้องการจะส่งต่อ ไม่ใช่ระบุเพียงจะยกอะไรให้ใคร ควรระบุให้ชัดทั้งทรัพย์สิน หรือภาระหนี้ต่าง ๆ ว่าจะจัดการอย่างไร ซึ่งสิ่งที่ควรคำนึงถึงคือ ขั้นตอนใดที่ไม่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรม ศาลจะเป็นผู้แต่งตั้ง ซึ่งจะทำให้ต้องใช้เวลานานขึ้น และอีกกรณีคือ ช่วงเวลาที่เจ้าของพินัยกรรมยังไม่เสียชีวิต แต่เป็นช่วงที่ร่างกายใช้การอะไรไม่ได้ หรืออยู่ในสภาวะไร้ความสามารถ ถ้าช่วงเวลาเช่นนี้เกิดขึ้น จะให้จัดการทรัพย์สินอย่างไรก็ต้องระบุไว้ นอกจากนั้น พินัยกรรมควรระบุโดยให้รายละเอียดให้ครบรอบด้าน

…นี่เป็น “คำแนะนำการทำพินัยกรรม”

สำหรับ “รูปแบบพินัยกรรม” นั้น ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แบ่งไว้เป็น 6 แบบหลัก ๆ ให้เลือกใช้ ได้แก่… 1.แบบเขียนเองทั้งฉบับ เขียนด้วยลายมือตนเองทั้งฉบับ และลงวันเดือนปีที่ทำพินัยกรรมไว้ ที่สำคัญต้องลงลายมือชื่อผู้ทำด้วย ซึ่งแบบนี้จะมีพยานรับรู้การทำพินัยกรรมด้วยหรือไม่มีก็ได้, 2.แบบธรรมดา เป็นพินัยกรรมที่พิมพ์ขึ้นมา โดยผู้ทำต้องลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานที่ไม่มีส่วนได้เสียในกองมรดกอย่างน้อย 2 คน, 3.แบบฝ่ายเมือง เป็นการทำพินัยกรรมแบบให้เจ้าหน้าที่รัฐช่วยทำ โดยผู้ทำต้องแจ้งความประสงค์และให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานที่เขตหรืออำเภอ พร้อมพยานอย่างน้อย 2 คน

“พินัยกรรม” แบบถัดมา…4.แบบลับ ที่อาจเขียนด้วยลายมือทั้งฉบับ หรือพิมพ์ โดยต้องปิดผนึกนำไปฝากเจ้าหน้าที่รัฐที่อำเภอหรือเขต, 5.แบบทำด้วยวาจา มักใช้ในกรณีที่ผู้ต้องการทำพินัยกรรมไม่อยู่ในสภาวะที่ขยับร่างกายได้ หรือป่วยหนัก ซึ่งแบบนี้ทำไม่ยาก แต่ถ้าทรัพย์สินมีความซับซ้อน ก็อาจมีเงื่อนไข เช่น รอให้อายุครบค่อยรับ หรือทรัพย์สินที่มอบให้ห้ามขาย

และอีกแบบ… 6.แบบทำตามกฎหมายต่างประเทศ กรณีคนไทยอยู่ในต่างประเทศต้องการทำพินัยกรรม มีสิทธิจะทำแบบกฎหมายไทยก็ได้ หรือจะทำพินัยกรรมตามแบบกฎหมายประเทศที่ตนอยู่ก็ได้ เพียงแต่ต้องมีเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานที่มีอำนาจตามกฎหมายของประเทศนั้น ๆ เป็นผู้รับบันทึกข้อแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน …นี่คือ “6 รูปแบบพินัยกรรม”

ทั้งนี้ ในแหล่งข้อมูลเดิมชี้ “ข้อควรระวัง” เพื่อไม่ให้ “พินัยกรรมเป็นโมฆะ” เอาไว้ด้วยว่า… ต้องเป็นนิติกรรมที่ทำตามแบบที่กำหนด, ผู้ทำพินัยกรรมต้องมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป, ผู้รับ หรือคู่สมรสผู้รับพินัยกรรม ไม่สามารถเป็นพยานการทำพินัยกรรมได้, ผู้เป็นพยานต้องไม่เป็นผู้เยาว์-ผู้หย่อนความสามารถ ต้องไม่มีส่วนได้เสียในมรดก, ควรตั้งผู้จัดการมรดกลงในพินัยกรรมเอาไว้, ระบุถึงสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ไว้ในพินัยกรรม, ทรัพย์สินในพินัยกรรมต้องเป็นทรัพย์สินหรือสิทธิของผู้ทำพินัยกรรมเท่านั้น, เงินประกันชีวิต เงินบำเหน็จ เงินบำนาญ เงินฌาปนกิจสงเคราะห์ ไม่สามารถเป็นมรดกในพินัยกรรมได้

“ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็นำมาสะท้อนไว้…

กับ “คำแนะนำในการทำพินัยกรรม”

ที่… “คนข้างหลังเคลียร์คัตชัดเจน!!”.